เฟซบุ๊กอายุครบ 10 ขวบ ซัคเคอร์เบิร์กเผยแผนอนาคต
 


เฟซบุ๊กอายุครบ 10 ขวบ ซัคเคอร์เบิร์กเผยแผนอนาคต


เฟซบุ๊กอายุครบ 10 ขวบ ซัคเคอร์เบิร์กเผยแผนอนาคต

เฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมของโลก จะมีอายุครบ 10 ปีในสัปดาห์หน้า หลังจากก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ปี 2004 จากความร่วมมือของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และเพื่อนในวิทยาลัยของเขาอีก 3 คน เพื่อใช้ในวงจำกัดเฉพาะในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนขยายสู่ผู้ใช้ทั่วโลกแบบในปัจจุบันเมื่อ 11 ก.ย. 2006

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีอายุครบ 30ปี ในเดือน พ.ค.นี้ ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Bloomberg Businessweek เกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของเฟซบุ๊ก โดยเขาแบ่งแผ่นการออกเป็น 3 ช่วงคือ แผนการ 3 ปี, 5 ปี และ 10 ปี

แผนการ 3 ปีของคือ การทำให้บริษัท เฟซบุ๊ก เป็น Mobile First หรือบริษัทที่ออกแบบเว็บไซต์สำหรับให้บริการบนอุปกรณ์มือถือเป็นอันดับแรก โดยเขาประกาศแผนนี้ในปี 2012 ซึ่งหลังจากนั้นเขาได้สั่งยุติการประชุมที่พนักงานจะพูดถึงคอมพิวเตอร์มากกว่าสมาร์ทโฟนทั้งหมด และเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารบริษัทแบบ Mobile First ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และที่เหลืออยู่ในตอนนี้เป็นเรื่องการเสริมความแข็งแกร่งของ เฟซบุ๊ก บนมือถือทั้งหมด

ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า บริษัทหลายแห่งมักจะสูญเสียเส้นทางของตัวเอง เมื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่บริษัทของเขาไม่เป็นเช่นนั้น "เราอยู่จุดที่เราสามารถก้าวถอยหลัง และคิดเกี่ยวกับสิ่งใหญ่ๆ ชิ้นต่อไปที่เราต้องการจะทำ"

 

 

เฟซบุ๊ก ยังวางแผนเปิดตัวแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนภายใต้โครงการ Facebook Creative Labs ซึ่งบริษัทได้รวมวิศวกรมาระดมความคิดกันเมื่อเดือน ธ.ค. ปีก่อน โดยซัคเคอร์เบิร์ก ระบุว่า ในการระดมความคิดครั้งนั้น พวกเขาได้ความคิดใหม่ๆ ราว 40 ไอเดีย แต่เขาไปเปิดเผยว่ามีอะไรบ้าง บอกแต่เพียงว่า ราว 6 ไอเดีย จะได้รับการเปิดตัวเป็นแอพพลิเคชันภายในปีนี้ และหนึ่งในนั้นอาจจะเป็น Facebook Group ซึ่งทำให้สมาชิกกลุ่มหนึ่งๆ สามารถสื่อสารกันอย่างเป็นส่วนตัวได้

นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกอย่าง คือ ซัคเคอร์เบิร์กยอมผ่อนคลายความเชื่อดั้งเดิมของตัวเอง โดยบอกว่า แอพพลิเคชันใหม่ที่จะเปิดตัวหลังจากนี้ (ยกเว้นแอพ Paper) อาจเหมือนอินสตราแกรม คือ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องลงชื่อเข้าใช้ด้วยบัญชีเฟซบุ๊ก และอาจไม่ต้องระบุตัวตนที่แท้จริงอีกด้วย

