เรื่องเล่าจากก้อนเมฆ : ห้องเรียนอาเซียน
 


เรื่องเล่าจากก้อนเมฆ : ห้องเรียนอาเซียน


เรื่องเล่าจากก้อนเมฆ : ห้องเรียนอาเซียน

ในปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการ ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ในโรงเรียนเกือบทุกแห่ง แม้แต่ในโรงเรียนอนุบาลก็จะได้เห็นน้องหนูตัวจิ๋วๆ มาใส่ชุดประจำชาติ หรือไม่ก็มีนิทรรศการจัดบอร์ดไว้ให้เด็กๆ เริ่มคุ้นเคยกับเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา เช่น มีการสอนให้รู้จักธงชาติของทั้ง 10 ประเทศ มีการฝึกพูดคำทักทายหลายภาษา มีการแนะนำให้รู้จักเมืองหลวง ชื่อผู้นำ สกุลเงิน ดอกไม้ประจำชาติ อาหารประจำชาติ และอีกสารพัดสิ่งประจำชาติ 


โรงเรียนเก่าของผมก็เช่นเดียวกันครับ นอกจากจะมีการเรียนการสอนเรื่องอาเซียนโดยอาจารย์แล้ว บรรดารุ่นพี่รุ่นน้องศิษย์เก่าก็ยังมาช่วยกันจัดนิทรรศการด้านวิชาการให้กับน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่ เพื่อกระตุ้นให้ เริ่มพัฒนาตัวเองและเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกด้วย

งานนี้น้องๆ ก็ได้ความรู้ และพี่ๆ เองก็สนุกกับการแต่งตัวในชุดประจำชาติและใส่เครื่องแบบอาชีพต่างๆ แถมยังเตรียมโมเดลและอุปกรณ์ของจริงมาแสดงให้ดูกันเต็มที่


โดยเราแบ่งหัวข้อใหญ่ๆ ที่จะบรรยาย เช่น สินค้านำเข้าและส่งออกของอาเซียน อุตสาหกรรมในอาเซียน พลังงานในอาเซียน สถานที่ท่องเที่ยวในอาเซียน การขนส่งระหว่างประเทศในอาเซียน

พอลองมาอ่านข้อมูลการจัดอันดับและสถิติต่างๆ ทำเอาเราผิดคาดไปเยอะเหมือนกันนะครับ


อย่างเช่นส่วนที่ผมรับผิดชอบในเรื่องการบรรยายด้านการศึกษาในอาเซียน เราได้นำข้อมูลล่าสุด (ปี พ.ศ.2556) มาแสดงการจัดอันดับการศึกษาของประเทศไทยที่ประเมินโดย World Economic Forum (WEF) พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยที่เราเคยคิดว่าเด็กของเราเก่งและฉลาดนั้น กลับได้คะแนนอยู่ในอันดับที่ 7 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (เราได้คะแนนเหนือกว่าประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมาร์เท่านั้น) และถูกจัดอยู่ในอันดับ 86 เมื่อเทียบกับการศึกษาของประเทศอื่นๆ ในโลก


ผมและวิทยากรด้านการศึกษาได้เปิด VDO ให้น้องๆ ดูบรรยากาศการเรียนในประเทศอาเซียนแต่ละประเทศ ประเทศทันสมัยอย่างสิงคโปร์เด็กนักเรียนถือคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ผิดกับประเทศกัมพูชาที่ยังใช้กระดานชนวนกันอยู่ นอกจากนี้เราให้น้องๆ สังเกตดูว่าสิงคโปร์ที่การศึกษาติดอันดับที่ 1 ของอาเซียนและลำดับต้นๆ ของโลก ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียน และใช้วิธีการเรียนรู้แบบ Less Teach, Learn More นั่นคือ ผู้สอนลดบทบาทการสอนของตนเองให้น้อยลงและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการอยากค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งน่าจะมาปรับใช้กับการศึกษาของบ้านเราแทนการท่องจำในที่สุด


บุคลิกลักษณะและนิสัยการทำงานของคนในแต่ละชาติก็น่าสนใจ เช่น คนสิงคโปร์เหมาะที่จะเป็นผู้บริหาร เก่งเรื่องการเงิน การจัดการ การค้าการลงทุน คนเวียดนามและคนบรูไนเหมาะกับงานสื่อสารองค์กร คนมาเลเซียเก่งเรื่องการใช้ข้อมูลและการวิจัยค้นคว้า ชาวฟิลิปปินส์เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ คนลาวนิสัยอ่อนโยนเป็นมิตร เหมาะที่จะดูแลลูกค้า คนไทยสนุกสนาน มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเหมาะกับงานด้านการตลาด คนอินโดนีเซียเหมาะที่จะดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

เมื่อพูดถึงเรื่องการศึกษาแล้ว เราอยากให้เด็กๆ ได้มองต่อไปถึงการประกอบอาชีพ เพื่อการวางแผนการเรียนในอนาคต โดยแจ้งให้ทราบว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกันในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศได้อย่างเสรีมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าจะมีบุคลากรบางอาชีพที่ต้องแข่งขันกับแรงงานจากอีก 9 ประเทศ โดยในรอบแรกนี้จะเริ่มต้นจากอาชีพนักสำรวจ สถาปนิก ทันตแพทย์ วิศวกร ผู้ให้บริการ นักบัญชี แพทย์ และพยาบาลก่อน


สุดท้ายเราได้ฝากคุณสมบัติเด็กไทยในอาเซียนตามที่ สพฐ. วางไว้คือ ต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต้องมีทัศนคติที่ยอมรับในความแตกต่างในวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา ต้องมีการพัฒนาทักษะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะด้านภาษาอย่างน้อย 2 ภาษา ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยี ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการมีภาวะผู้นำและการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

ผมได้กระตุ้นน้องๆ นักเรียนว่า ถ้าใครอยากมีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ ควรรีบพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษาให้มากขึ้น ส่วนคนที่ไม่อยากไปไหน อยู่ในประเทศไทยของเรา ก็อยู่เฉยย่ำอยู่กับที่ก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะต่อไปการแข่งขันจะสูงขึ้นอีกมาก เนื่องจากมีแรงงานต่างชาติในอาเซียนหลั่งไหลเข้ามา ถ้าเรารู้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องเริ่มวางแผนและตั้งใจเรียนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ขอบคุณครับ 
เตริมา กาซิห์ (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย) ออกุน (กัมพูชา) ขอบใจ (ลาว) เจซูติน บาแด (เมียนมาร์) ซาลามัต (ฟิลิปปินส์) เซี่ย เซีย (สิงคโปร์) ก่าม เอิน (เวียดนาม)

น้าเมฆ
www.facebook.com/cloudbookfanpage

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.