วิกฤตเลือด : วิกฤตการเมือง
 


วิกฤตเลือด : วิกฤตการเมือง


 วิกฤตเลือด : วิกฤตการเมือง


เป็นอีกปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทุกครั้งเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง จนเกิดเหตุปะทะถึงขั้นโรงพยาบาลขาดแคลนเลือด เป็นเหตุให้ศูนย์บริจาคโลหิต สภากาชาดไทยต้องประกาศขอรับบริจาคเลือดทุกครั้ง

ครั้งนี้ก็เช่นกันเห็นได้จากเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ออกมาขอรับบริจาคเลือดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บกรณีเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณถนนบรรทัดทอง จนมีผู้บาดเจ็บ 41 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยเมื่อโดยระบุว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 100 ยูนิต โรงพยาบาลรามาธิบดี 60 ยูนิต โรงพยาบาลกลาง 80 ยูนิต รวมทั้งสิ้น 240 ยูนิต และยังต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ผลปรากฏว่า หลังจากประกาศมีผู้มาบริจาคโลหิตล้นหลาม จนบางคนอาจเข้าใจว่าเลือดเพียงพอแล้ว ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ไม่ใช่?

พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้ว 365 วัน โลหิตในธนาคารเลือดไม่เคยเพียงพอ เนื่องจากในแต่ละวันจะต้องมีเลือดในคลัง 1,500 ยูนิต แต่ทุกวันนี้มีคนมาบริจาคเลือดเพียง 1,000-1,200 ยูนิต ทำให้ต้องสำรองเลือดไว้ ยิ่งในช่วงการชุมนุมปัญหาการเมือง ทางศูนย์บริการโลหิตฯต้องสำรองไว้ต่างหาก 400 ยูนิตเผื่อกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในช่วงที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นทำให้ต้องเอาเลือดสำรองมาใช้ จนส่งผลให้ขาดแคลนเลือด "ช่วงที่มีเหตุระเบิด เมื่อมีการประกาศว่าขอรับบริจาคเลือดเพิ่ม ได้รับความร่วมมือกับประชาชนคนไทยมาก โดยมีคนมาบริจาคเลือดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ประกาศออกไปในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ไปจนถึง22.00 น. มีคนเข้ามาบริจาคเลือดถึง 400 ยูนิต ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมามีคนมาบริจาคสูงสุดเป็นปรากฏการณ์คือ วันละ 1,800-1,900 ยูนิต ซึ่งปกติเสาร์อาทิตย์จะเปิดบริการถึงบ่ายสามโมงครั้ง แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดสามทุ่ม แต่ใช่ว่าการมาบริจาคเลือดมากขนาดนี้จะเพียงพอ สุดท้ายก็ยังไม่พอ เพราะเลือดที่ได้รับต้องกระจายไปทั่วประเทศ เนื่องจากทางศูนย์รับบริจาคโลหิตในต่างจังหวัด และในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ แจ้งมาว่า เลือดไม่เพียงพอเช่นกัน" พญ.สร้อยสอางค์กล่าว

แต่ก็เกิดคำถามว่าเมื่อมีคนมาบริจาคมาก เพราะเหตุใดจึงยังไม่เพียงพอ ได้รับคำตอบว่า เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะเมื่อมีคนให้การตอบรับมากก็จะเข้ามาให้เลือดมาก แต่เมื่อได้มาก็ต้องบริจาคออกไป และพอเรื่องเริ่มซาลง คนก็บริจาคน้อยอยู่ดี

"หากรวมตัวกันมาบริจาคในช่วงวิกฤตอย่างเดียว แต่ช่วงปกติไม่บริจาคเลย ปัญหาการขาดแคลนโลหิตก็ยังมีอยู่ สิ่งสำคัญอยากให้ทุกคนตระหนักว่า การบริจาคเลือดเป็นหน้าที่พลเมือง ซึ่งการบริจาคเลือดเพียง 1 ถุงสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถึง 3 คน เพราะเลือดที่ได้มาจะมีการสกัดออกเป็น 3 ส่วน คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง ส่วนที่กังวลว่าบริจาคเลือดจะทำให้อ้วน ขอย้ำว่าไม่จริง เพราะเรามีชมรมผู้บริจาคโลหิตจะพบว่า ไม่มีคนอ้วนเลย ส่วนใหญ่จะดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อให้สามารถบริจาคเลือดได้ในแต่ละครั้ง ดังนั้น ทุกคนสามารถมาบริจาคได้ แต่ต้องมีอายุเกิน 17 ปีขึ้นไป น้ำหนักเกิน 45 กิโลกรัม แต่หากบริจาคครั้งแรกต้องมีอายุไม่เกิน 55 ปี เนื่องจากหากเกินกว่านั้นจะเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพ" ผู้อำนวยการ กล่าว

นอกจากบริจาคเลือดได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์แล้ว ยังสามารถไปบริจาคได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ หรือหากมีบัตรสภากาชาดไทย ก็สามารถบริจาคได้ที่โรงพยาบาลเครือข่ายใน กทม. อาทิ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.วชิรพยาบาล รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.ภูมิพล รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า และ รพ.ตำรวจ

อย่ารอแค่มีเหตุวิกฤต แต่ควรบริจาคเลือดทุกครั้งที่มีโอกาส...

 

 

 



หน้า 10 มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2557



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.