ดูฟรีหรือเสียเงิน? เปิดคู่มือประชาชน รับชมทีวีดิจิตอล
 


ดูฟรีหรือเสียเงิน? เปิดคู่มือประชาชน รับชมทีวีดิจิตอล


ดูฟรีหรือเสียเงิน? เปิดคู่มือประชาชน รับชมทีวีดิจิตอล

ทีวีดิจิตอล ขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ประชาชนคนไทยตื่นตัวกับการรับชมสื่อใหม่ ที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย จึงมีคำถามเกิดขึ้นหลายคำถาม ทั้งเรื่องวิธีรับชมทีวีดิจิตอล? ต้องจ่ายเงินหรือไม่ ทีวีเครื่องเก่ายังดูได้ไหม ถ้าซื้อทีวีใหม่ต้องเป็นแบบไหนรุ่นใด ไทยรัฐออนไลน์ อาสาไขข้อข้องใจเหล่านี้ด้วย "คู่มือประชาชนดูทีวีดิจิตอล" ไปติดตามกันเลย...

หลังจากที่การเปลี่ยนผ่านจากการรับชมโทรทัศน์แบบอนาล็อก สู่ทีวีดิจิตอล ขยับใกล้เข้ามาเรื่อยๆ มีความชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะหมายเลขช่องที่ผู้ชนะการประมูลทุกรายได้รับไปหมาดๆ ทำให้ประชาชนคนไทยตื่นตัวกับการรับชมสื่อใหม่ ที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย จึงมีคำถามเกิดขึ้นหลายคำถาม ทั้งเรื่องวิธีรับชมทีวีดิจิตอล? และเกิดความสับสนว่า ต้องซื้อโทรทัศน์เครื่องใหม่ หรือดูเครื่องเดิมต่อไปได้


ไทยรัฐออนไลน์ อาสาไขข้อข้องใจเหล่านี้ ด้วยการแนะนำวิธีรับชมทีวีดิจิตอลแบบง่ายๆ มาฝากกันค่ะ

ต้องซื้อโทรทัศน์ใหม่หรือไม่?

คำตอบแรกก็คือ ซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ สำหรับคนที่กำลังจะควักกระเป๋าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ใหม่ แนะนำให้เสียเงินครั้งเดียว ด้วยการซื้อเครื่องที่มีดิจิตอลจูนเนอร์ฝังอยู่แล้ว มี 5 บริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้นำเข้าทีวีดิจิตอล คือ บริษัท พานาโซนิค เอวีซี เน็ตเวิร์คส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด รวมทั้งสิ้นจำนวน 54 รุ่น โดยทั้งหมดเป็นแบบที่มีเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลอยู่ในตัว (ไอดีทีวี)

วิธีการสังเกตคือ ต้องมีสติกเกอร์น้องดูดี ติดที่เครื่อง เป็นการรับรองจาก กสทช. การันตีได้ว่าไม่ถูกหลอก


ทีวีเครื่องเก่าดูได้หรือไม่?

สำหรับประชาชนที่มีทีวีเครื่องเดิมอยู่แล้ว ต้องซื้อเซตท็อปบ็อกซ์ ราคาประมาณ 1,000-1,200 บาท ติดเข้ากับทีวีเครื่องเดิม เพียงเท่านี้ ก็สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ โดยไม่ต้องซื้อทีวีเครื่องใหม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ปี 2556 ประเทศไทยมีสถิติการนำเข้าเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลรวม 26 รุ่น จำนวน 67,264 เครื่อง เซตท็อปบ็อกซ์ DVB-T2 รวม 4 รุ่น จำนวน 232,040 เครื่อง และมีการผลิตเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเองในประเทศรวม 36 รุ่น จำนวน 21,430 เครื่อง เซตท็อปบ็อกซ์ DVB-T2 รวม 10 รุ่น จำนวน 323,250 เครื่อง

นั่นหมายความว่าบ้านเรา พร้อมแล้วที่จะรับทีวีดิจิตอล ทั้งเครื่องรับโทรทัศน์และเซตท็อปบ็อกซ์ เตรียมวางขายแล้ว ส่วนราคาขายเครื่องรับโทรทัศน์แบบมีสัญญาณดิจิตอลในตัวจากผู้ผลิตค่ายเกาหลีขนาดจอ 32 นิ้ว - 60 นิ้ว เริ่มต้นที่ 1.99 หมื่นบาท จนถึง 9.99 หมื่นบาท


ต้องจ่ายเงินเพิ่มเท่าไร?