"ผมไม่รู้ว่าสมดุลถูกเหวี่ยงไปมากเกินไปหรือเปล่า แต่ผมคิดจริงๆ ว่า เราอยู่ในจุดที่ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นในเรื่องตัวตนที่แท้จริงอีกแล้ว หากเราถูกกดดันด้วยตัวตนที่แท้จริงตลอดเวลา ผมคิดว่ามันเป็นภาระมากเกินไป" ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวและเสริมว่า เรื่องนี้ทำให้สมดุลเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากผ่านไป 10 ปี

สำหรับแผน 5 ปีของซัคเคอร์เบิร์ก เขาต้องการให้เฟซบุ๊กมีความคิดริเริ่มมากขึ้น และแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่ผู้ใช้บางคนก็ไม่รู้ว่ามีอยู่ เขากล่าวว่า ปัจจุบันผู้ใช้งานเฟซบุ๊กราว 5-10% โพสต์ถามคำถามจิปาถะกับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อร้านอาหาร สถานที่ทำฟัน ฯลฯ ซึ่งบริษัทควรเก็บข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อให้คำตอบแก่ผู้ใช้ ผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า Graph Search ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ที่อยู่ของผู้ใช้ ในการเสิร์จหาคำตอบเกี่ยวกับสถานที่ที่พวกเขาอยู่ จากอัพเดตและโพสต์ของสมาชิกเฟซบุ๊กคนอื่น เครื่องมือนี้เปิดตัวเมื่อปีก่อน เพื่อแข่งขันกับกูเกิล และผลตอบรับที่ได้ก็น่าผิดหวัง

 

 

ในส่วนของแผน 10 ปี ซัคเคอร์เบิร์กพูดถึงเรื่องนี้ ด้วยความกระตือรือร้น ว่า ตอนนี้เขามองไม่เห็นโครงสร้างพื้นฐานของการให้บริการทางคอมพิวเตอร์ของเฟซบุ๊ก ไม่เหมือน Amezon.com ที่เริ่มต้นระบบคลาวด์ไปแล้ว หรือระบบปฏิบัติการและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้เหมือนที่ของกูเกิลและแอปเปิลมี ภารกิจของเขา คือการขยายขอบเขตการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนหลายพันล้านคน ที่ยังไม่เคยเข้าเว็บไซต์เฟซบุ๊ก

ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Internet.org ร่วมกับ 6 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ รวมถึง Samsung Electronics, Qualcomm และ Ericsson เพื่อให้บริการของพวกเขามีความยุ่งยากน้อยลง เพื่อให้สามารถกระจายสัญญาณไวเลสพื้นฐาน และเข้าถึงโทรศัพท์ราคาถูกในเชิงเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยการทดสอบหลายครั้งที่ผ่านมาดูดีมีความหวัง

ซัคเคอร์เบิร์ก เล็งผลเลิศว่า ผู้ใช้งานในประเทศด้อยพัฒนา จะสมัครเป็นสมาชิกบริการโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เพื่อโอกาสในการใช้งานเฟซบุ๊ก และจะทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ในการพัฒนาเครือข่ายไร้สายของตัวเอง เพื่อรองรับบริการที่ใช้ช่วงความถี่สูงขึ้น อย่างเช่น การศึกษาและธนาคารออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของเฟซบุ๊กเคยถาม ซัคเคอร์เบิร์ก ว่า แผนการของเขาสามารถสร้างรายได้ให้เฟซบุ๊กได้หรือไม่ ซัคเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่า ส่วนใหญ่เป็นสมมติฐาน "หากเราสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ จากนั้นพวกเขาจะกลายมาเป็นตลาด ที่เราสามารถเข้าไปทำธุรกิจด้วยได้"

ทั้งนี้ ซัคเคอร์เบิร์ก ยังเปิดเผยเป้าหมายส่วนตัวประจำปีนี้ของเขาด้วยว่า เขาตั้งใจจะเขียนข้อความขอบคุณดีๆ ผ่านอีเมล์หรือเขียนด้วยมืออย่างน้อยวันละ 1 ข้อความ

 

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.