อินเทลบุกงาน CES2014 โชว์อุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค สนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิตอล
 


อินเทลบุกงาน CES2014 โชว์อุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค สนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิตอล


อินเทลบุกงาน CES2014 โชว์อุปกรณ์สวมใส่ไฮเทค สนองไลฟ์สไตล์ยุคดิจิตอล

ซีอีโออินเทล แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมทั้งเผยโฉมผลิตภัณฑ์นที่เป็นวัตกรรมแห่งปีในงาน CES2014 ชูแนวทางใหม่สร้างประสบการณ์ใช้งานเสมือนจริง เป็นธรรมชาติและมีความปลอดภัย โดยประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตหลายรายกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา Wearables...

ภายในงานอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โชว์ หรือ CES2014 จัดขึ้นที่ ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกานั้น ค่ายไอทีต่างนำเสนอสินค้านวัตกรรมแห่งยุค เช่นเดียวกับ "อินเทล" ยักษ์ใหญ่ของวงการไอที โดยนายไบรอัน เคอซานิทช์ เจ้าหน้าที่บริหาร ของอินเทล ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมประกาศการริเริ่มและความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตหลายรายเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมสำหรับอุปกรณ์แบบพกพาและอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearables)


ทั้งนี้ นายเคอซานิทช์ ยกตัวอย่างว่า โลกของคอมพิวเตอร์กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจะเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามไม่ได้และจะต้องมีอยู่ในอุปกรณ์ทุกชิ้น เมื่อโลกกำลังก้าวไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งเท่านั้น เทคโนโลยีจะมีความหมายต่อผู้ใช้งานต่างกันไปตามแต่การใช้งาน ส่วนแนวโน้มเทคโนโลยีที่อินเทลจะทยอยเปิดตัวในปีนี้ จะเป็นอุปกรณ์ในกลุ่มอินเทล เรียลเซนส์ (Intel RealSense) ที่สามารถทำให้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สามารถรับรู้และประมวลผลเลียนแบบมนุษย์ได้ นอกจากนี้ อินเทลยังกำลังคิดค้นและริเริ่มแนวคิดในผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อกระตุ้นนวัตกรรมของอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ โดยจะคิดค้นอุปกรณ์พร้อมทั้งระบบที่เป็นต้นแบบและพร้อมให้ผู้ผลิตนำไปพัฒนาต่อ เช่น หูฟัง ระบบไบโอเมตริกซ์ ที่สามารถตรวจสอบสุขภาพของผู้สวมใส่ได้ และอุปกรณ์ชุดหูฟังแบบอัจฉริยะที่สามารถทำงานร่วมกับระบบเทคโนโลยีผู้ช่วยส่วนตัวพร้อมให้ใช้งานได้ตลอดเวลา รวมถึงภาชนะอัจฉริยะที่สามารถชาร์จไฟแบบไร้สาย เพื่ออุ่นอาหารได้ เป็นต้น


ซีอีโอ ของอินเทล ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือกับ บาร์นี่ย์ส นิวยอร์ก (Barneys New York) สถาบันนักออกแบบแฟชั่นแห่งสหรัฐอเมริกา (the Council of Fashion Designers of America) และโอเพ่น เซเรโมนี่ (Opening Ceremony) ที่ร่วมสร้างสรรค์และวางจำหน่ายอุปกรณ์สวมใส่ได้ รวมถึงการจัดการแข่งขันระดับโลก "Make it Wearable" เพื่อสร้างความตื่นตัวในการสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี โดยเกณฑ์การตัดสินจะวัดจากผลงานที่มีความอัจฉริยะและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ ทำให้อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้เป็นที่นิยมผ่านแนวคิดล้ำสมัยของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับทุกชีวิตทั่วโลก เช่น การใช้ที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์อย่างจริงจัง ความเพลิดเพลินในการใช้งาน อายุของแบตเตอรี่ รวมไปถึงความปลอดภัยของข้อมูลและการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ซึ่งอินเทลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ในราคาย่อมเยา โดยจะมีการนำเสนอแพลตฟอร์มที่มีราคาไม่สูงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานแบบส่วนบุคคลหรือผู้ประกอบการรายย่อยได้ต่อยอดในการพัฒนา


"เรายังไม่ได้เห็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้วางจำหน่ายอย่างกว้างขวาง เพราะมันยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง และยังไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างแท้จริง ซึ่งอินเทลตระหนักถึงความท้าทายนี้ ดังนั้นเป้าหมายของเราคือการทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด ถ้าอุปกรณ์เหล่านั้นมีหน้าที่ประมวลผล และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ อินเทลจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการมอบระบบประมวลผลให้กับอุปกรณ์นั้นๆ" นายเคอซานิทช์ กล่าว


ขณะเดียวกัน อินเทล ยังได้เปิดตัว "Intel Edison" อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Intel Quark มีขนาดเล็กเท่ากับ SD Card และติดตั้งการเชื่อมต่อแบบไร้สายเพื่อรองรับระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย ซึ่งอุปกรณ์ต้นแบบของ Intel Edison จะวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งอินเทลคาดว่าจะสามารถสร้างให้เกิดนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากทั้งนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมกันนี้ อินเทล ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ "อินเทล ซิเคียวริตี้" (Intel Security) ซึ่งหมายถึงสินค้าและบริการในกลุ่มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และได้เผยถึงแผนที่จะเปลี่ยนสินค้าภายใต้แบรนด์ McAfee มาเป็นแบรนด์ Intel Security ซึ่งจะยังคงการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลอย่างสูงสุดเช่นเดิม


โดย นายเคอซานิทช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาความปลอดภัยในการรักษาเอกลักษณ์บนโลกดิจิตอลนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายขึ้น เมื่ออุปกรณ์แบบพกพาและแอพพลิเคชั่นต่างๆ มีความสำคัญกับชีวิตเรามากขึ้น อินเทลมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โลกออนไลน์มีความปลอดภัยและล้ำหน้าภัยที่กำลังคุกคาม เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่จัดเก็บอยู่ในอุปกรณ์แบบพกพาและอุปกรณ์สวมใส่ได้ โดยมีแผนติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่ได้รับรับรางวัลอย่าง McAfee ไว้ในอุปกรณ์แบบพกพาต่างๆ ทั้งบนไอโฟน ไอแพด รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในอนาคตอันใกล้

ส่วนแนวคิดในการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ที่ทำงาน (ฺBring-Your-Own-Device หรือ BYOD) ที่กำลังเป็นที่นิยม ทำให้หลายองค์กรห้ามการนำอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบความปลอดภัยภายในขององค์กรมาใช้ ในปีนี้อินเทลจึงจะเปิดตัว Intel Device Protection เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์ที่มีหน่วยประมวลผลของอินเทลและใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อเข้าถึงมาตรฐานการรักษาความปลอยภัยของข้อมูลอย่างสูงสุด เพื่อการใช้งานทั้งที่บ้านและที่ทำงาน.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.