สวีเดนประสบความสำเร็จ ปลูกถ่ายมดลูกผู้หญิง
 


สวีเดนประสบความสำเร็จ ปลูกถ่ายมดลูกผู้หญิง


FB COMMENT --> --> END FB COMMENT -->
 สวีเดนประสบความสำเร็จ ปลูกถ่ายมดลูกผู้หญิง



สตรีในประเทศสวีเดน 9 ราย ประสบความสำเร็จในการรับการปลูกถ่ายมดลูกที่ได้รับการบริจาคมาจากญาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะกระทบต่อจริยธรรม และเร็วๆ นี้สตรีกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อการตั้งครรภ์ด้วยมดลูกใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่าย

สตรีที่เข้ารับการปลูกถ่ายมดลูกเหล่านี้เป็นสตรีที่เกิดมาโดยไม่มีมดลูก บางคนก็ต้องตัดทิ้งเพราะเป็นมะเร็ง ทั้งหมดอายุประมาณ 30 กว่าปี ที่เข้าร่วมการทดสอบครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ว่าการปลูกถ่ายมดลูกจะทำให้ผู้หญิงคนนั้นสามารถตั้งครรภ์เองได้หรือไม่

ทั้งนี้ การปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น หัวใจ ตับ ไต มีการผ่าตัดปลูกถ่ายกันมานานแล้วหลายสิบปี และแพทย์เองก็เริ่มมีพัฒนาการที่จะปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแขน ใบหน้า และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการปลูกถ่ายมดลูก ซึ่งเบื้องต้นต้องการให้เป็นการปลูกถ่ายชั่วคราวเท่านั้น เพื่อให้สตรีสามารถคลอดบุตรได้ แต่กลับเริ่มสร้างความห่วงกังวลให้เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน

ก่อนหน้านี้ ประเทศตุรีและซาอุดีอาระเบียเอง ก็เคยมีความพยายามที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกมาแล้ว แม้จะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่าย แต่ไม่สามารถทำให้สตรีที่ได้รับการปลูกถ่ายมดลูกคลอดลูกได้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งในอังกฤษ ฮังการี และอีกหลายประเทศ ก็มีแผนที่จะทดลองในลักษณะเดียวกัน แต่ที่ประเทศสวีเดน ถือว่าอยู่ในขั้นที่ก้าวหน้ามากที่สุดในขณะนี้

นายแพทย์แมทส์ แบรนสตอร์ม อธิบการบดีคณะสูติกรรมและนรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการปลูกถ่ายมดลูกในสตรี ให้สัมภาษณ์กับเอพีไว้ว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกให้กับสตรีครั้งนี้เป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ ไม่มีตำรามากางให้ดูว่าต้องทำอย่างไร

และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นายแพทย์แบรนสตอร์มและทีมงานก็จะประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งแรกเพื่อดูว่ามดลูกที่ได้รับการปลูกถ่ายนั้นเป็นอย่างไร และเตรียมที่จะรายงานทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แสดงความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับจริยธรรม ในการใช้มดลูกที่ได้รับการบริจาคมาจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อกระบวนการการทดลองที่ไม่ได้ช่วยชีวิตมนุษย์แต่อย่างใด แต่จอห์น ฮาร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวจริยธรรม จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กลับบอกว่า เขากลับมองไม่เห็นปัญหาตราบเท่าที่การบริจาคมีการแจ้งข้อมูลทุกอย่าง และยังได้เปรียบเทียบกับการบริจาคไตว่า ปัจจุบันก็มีไตเทียมแล้ว แต่เราก็ยังยอมรับกันได้กับการบริจาคและยังรณรงค์ให้คนเสี่ยงที่จะบริจาคไตด้วย

แบรนสตอร์มบอกว่า มดลูกที่ได้รับการบริจาคทั้ง 9 มดลูกนั้นอยู่ในสภาพที่ดี หลังการผ่าตัดมดลูกยังอยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง โดยมีสตรีรายหนึ่งที่รับการปลุกถ่ายมดลูกมีการติดเชื้อหลังรับการผ่าตัด ขณะที่บางคนมีอาการต่อต้านมดลูกใหม่เล็กน้อย แต่ไม่มีใครถึงกับต้องดูแลเป็นพิเศษหลังการผ่าตัด และทั้งหมดกลับบ้านได้ในเวลาไม่กี่วันหลังผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยทั้งชื่อของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคมดลูก และการปลูกถ่ายมดลูกก็เริ่มมีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 และจริงๆ แล้ว มีการปลูกถ่ายมดลูก 10 คน แต่มีสตรีคนหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดด้วยเหตุผลทางด้านการแพทย์

การปลูกถ่ายมดลูกสำเร็จครั้งนี้ยังได้สร้างความหวังให้กับผู้หญิงที่ไม่สามารถมีลูกเองได้เพราะไม่มีมดลูกหรือเป็นมะเร็ง เนื่องจากหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสวีเดน การอุ้มบุญหรือการให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนนั้น เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย การที่สตรีคนใดไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ จึงถือเป็นเรื่องเศร้าสำหรับบางครอบครัวที่อยากมีบุตรหลาน

ต่อจากนี้ก็เพียงแค่รอดูว่า สตรีเหล่านี้จะสามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรเองได้หรือไม่ เป็นอีกความหวังครั้งใหญ่ของผู้หญิงบนโลกนี้ทีเดียว

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 16 มกราคม 2557)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline

อ่านล่าสุด  คน-->
Start ADS Google Adsense 468x60-->





mc_468x60_slot1_other -->


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.