ก.วิทย์โวต่างชาติแห่ใช้ห้องปฏิบัติการไทย ศึกษา แสงซินโครตรอน
 


ก.วิทย์โวต่างชาติแห่ใช้ห้องปฏิบัติการไทย ศึกษา แสงซินโครตรอน


ก.วิทย์โวต่างชาติแห่ใช้ห้องปฏิบัติการไทย ศึกษา แสงซินโครตรอน

"กระทรวงวิทย์" เล็งพัฒนาห้องปฏิบัติการแสงสยาม "สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน" หลังนักวิจัยต่างชาติตอบรับเทคโนโลยี เข้าใช้และศึกษาเกี่ยวกับแสงซินโครตรอนอย่างต่อเนื่อง…

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ห้องปฏิบัติการแสงสยาม ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งถือเป็นห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแห่งหนึ่ง ได้รับความสนใจจากนักวิจัยต่างชาติได้เข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยทางสถาบันฯ ได้เตรียมพัฒนาห้องปฏิบัติการดังกล่าวก้าวหน้าสู่สากล และรองรับนักวิจัยจากทั่วโลกอีกด้วย

ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า ห้องปฏิบัติการแสงสยามถือเป็นห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูง และมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบัันมีนักวิจัยต่างชาติเข้ามาใช้แสงซินโครตรอนอย่างมากมาย นอกจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทางสถาบันฯ ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงความสะดวกในการเข้าใช้บริการ และพร้อมพัฒนาสถาบันฯ ให้ก้าวเข้าสู่สากลเพื่อรองรับนักวิจัยจากทั่วโลกต่อไป

ดร.แวน ไท พาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vietnam Academy of Science and technology ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า หลังจากได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ACXAS 2013 ที่ผ่านมา จึงมีความสนใจที่จะศึกษาโครงสร้างและตำแหน่งของธาตุที่เติมเข้าไปว่าอยู่ในตำแหน่งไหน มีพันธะแบบใด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยเทคนิค XAS ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 8 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ครั้งนี้คาดว่าจะสามารถตอบโจทย์งานวิจัยของตนได้

ดร.คริสเตียน โมคาเว่ นักวิจัยจากสถาบัน European Synchrotron Radiation Facility (ESRF) ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า การมาใช้บริการแสงซินโครตรอน ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยามในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกซึ่งได้รับการชักชวนจากนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ เพื่อประยุกต์ใช้เทคนิค PES ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 3.2a และเทคนิค PEEM ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 3.2b ในการศึกษาภาพพื้นผิวและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในโครงสร้างหลายชั้นของพาลาเดียมบนโบรอนคาร์ไบด์สำหรับประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์ทัศนศาสตร์ในย่านรังสีเอกซ์ ซึ่งจากผลการทดลองจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้ทำให้ทราบถึงสาเหตุเบื้องต้นและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในงานวิจัยต่อไป

น.ส.ทาน ลวน ทู นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Hanoi University of Science and Technology ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า หลังจากได้เข้าร่วมค่ายอาเซียนครั้งที่ 2 ที่ผ่านมาและสนใจที่จะประยุกต์ใช้เทคนิค XAS ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 8 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม ในการศึกษาและแก้ปัญหางานวิจัยของตนที่ศึกษาเกี่ยวกับด้านวัสดุนาโน นอกจากผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจแล้ว ยังรู้สึกประทับใจการต้อนรับและการดูแลจากนักวิจัย เจ้าหน้าที่ประจำสถานีทดลอง ตลอดระยะเวลาที่ทำการทดลองอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.อิกมาร์ เพิร์สสัน จากมหาวิทยาลัย Swedish University of Agricultural Sciences ประเทศสวีเดน กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการเข้ามาใช้บริการแสงซินโครตรอน การมาครั้งนี้เป็นการศึกษาการพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์เชิงปริมาณของสารละลายฟอสฟอรัส โดยใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8 โดยผลการทดลองพบว่าสารละลายตัวอย่างที่นำมาวัดได้แสดงสเปกตรัมของฟอสฟอรัสอย่างชัดเจน เนื่องจากแสงซินโครตรอน ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยามอยู่ในช่วงพลังงานต่ำถึงปานกลาง ซึ่งเหมาะแก่การวัดธาตุฟอสฟอรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเทคนิคการวัดเชิงปริมาณ ทั้งนี้ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ "The sulfur K-edge XANES method for quantitative analysis of sulfur species in a range of natural matrices" ให้นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจได้รับฟังอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.พริสเซล จอร์จ จากสถาบัน Technische Universitaet Muenchen ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ตนได้ทำการทดลองด้วยเทคนิค XAS ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 8 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยามหลายครั้ง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 และได้พานักศึกษาปริญญาเอกมาร่วมทำการทดลองครั้งนี้ด้วยเพื่อศึกษาฟอสฟอรัสในชั้นดิน ผลการทดลองสามารถตอบโจทย์งานวิจัยได้เป็นอย่างดีสืบเนื่องจากเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมและทีมงานที่มีประสิทธิภาพทำให้ได้ผลการทดลองทุกครั้งเป็นที่น่าพอใจ.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.