รำลึกวันวานยังหวานอยู่!! "ซีมะโด่งดินแดนมหัศจรรย์" แหล่งพักพิงลูกจามจุรี
 


รำลึกวันวานยังหวานอยู่!! "ซีมะโด่งดินแดนมหัศจรรย์" แหล่งพักพิงลูกจามจุรี


รำลึกวันวานยังหวานอยู่!!

ย้อนอดีตกลับไปเมื่อครั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อกำเนิดขึ้น นอกจากเหล่านิสิตหญิงชายจะได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้จากสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของลูกหลานจามจุรีคือ การได้ใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนใน “หอพัก” ภายในรั้วจุฬาฯ ซึ่งถือเป็นบ้านหลังใหญ่ และแหล่งพักพิงที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น โดยหอพักในตำนานของชาวจุฬาฯ เรียกขานกันติดปากว่า “ซีมะโด่ง”

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป หอพักต่างๆที่เคยพักอาศัยของชาวจามจุรี ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงระดมพลศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันหอพักซีมะโด่ง มาร่วมเผยความประทับใจมิรู้ลืมเลือน พร้อมย้อนตำนานประวัติศาสตร์หอพักแห่งแรก ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2459

วังวินด์เซอร์

วังวินด์เซอร์

ในสมัยนั้น นิสิตทุกคนต้องศึกษาและกินอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมี “หอวัง” เป็นหอพักนิสิตชาย ตั้งอยู่บริเวณ “วังวินด์เซอร์” วังที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันคือ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯองค์นี้สวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทแทน เมื่อทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระ ราชทาน “วังวินด์เซอร์” ให้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย

หอพักในอดีต

หอพักในอดีต

ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ท่านเจ้าจอมสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 5 ได้บำเพ็ญกุศลทำบุญฉลองอายุครบหกรอบ โดยบริจาคเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างหอพักนิสิตหญิง จึงนับว่าท่านเจ้าจอมฯเป็นผู้ริเริ่มให้การอุปการคุณแก่นิสิตหญิงของมหาวิทยาลัยที่ขาดแคลนที่พัก เนื่องจากมีนิสิตหญิงจำนวนมากที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ต้องไปพักอาศัยตามหอพักเอกชน โดยอาคารหอพักหญิง “หอเจ้าจอม” ซึ่งปัจจุบันคือ ศูนย์การค้ามาบุญครอง ทำพิธีเปิดอาคารอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2496 ปัจจุบันอาคารหอพักนิสิตทั้ง 5 หลังของจุฬาฯ ยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงสำคัญของเหล่านิสิตลูกจามจุรี มาจนถึงทุกวันนี้ และในปีนี้ “หอตึกหลังแรก หรือชวนชม” จะมีอายุครบ 56 ปี โดยทำหน้าที่รับใช้นิสิตจุฬาฯมาอย่างต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนมีสภาพทรุดโทรม จะถูกรื้อทิ้งและสร้างใหม่เป็นอาคาร 17 ชั้น เพื่อรองรับนิสิตให้ได้มากขึ้นถึง 1,200 คน และยังมีอาคารอเนกประสงค์เพื่อให้เหล่านิสิตใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ทองมา

