ความตายของอี-แม็กกาซีน โดย ศิริพงษ์ วิทยาวิโรจน์
 


ความตายของอี-แม็กกาซีน โดย ศิริพงษ์ วิทยาวิโรจน์


 ความตายของอี-แม็กกาซีน โดย ศิริพงษ์ วิทยาวิโรจน์




จั่วหัวเรื่องแบบนี้หลายคนอาจอุทานด้วยความแปลกใจว่า "อ้าว ยังไม่ทันได้เกิด ตายแล้วเหรอ"  เพราะจริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องอี-แม็กกาซีนเริ่มเป็นจริงเป็นจังมาพร้อมๆ กับการเกิดของแท็บเล็ต ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเคลิบเคลิ้มไปกับภาพของแม็กกาซีนกลายร่างไปอยู่ในนั้น มีแสงสีสันสวยงามแถมยังมีลักษณะอินเตอร์แอ๊กทีฟกับคนอ่าน และสะดวกทั้งการซื้อหาและการพกพา

ห้วงสามสี่ปีที่ผ่านมาแม็กกาซีนต่างๆ แห่แหนกันขึ้นไปให้เลือกอ่านบนแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ทั้งหัวเก่าหัวใหม่ บางฉบับก็ใส่ลูกเล่นเข้าไปแพรวพราว แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ออกมาหาที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จได้น้อยเต็มที

ยกตัวอย่างแม็กกาซีน Wired ที่อยู่คู่โลกไอทีมาโดดเด่นยาวนาน มีทั้งฉบับสิ่งพิมพ์ ฉบับเว็บไซต์ และอี-แม็กกาซีน ติดอันดับที่ 11 ของอี-แม็กกาซีนจากการสำรวจของ Alliance for Audited Media เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มียอดผู้สมัครสมาชิกร้อยละ 12 ของยอดจำหน่ายทั้งหมด แยกเป็นสมาชิกฉบับกระดาษประมาณ 8 แสน ฉบับดิจิตอลราว 1 แสนกว่า

นี่ขนาดจัดอยู่ในสุดยอด 25 อันดับยังทำได้แค่นี้?และยิ่งเมื่อไปเทียบกับยอดผู้เข้าชมผ่านเว็บไซต์จะเห็นว่ายิ่งเทียบกันไม่ติดเลยเพราะยอดเข้าเว็บของ Wired นั้นสูงถึงเกือบ 20 ล้านต่อเดือน

สัดส่วนของสมาชิกฉบับดิจิตอลของฉบับอื่นๆ ที่พอรู้จักกันก็ล้วนแต่ต่ำๆ ทั้งนั้น เช่น รีเดอร์ ไดเจสต์ ร้อยละ 6?คอสโมโพลิแทนต์ ร้อยละ 8 เนชั่นแนลจีออกราฟิก ร้อยละ 4?จีคิว ร้อยละ 10?วานิตี้ แฟร์ ร้อยละ 6?เดอะ นิวยอร์กเกอร์ ร้อยละ 7 มาร์ธาร์ สจวร์ต ลีฟวิ่ง ร้อยละ 4 พีเพิล ร้อยละ 2 เป็นต้น

สิ่งที่ทำให้อี-แม็กกาซีน ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่บนแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนนั้นมีแอพพลิเคชั่นอยู่มากมายมหาศาล แม็กกาซีนแต่ละฉบับก็เสมือนเข็มในมหาสมุทร ในขณะเดียวกันและเป็นประเด็นสำคัญก็คือพฤติกรรมของคนใช้งานที่วันๆ จะเปิดแอพพลิเคชั่นกันไม่กี่ตัว จากการศึกษาของ Flurry ในเดือนเมษายนพบว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนเปิดแอพพลิเคชั่นโดยเฉลี่ยเพียงวันละ 8 แอพพ์ โดยแอพพ์ยอดนิยมหนีไม่พ้นเฟซบุ๊ก ยูทูบ และแอพพ์เกมต่างๆ

นอกจากนั้นยังมีแอพพลิเคชั่นอีกประเภทหนึ่งที่คนนิยมใช้กันอาจจะเรียกว่าเป็นแอพพ์รวมเนื้อหา หรือแม็กกาซีน คิวเรเตอร์ เช่น ฟลิปบอร์ด, ไซต์ เป็นต้น แอพพลิเคชั่นพวกนี้รวมหรือเอาเนื้อหาประเภทต่างๆ จากสารพัดเว็บมาให้เราอ่านได้แทนอยู่แล้ว หลากหลายกว่า และเลือกแนวที่ชอบได้เองด้วย นี่ยังไม่นับว่ามีลิงก์ที่แชร์มาตามทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กอีกมากมายให้อ่าน

ทั้งหมดนี้ทำให้คนไม่เลือกที่จะเสียเงินจ่ายค่าสมาชิกอี-แม็กกาซีนให้เมื่อยตุ้ม

ขณะเดียวกันหากแม็กกาซีนเลือกที่จะเป็นแบบปิด กล่าวคือไม่เปิดให้สามารถแชร์เนื้อหาไปในโซเชียลมีเดียหรือแอพพ์ต่างๆ ได้ ผลลัพธ์ที่ย้อนกลับมาก็คือยิ่งไม่มีคนเข้าไปอ่านในเว็บอีก

ด้วยเหตุนี้จึงมีคนเชื่อว่าอี-แม็กกาซีนตายตั้งแต่ยังไม่เกิด เพราะการขึ้นไปเป็นแอพพ์หรือไปเป็นส่วนหนึ่งในแผงขายอี-แม็กกาซีนเท่านั้นไม่ เพียงพอให้ยืนหยัดอยู่ได้?เนื่องจากสภาวะแวดล้อมเป็นคนละแบบกับโลกทางกายภาพ?

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของแม็กกาซีนในต่างประเทศ ส่วนในเมืองไทยนั้นบอกตรงๆ ว่าไม่รู้เหมือนกัน สำหรับตัวเองให้คำตอบได้เพียงว่าแค่ Flipboard ตัวเดียวตอบโจทย์เกี่ยวกับแม็กกาซีน (รวมทั้งหนังสือพิมพ์ด้วย) ของผมได้หมดแล้ว

ที่เหลือก็แล้วแต่ใครจะแชร์มาบนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

 

 

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 23 ธ.ค.2556)


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.