หลายคนอาจคิดว่า ต้องมีภาระรายจ่ายเพิ่มหากต้องการรับชมทีวีดิจิตอล แต่ที่จริงแล้ว กสทช. จะช่วยแบ่งเบาภาระ ด้วยการแจกคูปองแทนเงินสดให้กับประชาชนจำนวน 22 ล้านครัวเรือน เพื่อนำมาเป็นส่วนลดสำหรับซื้อเซตท็อปบ็อกซ์ หรือโทรทัศน์ที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ โดยเบื้องต้นกำหนดราคาคูปองไว้ที่ 690 บาท แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และวิธีการแจกที่ชัดเจน  

“ถ้าหากว่าครอบครัวไหนต้องการซื้อเซตท็อปบ็อกซ์ ในราคาประมาณ 1,000 บาท มีคูปองอยู่ 690 บาท ก็จะจ่ายเงินจริงเพียง 310 บาท ซึ่งอนาคตมีการคาดการณ์ว่า เซตท็อปบ็อกซ์ จะราคาถูกลงเรื่อยๆ”

ก่อนหน้านี้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เคยให้สัมภาษณ์ว่า อาจพิจารณาปรับเพิ่มมูลค่าคูปองที่จะแจกให้กับประชาชน หลังจากที่ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 24 ใบได้ในราคาสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ประชาชนอาจได้คูปองมูลค่ามากกว่า 690 บาท

คำถามต่อมา คือ ใครจะได้รับแจกคูปองเป็นกลุ่มแรก? กสทช. กำหนดไว้ว่า จะเริ่มแจกตามพื้นที่ที่โครงข่ายทีวีดิจิตอลเข้าถึงก่อนเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2-4 ปี ทีวีดิจิตอลจึงจะมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ นั่นหมายถึงว่า กว่าจะแจกครบก็คงต้องใช้เวลาพอๆ กัน

ส่วนจุดไหนที่สามารถหาซื้อได้ทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ ที่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ คำตอบก็คือ ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านจำหน่ายทีวีทั่วไปที่มีขายอุปกรณ์


มีจานดาวเทียมแล้วดูได้ไหม?

สำหรับบ้านที่ติดจานรับสัญญาณดาวเทียม และเคเบิลทีวีอยู่แล้วทุกระบบ สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ทันที

เพียงแต่จะมีการจัดเรียงเลขช่องใหม่ ตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ มัสต์แครี่ (must carry) ของ กสทช. ซึ่งกล่องจะเรียงเลขช่องตั้งแต่ 1-10 ส่วนช่องสาธารณะจะเริ่มจาก 11-22 หากจะกดดูทีวีดิจิตอลช่องเด็กต้องกดไปที่ช่อง 23-25 ช่องข่าว 26-32 ช่องรายการทั่วไปแบบความชัดปกติ (เอสดี) 33-39 ช่องรายการทั่วไปแบบความชัดสูง (เอชดี) 40-46 ซึ่งหากดูผ่านวิธีนี้ หมายเลขช่องจะต่างจากเลขช่องที่ผู้ชนะการประมูลเลือกหมายเลขเอาไว้

หากทำความเข้าใจง่ายๆ ทีวีดิจิตอล 48 ช่อง ก็คือ ฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 6 ช่องนั่นเอง ซึ่งประชาชนสามารถรับชมได้ทุกแพลตฟอร์ม หรือเปิดศักราชใหม่วงการโทรทัศน์ไทยสู่ความเป็นสากล กับ ทีวีดิจิตอล
http://www.thairath.co.th/page/digitalTvThailand

ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับชมทีวีดิจิตอลก่อนใคร เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน คือ ประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลา จะได้ชมก่อน

จากนั้นเดือนพฤษภาคม 2557 จะขยายการออกอากาศเพิ่มอีก 3 จังหวัดในจังหวัดอุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และระยอง


และในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 จะส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่เพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ สิงห์บุรี สุโขทัย ขอนแก่น และอุดรธานี ทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2557 โครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินของประเทศไทยจะครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด 10 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 50% ของครัวเรือนทั่วประเทศ และทยอยขยายพื้นที่จนครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 4 ปี.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.