การศึกษากฎหมายในประเทศไทย
 


การศึกษากฎหมายในประเทศไทย


 การศึกษากฎหมายในประเทศไทย

โดย สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

จากสุภาษิตภาษาละตินที่ว่า "ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั้นมีกฎหมาย ด้วยเหตุนั้น    ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นจึงมีกฎหมาย" (: Ubi homo, ibisocietas. Ubisocietas, ibiius. Ergo ubi homo, ibiius)     เป็นภาษิตที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับสังคม ไม่มีสังคมใดดำรงอยู่ได้โดยปราศจากกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน กฎหมายมีไว้สำหรับรักษาความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยในสังคม พัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ตามลำดับ กฎหมายจึงมีความสำคัญ นักกฎหมายซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระบวนการกฎหมายต้องเป็นทั้งผู้รู้และผู้ใช้กฎหมาย จึงเป็นวิชาชีพที่ต้องกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้ที่จะมาประกอบอาชีพ ที่ต้องมีวุฒิภาวะทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ คุณธรรม จริยธรรม และประสบการณ์เพียงพอเพื่อดูแลกฎหมายที่กำหนดขึ้นให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริงเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข ถูกต้องตามจารีตประเพณีและศีลธรรมอันดีของประชาชน


ระบบกฎหมายที่เป็นสากลมีอยู่ 2 ระบบ ดังนี้


1.ระบบกฎหมายซีวิลลอว์(Civil Law) เป็นระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร ต้นกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรโรมัน ระบบกฎหมายนี้มีลักษณะเป็นการรวมรวมจารีตประเพณีกฎหมายต่างๆหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเรียกว่าประมวลกฎหมาย ระบบกฎหมายดังกล่าวจึงได้ยึดถือฝ่ายนิติบัญญัติเป็นบ่อเกิดหลักของกฎหมาย      กระบวนการพิจารณาคดีในศาลเป็นระบบไต่สวนและศาลไม่ผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนๆหลักสำคัญของซีวิลลอว์คือการให้ประชาชนรู้กฎหมายที่เป็นกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่ทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตาม โดยที่กฎหมายนั้นต้องเป็นลายลักษณ์อักษรคำพิพากษาของศาลเป็นเพียงส่วนที่ช่วยในการตีความกฎหมาย ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นระบบกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุด ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ได้แก่ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น


2.ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์(Common Law)หรือเรียกกันว่าระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นระบบกฎหมายจารีตประเพณีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอังกฤษในระบบคอมมอนลอว์แต่เดิมจะไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อศาลใช้จารีตประเพณีในการพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ก็จะมีการบันทึกคำพิพากษานั้นเอาไว้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆไป หาข้อเท็จจริงในคดีต่อๆมาเหมือนกับคดีก่อน ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลคือกฎหมาย ประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบนี้ เช่น ประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้นแต่ปัจจุบันนี้ในประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ทั้งระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์ ควบคู่กันไปลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คือ1. คำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ศาลต้องผูกพันพิพากษาคดีตามแนวคำพิพากษาที่ได้มีมาแต่เดิม ตามหลัก “ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน” 2. คำพิพากษาของศาลมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอนลอว์ ในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 3. การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากการศึกษาคำพิพากษาของศาลที่มีมาแต่เดิมเป็นหลัก


กฎหมายเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ การศึกษากฎหมายในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายในเมืองไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"ทรงเข้ารับการศึกษาณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบโดยมีเจ้าพระยายมราช เป็นอาจารย์ผู้สอน และทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนมัธยมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา ๓ ปีเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้วทรงสอบเรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดจนกระทั่งปี พ.ศ. 2337 ทรงสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีเกียรตินิยมจากนั้นจึงเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการ เนื่องจากกรมราชเลขานุการในสมัยนั้นเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์รวมของราชการแผ่นดินทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมาฝึกปฏิบัติราชการก่อนที่จะให้ไปทรงรับราชการในกระทรวงต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงก่อตั้ง "โรงเรียนกฎหมาย" ขึ้นในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเปิดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ส่วนใหญ่เป็นตุลาการ


นับแต่นั้นมาการศึกษากฎหมายในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อประสงค์บำรุงการศึกษาวิชากฎหมายทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความ ให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม ให้สาธารณชนได้อาศัยทนายความซึ่งมีความสามารถและสมควรที่จะเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น และในปี พ.ศ. 2491 เนติบัณฑิตยสภาได้จัดตั้งสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาขึ้น  มีศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาคนแรก และเปิดการสอนและศึกษาอบรมขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษาวิชานิติศาสตร์และความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายมีหลักสูตรตามแบบอย่างของสภาการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาประเทศอังกฤษและต้องตามมติของเนติบัณฑิตยสภาสากล ซึ่งเนติบัณฑิตยสภาไทยเป็นภาคี


นับแต่เปิดสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 มีผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมฯ เป็นเนติบัณฑิตสมัยการศึกษาที่ 1 จำนวน 6 คน ส่วนเนติบัณฑิตสมัยการศึกษาที่2 ไม่มีผู้สอบไล่ได้ ต่อมาในสมัยการศึกษาที่ 3 พ.ศ. 2493 มีผู้สอบไล่ได้จำนวน 3 คน เห็นได้ว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาน้อยมาก ต่อมามีจำนวนผู้ศึกษากฎหมายเพิ่มมากขึ้นและมีผู้สอบไล่ได้เนติบัณฑิตเพิ่มขึ้นสำนักอบรมฯ  จึงปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาการเรียนการสอบให้เหมาะสมมากขึ้น ให้สามารถผลิตบุคคลากรได้สอดคล้องต่อความต้องการของสังคม เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม ล่าสุดในสมัยการศึกษาที่ 66 ภาคหนึ่ง พ.ศ. 2556 มีผู้สอบไล่ได้ 538 คนจากผู้สมัครสอบกว่า 20,000 คน
เนติบัณฑิตเป็นคุณวุฒิทางการศึกษาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี ผู้ที่จะเข้ารับการศึกษาจำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตก่อน การศึกษากฎหมายระดับนิติศาสตร์บัณฑิตของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าและพัฒนามาควบคู่กับมากับเนติบัณฑิตปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งในภาครัฐและเอกชนได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์


การเรียนการสอนกฎหมายในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับคุณสมบัติและการมีความพร้อมของผู้เรียนกฎหมายเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่จะเข้าเรียนกฎหมายระดับปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตได้ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นมาแล้วการเรียนการสอนกฎหมายส่วนใหญ่เน้นที่การแสดงความคิดเห็น การอภิปรายและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจในหลักกฎหมายอย่างลึกซึ้งและสามารถปรับใช้กฎหมายได้ถูกต้อง เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่เน้นทักษะในการวิเคราะห์ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาและมีการสื่อสารที่ถูกต้อง


การศึกษากฎหมายจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาตามกาลเวลาและตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษากฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบันยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ ที่บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากสังคมโลกเชื่อมโยงกันอย่างไร้พรมแดน ประกอบกับประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงและเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาติ


กระบวนการเรียนการสอนกฎหมายนอกจากต้องคำนึงถึงมาตรฐานและคุณภาพของการศึกษาแล้วยังต้องปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในการเป็นนักกฎหมายที่ดีด้วย กระบวนการเรียนการสอนระดับเนติบัณฑิตในปัจจุบันยังไม่มีวิชาจริยธรรมโดยตรง จึงเกิดปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะให้นักกฎหมายซึมซับหลักจริยธรรม คุณธรรมของนักกฎหมายเข้าไปจากการเรียนการสอน ซึ่งถ้าดูจากการเรียนการสอนเนติบัณฑิตอังกฤษ ความใกล้ชิดระหว่างคนที่เรียน นักศึกษากับอาจารย์หรือนักกฎหมายรุ่นพี่มีความใกล้ชิดกันมีชั่วโมงรับประทานอาหารร่วมกันกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวคิดก็ค่อยๆซึมซับเข้าไป จึงเห็นได้ว่าการเป็นเนติบัณฑิตของประเทศอื่น นอกจากต้องศึกษาอบรมกฎหมายอย่างลึกซึ้งแล้วยังต้องประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้องกับธรรมเนียมประเพณี มีการพบกับผู้ใหญ่ในวงการนักกฎหมายเพื่อศึกษาชีวิตและเรียนรู้ประสบการณ์จริงเป็นข้อแตกต่างที่น่าสนใจและควรได้รับการพิจารณาเพื่อนำมาปรับใช้กับการศึกษากฎหมายของประเทศไทย นอกจากนี้ สื่อการเรียนการสอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่ได้มาศึกษาอบรมในห้องเรียนกับผู้ที่ไม่มีโอกาสมาเรียนต้องมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน โดยผ่านสื่อการเรียนการสอนเช่น คำบรรยายหรือการถ่ายทอดไปยังศูนย์การเรียนอื่นๆ เป็นต้น เป้าหมายที่สำคัญของเนติบัณฑิตคือการให้นักกฎหมายรู้วิธีปฏิบัติเพื่อนำกฎหมายไปปรับใช้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญแก่ “ผู้ใช้กฎหมาย” เป็นอย่างมากดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 ที่ทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "...สำหรับกฎหมายไทยได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ดีทีเดียว มีความเป็นธรรมมากที่สุดและมีช่องโหว่น้อยที่สุด ความไม่เป็นธรรม หากจะเกิดขึ้นในการตัดสินคดี ไม่น่าจะอยู่ที่ตัวบทกฎหมายแต่อยู่ที่ตัวบุคคล ตราบใดที่ผู้ใช้กฎหมายมีความสุจริต มีจรรยาและมโนธรรมของนักกฎหมายมั่นคงแล้ว ก็ไม่ควรจะเกิดความผิดพลาด... ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ทุกคนสร้างตนให้เป็นนักกฎหมายที่ดี ที่แท้ โดยฝึกตนให้มีความกล้าในอาชีพของนักกฎหมาย คือ กล้าที่จะปฏิบัติการไปตามความถูกต้องเที่ยงตรง ทั้งตามกฎหมายและศีลธรรม..."


"...กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอยู่ได้เต็มเปี่ยมหรือไม่ เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้.ผู้ที่ต้องการจะใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุขสงบและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชนและบ้านเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันจริงแท้ของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไปอย่างไม่มีข้อแม้ประการใดๆ พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมคติ จรรยา ความสุจริต และมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบเคร่งครัดเสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง..."


เห็นได้ว่าภาระหน้าที่ของนักกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความยุติธรรมนั้นมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมหลายด้านทั้งการเผชิญหน้ากับวิกฤติความขัดแย้งและการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้การปฏิบัติหน้าที่ของนักกฎหมายในฐานะผู้พิพากษา พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ทนายความ และการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆด้านกฎหมาย มีผลกระทบโดยตรงต่อการรักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมและเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนการดำเนินงานของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์และจะพัฒนาต่อไปด้วยปณิธานที่แน่วแน่ในการเตรียมบุคลากรให้แก่วิชาชีพทางกฎหมายทุกสาขา เพิ่มเติมให้ความรู้ความชำนาญในกฎหมายเฉพาะด้าน เน้นกรณีศึกษามากกว่าทฤษฎี เน้นจริยธรรม คุณธรรมและหลักวิชาชีพนักหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมและเป็นหลักประกันความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรมต่อไปในอนาคต



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.