มจพ.ลุย วิทยาลัยนานาชาติ ต้อนรับ ประชาคมอาเซียน
 


มจพ.ลุย วิทยาลัยนานาชาติ ต้อนรับ ประชาคมอาเซียน


มจพ.ลุย วิทยาลัยนานาชาติ ต้อนรับ ประชาคมอาเซียน

การก้าวเข้าสู่กลุ่มประชาคมอาเซียน ปี 2558 แน่นอน ประเทศไทยต้องทำการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง เพื่อให้สามารถทัดเทียมกับเพื่อนสมาชิก และหนึ่งในองค์กรที่สำคัญ ที่เป็นสถาบันผู้ผลิตบุคลากร เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ นั่นคือ กลุ่มของสถานศึกษา และสถาบันศึกษา ที่ต้องปรับทั้งหลักสูตร การเรียนการสอน และวันเวลาในการเรียน เพื่อที่จะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอีก 9 ประเทศ ซึ่งในระดับอุดมศึกษาก็มีหลายมหาวิทยาลัยที่มีการปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดแล้ว ส่วนสถาบันที่เหลือก็จะถูกปรับเปลี่ยนในปีนี้

"ไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสคุยกับ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีชื่อดัง ที่มีดีกรีเป็นถึงผู้ผลิตหุ่นยนต์กู้ภัย ที่ได้รับรางวัลระดับโลกมาแล้วหลายรางวัล ซึ่งจะมีนโยบายเตรียมพร้อมรับประชาคมอาเซียนอย่างไรนั้น ขอให้ท่านอธิการบดี กล่าวว่า

"ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมตัวมา 4-5 ปีแล้ว ด้วยการเปิดหลักสูตร 2 ภาษา ที่จะให้นักศึกษาเรียนทั้งภาษาไทย และหลักสูตรภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ในอนาคตก็จะมีหลักสูตรภาษาที่ 3 อีกด้วย คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมัน หรือฝรั่งเศส เพื่อเป็นการปูทางให้นักศึกษามีพื้นฐานที่ดี และสามารถออกไปทำงานได้ทั่วโลก"

ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวว่า อีกหนึ่งในความพร้อมของเรา คือ ในปีนี้ มจพ. จะเปิดวิทยาลัยนานาชาติในระดับปริญญาตรี สาขา international trade and besiness logistics การค้า และการขนส่งระหว่างประเทศ ขณะนี้ทางสภาได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มประชาสัมพันธ์ออกมาในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นี้ และจะเริ่มเปิดภาคการศึกษาในเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนให้ตรงกับประเทศในอาเซียน นักศึกษาที่ประสงค์จะเข้าเรียนในวิทยาลัยก็จะต้องสอบเข้ามาตามกติกา ซึ่งเราเปิดรับจากทุกประเทศ ทั้งในเอเชีย และยุโรป

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักศึกษาไทย ทางมหาวิทยาลัยก็จะเปิดหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อปรับพื้นฐานก่อนเริ่มเรียนจริง นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาจากประเทศในอาเซียนเข้ามาเรียน เช่น ลาว เวียดนาม ทั้งนี้ จะมีทั้งทุนเต็มจำนวน และทุนครึ่งจำนวน

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ไทย - เยอรมัน (TGGS) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ยังร่วมกันเปิดวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน "วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ มีสาขาทั้งปริญญาโท และปริญญาเอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ จะสอนโดยอาจารย์ของ มจพ. และมาจากเยอรมนี เปิดมาแล้ว 7 ปี ซึ่งสามารถผลิตวิศวกรที่สามารถพูด และใช้ภาษาอังกฤษได้ดี นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะมาจากประเทศในอาเซียน และมีทั้งเอเชีย และยุโรปด้วย เช่น ประเทศลาว เขมร เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เนปาล และภูฏาน เยอรมนี และฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ยังมีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนด้วย ทางมหาวิทยาลัยตอนนี้ส่งนักศึกษาไป 4 คน ฝึกด้านอุตสาหกรรมโรงแรมและท่องเที่ยว ที่โรงแรม JW ซึ่งก็ได้รับทุน ที่พัก และค่าครองชีพ" อธิการบดี มจพ. กล่าว

ด้วยคุณภาพของหลักสูตรการศึกษา ทำให้ประสบผลสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยพิสูจน์ได้จากผลงานของทั้งนักศึกษา และอาจารย์ ที่ต่างก็มีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากมาย ที่ได้คว้ารางวัลมาแล้วหลายเวที ทั้งในเอเชีย และระดับโลก

ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ด้วยความภาคภูมิใจว่า ผลงานวิจัยดีเด่นที่เราภูมิใจมากๆ คือ การสร้างหุ่นยนต์เพื่อเก็บกู้ภัยผ่าทุ่นระเบิด และค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่ไฟไหม้ เขตดินถล่ม เป็นผลงานการประดิษฐ์วิจัยที่มหาวิทยาลัยภาคภูมิใจมาก เพราะเราไปชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลกถึง 6 สมัย หกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ตุรกี เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ นั่นถือเป็นผลงานวิจัยที่เราค่อนข้างสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ และในด้านสิ่งแวดล้อม เราจะแสดงถึงผลงานวิจัย และพัฒนาการกำจัดมลพิษทางอากาศ และน้ำเสียที่ออกมาจากโรงงาน ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบเสียสุขภาพ เป็นสิ่งที่เราวิจัย และพัฒนาแก้ไขปัญหานี้ รวมทั้งการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ที่ร่วมกับกองทัพอากาศ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และร่วมกันของไทย - ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีเตาเผาขยะปลอดเชื้อ ซึ่งช่วยเหลือโรงพยาบาลที่อาจมีขยะ ที่อาจเป็นพาหะให้เชื้อโรคต่างๆ แพร่กระจายต่อประชากรส่วนต่างๆ ได้ สามารถนำขยะไปกำจัดด้วยเตาเผาปลอดเชื้อได้

"จุดแข็งของเรา คือ เรารับนักเรียนที่จบมัธยมชั้นปีที่ 3 และมีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป สายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เข้ามาเรียนในโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย - เยอรมัน วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม แล้วก็จะสอบต่อเข้าเรียนต่อวิศวะในมหาวิทยาลัย นักศึกษาจะได้รับการฝึกฝีมือภาคบังคับ 6 เดือน ซึ่งนักศึกษาที่จบจาก มจพ. จะมีวินัยมากขึ้น รวมทั้งสามารถอ่าน และเขียนแบบได้ ทำงานได้จริง ทั้งการผลิตและซ่อม

ดังนั้น ศิษย์เก่าที่นี่หลายคนหางานทำได้ และมีชีวิตการทำงานที่ดี แม้ว่าจะจบออกไปด้วยเกรดเฉลี่ยเพียง 2.00 ก็ตาม ทั้งนี้ เพราะเยอรมันได้สอนให้มีวินัย ตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์" อธิการบดี มจพ. กล่าว

เตรียมพร้อมกันขนาดนี้ ไม่แน่ว่าในอนาคต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเจ้าพระนครเหนือ อาจจะกลายเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ที่สามารถรองรับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ไม่เพียงในเอเชียเท่านั้น คุณภาพหลักสูตรการศึกษาอาจเป็นที่ยอมรับไปถึงนักศึกษาชาวยุโรป อเมริกาอีกด้วย.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.