ทองมา

อดีตนิสิตจุฬาฯ และชาวหอซีมะโด่ง ซึ่งเติบโตไปสร้างชื่อเสียงระดับประเทศ ได้มาร่วมรำลึกถึงวันวานยังหวานอยู่อย่างคึกคักสนุกสนาน นำขบวนโดย “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้บอกเล่าว่า ประทับใจตั้งแต่ปีแรกของการเข้าพักที่หอเจ้าจอม ซึ่งเป็นหอหนึ่งของจุฬาฯ ด้วยความเป็นธรรมชาติของหอ มีต้นไม้มากมาย ทั้งต้นชมพู่ และต้นมะขาม แถมยังมีผลไม้สามารถเก็บมาทานกันได้ ทำให้เราที่เพิ่งจากบ้านที่ชลบุรี เมื่อเข้ามาอยู่แล้วรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน รุ่นพี่ช่วยเหลือรุ่นน้องเป็นอย่างดี ความช่วย เหลืออันดับแรก ที่จำได้ไม่ลืม ก็คือ รุ่นพี่ช่วยเป็นธุระและแนะนำเรื่องขอทุนการศึกษา เพราะในปีแรกที่เข้ามาเรียน พอเลิกเรียน ผมก็ไปทำงาน เพื่อหาเงินแบ่งเบาภาระทางบ้าน รุ่นพี่ก็แนะนำเรื่องการขอทุนให้ในเทอมสุดท้ายของการเรียนปี 1 ก็ได้รับทุนเรียน สิ่งที่ได้เรียนรู้มาโดยตลอดเมื่ออยู่หอ คือ ความเสียสละ และสอนให้อุทิศตนเพื่อสังคม ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่ดีในการก้าวไปข้างหน้า”

วัฒนา

วัฒนา

ด้าน “วัฒนา โอภานนท์อมตะ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานด้านธุรกิจโรงกลั่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เผยความรู้สึกว่า ชาวหอซีมะโด่งจุฬาฯ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช่หอพักที่จ่ายเงินแล้วต่างคนก็ต่างอยู่ แต่เรามีวัฒนธรรมของความเป็นบ้านและมีอาจารย์ ที่เรียกว่า “อนุสาสก” เป็นคุณพ่อคุณแม่ ทุกคนมาจากต่างบ้าน ต่างคนก็ได้มาสร้างบรรยากาศของความเป็นพี่เป็นน้อง วัฒนธรรมนี้ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น อาจารย์ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นครู แต่เป็นผู้ปกครอง คอยดูแลสอดส่องความประพฤติ ใครเกเรก็เรียกไปคุย ส่วนรุ่นพี่ที่อยู่ก่อนคอยช่วยดูแลเหมือนเราเป็นน้อง ถ้าเรามีบ้านอยู่กรุงเทพฯมาเรียนที่จุฬาฯ ก็อาจจะรู้จักแค่เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเพื่อนที่ชมรมเท่านั้น แต่สำหรับชาวหอ ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆทุกคณะเลยก็ว่าได้ สมัยเป็นนิสิตอาจจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่ตอนนี้ รู้สึกว่าเรารู้จักคนในสังคมทุกๆภาคส่วน และไม่ว่าคุณจะใหญ่โตในหน้าที่การงานมากเพียงใด เวลาที่เจอกันไม่มีหัวโขน ต่างเป็นพี่น้อง และความเป็นพี่น้องจะช่วยอนุเคราะห์กันเสมอ เป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้

ดร.เสรี

ดร.เสรี

สำหรับ “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการรู้ทันภัยน้ำท่วม ย้อนรำลึกว่า ประทับใจมากกับการที่ได้อยู่หอจุฬาฯ เพราะได้เรียนรู้พื้นฐานวัฒนธรรมที่ต่างกันของนิสิตจากแต่ละจังหวัด แต่ละภาคของบ้านเรา  แต่ละคนไม่ใช่ว่าแค่มาอยู่รวมกัน แต่ต่างคนต่างช่วยเหลือกัน อยู่ด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน รู้สึกผูกพันกัน อย่างผมเองเข้าพักถึง 4 หอ เริ่มจากหอเจ้าจอม, หอไม้, หอ AIT และหอหนึ่ง ได้ทั้งเปลี่ยนบรรยากาศในแต่ละหอ และยังได้เรียนรู้สิ่งเล็กๆน้อยๆที่ต่างกันไปด้วย

