ภาครัฐรับลูก G-SaaS เล็งเสริมระบบบริการ ปชช.ด้วยซอฟต์แวร์
 


ภาครัฐรับลูก G-SaaS เล็งเสริมระบบบริการ ปชช.ด้วยซอฟต์แวร์


ภาครัฐรับลูก G-SaaS เล็งเสริมระบบบริการ ปชช.ด้วยซอฟต์แวร์

หน่วยงานภาครัฐตบเท้ารับแนวคิด Government Software as a Service หรือ G-SaaS ตามนโยบายกระทรวงไอซีที ประกาศเข้มระบบอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ในงาน ITU World 2013 โวปีหน้าเห็นผล...

นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จากการที่ไอซีทีได้มอบหมายให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ อีจีเอ เร่งพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government โดยทิศทางล่าสุดจะเน้นการขับเคลื่อนโดยบูรณาการ 4 ด้าน คือ บุคลากร โดยจะสร้างบุคลากรที่รองรับเทคโนโลยีใหม่แบบ Software as a Service (SaaS) ให้มากขึ้น 2.ระบบข้อมูลของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยระบบ National GIS หรือระบบแผนที่ภูมิศาสตร์ทั้งระบบ , National Electronic Registration System (NERS) หรือระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของไทย , ระบบ National Knowledge Management หรือคลังความรู้แห่งชาติ และระบบ National MIS (Management Information System) หรือระบบสารสนเทศแห่งชาติ โดยทุกระบบจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ในอนาคต 3. ระบบฮาร์ดแวร์ ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนบูรณาการระบบทั้งหมด ทั้งยังต้องรองรับโครงการใหม่ ๆ อย่าง Government Data Center หรือ GDC ที่จะกลายเป็นส่วนกลางดูแลทั้งระบบฐานข้อมูลและแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกัน รวมถึงระบบ Government Communication Center (GCC) หรือระบบสื่อสารกลางของภาครัฐที่จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4. ระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งในปีนี้จะมีการผลักดันให้เกิด Smart Country Technology (SCT) ที่จะนำซอฟต์แวร์ลงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง

นอกจากนี้ กระทรวงไอซีทียังเดินหน้าและพัฒนาเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (GIN) ซึ่งทำให้เครือข่ายของ e-Government ภายในประเทศครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานอย่างบูรณาการ โดยปัจจุบัน GIN มีการเชื่องโยงหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 หน่วยงาน รวมถึงการให้บริการระบบคลาวน์คอมพิวติ้งภาครัฐมากกว่า 130 ระบบ พัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานของภาครัฐให้ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้ ซึ่งมีบริการเสริมด้านต่าง ๆ บนคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ภาครัฐ และมีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐโดยจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้านอีกด้วย

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ อีจีเอ กล่าวว่า ในงาน ITU Telecom World 2013 ในครั้งนี้บูธรัฐบาลไทยจะอยู่ภายใต้แนวคิด Thai Government Software as a Service เนื่องจากระบบ ไอทีภาครัฐกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน จากยุคที่ใช้ระบบไอทีเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในหน่วยงานตนเองสู่การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยต้องสามารถเข้าถึงได้ด้วยอุปกรณ์ที่หลากหลายและไม่มีการปิดกั้น โดยที่ผ่านมา อีจีเอ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานกลางให้ระบบ Government Software as a Service (G-SaaS) โดยมีการเปิดบริการประเภท Infrastructure as a service (G-IaaS) หรือพวกโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบ ฐานข้อมูล และอื่น ๆ ตามด้วย Platform as a service (G-PaaS) ที่เกี่ยวพันกับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐยอมรับได้ในระดับหนึ่งแล้ว ในปัจจุบัน ยังได้เดินหน้าดำเนินการต่อในเรื่อง Software as a service (G-SaaS) หรือบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐที่จะเป็นทางเลือกให้กับหน่วยงานภาครัฐให้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานผ่าน Government Cloud Service (G-Cloud) เชื่อมต่อกับโครงสร้างบริการอื่นที่มีอยู่ใน GIN ของอีจีเอโดยทุกอย่างอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานของโปรแกรม ข้อมูล และเครือข่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยังเป็นการให้บริการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ

ผู้อำนวยการ อีจีเอ กล่าวอีกว่า แนวทางใหม่ที่เกิดขึ้นจากนี้ อีจีเอจะผลักดันให้ภาครัฐนำระบบ SaaS มาให้บริการแก่ภาคประชาชน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลหรือยอมให้ใช้โครงสร้างส่วนกลางบางอย่าง เพื่อให้นักพัฒนาเอกชนสามารถเข้าถึง และต่อยอดสู่การสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ให้ประชาชนได้ใช้งาน ทั้งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ต ซึ่งการผลักดันดังกล่าวจะเริ่มเห็นผลในปี 2557

นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า จังหวัดนครนายกได้จัดทำโครงการจังหวัดอัจฉริยะหรือ Smart Province เป็นเวลา 2 ปี และยังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อนำร่องการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็น Smart Country ในการให้บริการของภาครัฐโดยใช้ไอซีที เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของจังหวัดและภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ขณะนี้ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ ภาคการศึกษา อำเภอ และได้เริ่มดำเนินการจนใช้งานได้จริงแล้ว ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการใช้บริการที่ต้องติดต่อภาคราชการ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถทำธุรกรรมหรือขั้นตอนทางราชการต่าง ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบ One Stop Service

นายวิเชียร ชิดชนกนารถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการปกครองได้อนุญาตให้ส่วนราชการต่าง ๆ เชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางจำนวน 103 หน่วยงาน ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณการใช้งานจากการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรกรมการปกครองมากกว่าปีละ 100 ล้านรายการ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น นอกจากนี้กรมการปกครองยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ อาทิ แอพพลิเคชั่นด้านการตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประชาชน , การนำบัตรประชาชนอัจฉริยะ หรือ Smart Card ไปใช้ในบริการภาครัฐอื่นๆ , การแสดง Pin Code ที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อยืนยันตัวตน , การนำเสนอภาพในเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกรมการปกครองและหน่วยงานอื่น ๆ ในอนาคต เป็นต้น

นายณันทพงศ์ เชิดชู ผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาบริการโดยใช้นวัตกรรมภายใต้แนวคิด Smart Service บริการคมนาคมแบบบูรณาการ อาทิ งานทะเบียนและภาษีรถ ซึ่งได้พัฒนากระบวนการการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งบริการรับชำระภาษีให้สามารถรับชำระได้ในจุดเดียว การรับชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต การรับชำระภาษีผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และโครงการพัฒนาการให้บริการด้านทะเบียนรถรูปแบบใหม่การให้บริการเลื่อนล้อต่อภาษี (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีรถ ณ ช่องทางพิเศษโดยไม่ต้องลงจากรถ รวมถึงโครงการออกหน่วยเคลื่อนที่รับชำระภาษีรถประจำปีที่ห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งชุมชนช็อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax) รับชำระภาษีรถผ่านห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 13 สาขา ที่เปิดให้บริการในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อสามารถอำนวยความสะดวกประชาชนชำระภาษีได้ในวันหยุด

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการทำงาน งานบริการ และระบบการขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับบริการในการพัฒนาให้เป็นระบบ e-Service พร้อมสร้างช่องทางการให้บริการเพื่อลดเวลาในการติดต่อกับหน่วยงานและสามารถเชื่อมโยงระบบงานฐานข้อมูลสำคัญระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ หรือ ภาครัฐกับภาคเอกชน รวมถึงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลสถิติภาพรวม (Integrated Database) เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบงาน ในการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลอีกด้วย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.