รู้ทัน"หวัดใหญ่-หวัดนก" ไม่วิตกจนเกินเหตุ
 


รู้ทัน"หวัดใหญ่-หวัดนก" ไม่วิตกจนเกินเหตุ


 รู้ทัน

โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์ [email protected]



หลังจากข่าวการเสียชีวิตของพลทหารค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่

เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้เกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคม นั่นคือความสับสนในไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก และความตื่นกลัวว่าจะกลับมาระบาด ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้อย่างง่ายดาย

นั่นเพราะหลังเกิดกรณีดังกล่าว ประเด็นที่ทำให้คนเข้าใจผิด สลับกันระหว่างไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก คือ ความไม่เข้าใจถึงสายพันธุ์ เนื่องจากโรคทั้งสองชนิดมีสายพันธุ์เอช (H) จนอาจทำให้เกิดความสับสนได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทราบถึงแนวทางป้องกัน และไม่หวั่นวิตกจนเกินเหตุ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า สำหรับโรคไข้หวัดนกที่เกิดจากสัตว์ปีก ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่เฝ้าระวังของคนทั่วโลก คือ สายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 ซึ่งพบในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน เนื่องจากผู้ป่วยเดินทางกลับจากจีนแผ่นดินใหญ่นั่นเอง โดยตัวเลขการเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ เฉพาะในจีนเพียงเดือนมกราคม พบแล้วราว 22 คน ยังมีสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ซึ่งสายพันธุ์นี้ ณ ปัจจุบันพบได้ทั้งในจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ส่วนประเทศไทยเคยพบสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 แต่เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2549 ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนก และในปี 2550 ไม่พบสัตว์ปีกติดเชื้ออีกจนกระทั่งปัจจุบัน

ดังนั้น ณ ขณะนี้ในประเทศไทย จึงยังไม่พบโรคไข้หวัดนกกลับมาระบาดอีก และในกรณีของทหารที่เสียชีวิตใน จ.เชียงใหม่ พบว่าป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เคยเกิดมาแล้ว และไม่ได้มีการกลายพันธุ์รุนแรง เหมือนที่หลายคนเข้าใจ ที่สำคัญไข้หวัดนกก็ไม่ได้ติดจากคนสู่คนทุกสายพันธุ์ โดยมีรายงานว่า สายพันธุ์ที่สามารถติดมาสู่คนได้ คือ สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 และ สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 นอกนั้นเป็นสายพันธุ์ที่พบในสัตว์ปีกยังไม่มีรายงานมาสู่คน อาทิ ไวรัสชนิด เอช 5 เอ็น 2, เอช 5 เอ็น 3, เอช 5 เอ็น 9, เอช 7 เอ็น 2, เอช 7 เอ็น 3 และเอช 7 เอ็น 7 ส่วนสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 ที่พบการติดเชื้อในจีน แม้จะพบติดเชื้อในคนได้ แต่ไม่มาก จึงยังไม่น่ากังวล

"ไข้หวัดนก ณ ขณะนี้ ขอยืนยันว่ายังไม่พบในประเทศไทย หลายคนอาจกังวลว่าหากไปประเทศจีน หรือประเทศที่พบการระบาดจะติดเชื้อหรือไม่ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกยังไม่มีประกาศสั่งห้าม แต่ให้ระมัดระวัง โดยหากไปประเทศที่พบการระบาดควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน หรือสัมผัสสัตว์ปีก หากรับประทานต้องมั่นใจว่าปรุงสุกจริง แต่ที่น่ากังวลในประเทศไทย คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพบเป็นประจำทุกปี เรียกว่าเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งไข้หวัดใหญ่นั้นมีหลายสายพันธุ์เช่นกัน แต่ที่หลักๆ คือ เอช 1 เอ็น 1 หรือหวัดใหญ่ 2009 สายพันธุ์เอช 3 เอ็น 2 และสายพันธุ์บี (B) โดยขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ หรือการกลายพันธุ์แต่อย่างใด" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2557 พบรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 1,835 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนในปี 2556 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เฉลี่ย 45,000 ราย ซึ่งยังไม่ถือว่าระบาดในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 35-44 ปี รองลงมา คือ 25-34 ปี และ 10-14 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยตายต่อประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา, อุตรดิตถ์, ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร และ เชียงราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลําดับ และจากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในช่วงวันที่ 19-25 มกราคม 2557 ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มอาการปอดบวม จำนวน 70 ราย พบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จำนวน 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 โดยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 และสายพันธุ์เอช 3 เอ็น 2 ในอัตราเท่ากัน คือ ร้อยละ 36 และพบไข้หวัดใหญ่ชนิดบี ร้อยละ 29

นพ.โอภาสบอกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อได้ง่าย ภายในครอบครัวที่ทำงาน โรงเรียน โดยเชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แพร่จากผู้ป่วยเมื่อไอ จาม และปนเปื้อนอยู่ที่ภาชนะ ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได ราวรถโดยสาร และติดต่อเข้าสู่ร่างกายโดยมือที่เปื้อนเชื้อ เมื่อแคะจมูก ขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก เป็นต้น ดังนั้น ก่อนรับประทานอาหารควรล้างมือทำความสะอาด รวมทั้งหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพก็เป็นสิ่งจำเป็น ทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ และการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ

อีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ คือ วัคซีน แต่สามารถป้องกันโรคได้ประมาณร้อยละ 70-80 โดยในปี 2557 กรมควบคุมโรคมีนโยบายกระจายวัคซีน จำนวน 3.4 ล้านโดส โดยกระจายให้กลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปี กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี นอกนั้นยังมีกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องใกล้ชิดกับสัตว์ปีกจะได้รับวัคซีนด้วย

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ในปี 2557 มีนโยบายในการป้องกันโรคด้วยการรื้อฟื้นการสวมหน้ากากอนามัยอีกครั้ง หลังจากเคยเป็นกระแสมาครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งเกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 โดยอยู่ระหว่างหารือในการจัดแคมเปญแฟชั่นหน้ากากอนามัย โดยอาจจัดทำเป็นการประกวดหน้ากากอนามัยในงานเฟสติวัล ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันและการกระจายโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ โดยขณะนี้หารือว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร นอกจากนี้ จะเข้าไปปลูกฝังจิตสำนึกป้องกันไข้หวัดในเด็กเล็ก โรงเรียนประถมรวมไปถึงระดับอนุบาล

"เราอาจจะขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ ว่า หากพบผู้ป่วยไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้แพทย์แจกหน้ากากอนามัยแก่ผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกระจายของโรคด้วย รวมไปถึงรถประจำทาง รถไฟ และเครื่องบิน โดยต้องมีหน้ากากอนามัยแจกให้กับผู้โดยสารที่ป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ด้วย ทั้งหมดหากทำได้ เชื่อว่าจะลดการแพร่กระจายเชื้อได้" นพ.โสภณกล่าว

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากรู้จักดูแลตัวเอง ตื่นตัวได้ แต่ไม่ตื่นตระหนก ก็ป้องกันโรคได้ไม่ยาก

 

 



หน้า 7 มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.