สันติ

สันติ

ขณะที่ “สันติ วิริยะรังสฤษฎ์” คอลัมนิสต์ชื่อดังของ นสพ.ไทยรัฐ อดีตนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ รุ่นที่ 5 ที่มาจากเมืองตรัง พูดถึงความประทับใจว่า ความอบอุ่นของชาวหอซีมะโด่ง เป็นที่สุดของความประทับใจ ทุกคนอยู่กันอย่างฉันมิตร ช่วยเหลือกันตลอด ภาพที่ไม่ลืมคือสิงห์หอ ที่เพื่อนๆต่างหอ รวมถึงเพื่อนต่างคณะ จะมารวมตัวกันทุกครั้งที่มีการสอบ ทุกคนมาอ่านหนังสือและติวด้วยกัน ง่วงก็นอนหลับที่พื้นห้อง รวมกันราว 5-6 คน ส่วนคนที่เรียนเก่งก็จะช่วยสอน หรือให้ยืมสมุดโน้ตอ่าน พอเช้าไปเข้าห้องสอบ เวลาว่างจากเรียนก็กลับเข้าหอ ดูหนังทานข้าวกัน ยิ่งโรงอาหารของหอเป็นที่ต่อชีวิตของเด็กชาวหอฯช่วงปลายเดือน ถ้าทุกมหาวิทยาลัยมีหอพักให้นักศึกษา จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะการที่ต้องอยู่ร่วมกัน และใช้ของส่วนกลางร่วมกัน จะเกิดความสมานฉันท์ ช่วยเชื่อมโยงให้ทุกคณะได้สนิทสนมผูกพันและรักใคร่กันยิ่งขึ้น

รัตนาวลี

รัตนาวลี

“รัตนาวลี โลหารชุน” กรรมการผู้จัดการบริษัท แบรนด์แอ็กชั่น จำกัด ผู้ต้องจากสงขลามาอยู่เมืองกรุง เพื่อเข้าเป็นนิสิตคณะครุศาสตร์ บอกเล่าว่า ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต ได้มิตรภาพ มีเพื่อนมีพี่น้องก็ตอนอยู่หอซีมะโด่งจุฬาฯ จนปัจจุบันยังไปมาหาสู่กันอยู่เลย การเป็นเด็กหอทำให้รู้จักการแบ่งปัน และเรียนรู้การอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น เรียนรู้ที่จะคิดเอง ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกให้อยู่ในกฎเกณฑ์และระเบียบวินัย แต่ยังคงมีชีวิตที่สนุกสนาน อย่างตอนดึกๆเราก็รวมกลุ่มกันต้มมาม่าทาน หรือดูหนังรอบดึก เพราะอยู่ใกล้กับสยามสาวๆจะไปกันกลุ่มใหญ่ ถ้ากลับมาเลยเวลาเคอร์ฟิวต้องโดนอาจารย์เรียกมาตักเตือน สิ่งเหล่านี้สอนให้รู้ว่า การอยู่รวมกับคนหมู่มาก จะต้องมีระเบียบวินัย  เราไม่หลงระเริงกับแสงสีในสังคม เพราะชาวหอฯจัดกิจกรรมมากมายที่ช่วยส่งเสริมจริยธรรมและคุณธรรม กิจกรรมดีๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เรียกว่าหอเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มอบประสบการณ์ชีวิตให้เราเป็นอย่างดี และสอนให้รู้ว่า ความแตกต่างไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเป็นเพื่อน ไม่มีการแบ่งชนชั้น แบ่งพรรคแบ่งพวก ทุกคนเป็นพี่น้องกัน
สายสัมพันธ์ความเป็นพี่เป็นน้องอันเหนียวแน่นของชาว “ซีมะโด่ง” จะยังคงถักทอสายใยกันอย่างไม่สิ้นสุดในงาน “ซีมะโด่งดินแดนมหัศจรรย์” ภายใต้การนำของ “โยธิน ธารา-หิรัญโชติ” วันที่เสาร์ที่ 25 ม.ค.2557 เวลา 17.30 น. ณ บริเวณหอพักนิสิตซีมะโด่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

ทีมข่าวหน้าสตรี



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.