นักวิเคราะห์แนะรัฐเร่งปฏิรูปการบริหารสื่อ รับทีวีดิจิตอล
 


นักวิเคราะห์แนะรัฐเร่งปฏิรูปการบริหารสื่อ รับทีวีดิจิตอล


นักวิเคราะห์แนะรัฐเร่งปฏิรูปการบริหารสื่อ รับทีวีดิจิตอล

"ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน" ชี้การทำความเข้าใจกับประชาชน ต่อผลกระทบจาการเปลี่ยนสู่ระบบทีวีดิจิตอล ยังเป็นปัญหา จี้รัฐบาลให้ความสำคัญ พร้อมสร้างมาตรการควบคุมคุณภาพเนื้อหารายการ...

จากความคืบหน้าในการดำเนินการเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ จากระบบอะนาล็อกสู่ระบบดิจิตอลในประเทศไทยนั้น "ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน" องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัย ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการสื่อโทรทัศน์แบบบูรณาการ โดยมีเนื้อหาระบุว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยข้อมูลด้านการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมยื่นซองประมูล ทำให้การประมูลดิจิตอลทีวีในเมืองไทยเดินหน้าตามกำหนด และคาดว่าจะไม่มีการเลื่อน คือในช่วงกลางเดือน ธ.ค.ปีนี้ถึงเดือน ม.ค.ปีหน้า (30 วันนับจากอนุมัติรายชื่อผ่าน) ในระหว่างที่การจัดประมูลสัมปทานการถ่ายทอดของทางภาครัฐยังคงดำเนินต่อไป ทางภาคเอกชนก็มีข่าวออกมาเป็นระยะ ในเรื่องของการจัดระเบียบผังรายการและการแบ่งสรรปันส่วนของสปอนเซอร์โฆษณา

นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์ด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ให้ความเห็นว่า ประเด็นต่อไปที่มีความท้าทายต่อทุกฝ่ายคือ ผลกระทบของระบบดิจิตอลทีวีที่จะมีต่อผู้บริโภค กล่าวคือ ประเทศไทยมีโทรทัศน์ตั้งอยู่แทบทุกหลังคาเรือน แต่มีคนจำนวนน้อยที่ได้รับข้อมูลข่าวสารและคำชี้แจงในเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลรายละเอียดในเรื่องการเตรียมตัวให้กับผู้บริโภคนั้น ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ประเด็นที่ใกล้ตัวที่สุดเรื่องการเตรียมตัวของผู้บริโภค คือเครื่องรับโทรทัศน์ในบ้าน เนื่องจากจอโทรทัศน์ที่ใช้ในปัจจุบันนี้เป็นระบบอะนาล็อกแทบทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่จะมารองรับเพื่อให้จอโทรทัศน์แบบเดิมสามารถรับชมด้วยระบบดิจิตอลได้ คือ เซ็ตทอปบ็อกซ์ (Set Top Box) หรือกล่องแปลงสัญญาณ ที่จะแปลงสัญญาณดิจิตอลที่ใช้ถ่ายทอดให้เป็นสัญญาณอะนาล็อก ก่อนที่จะส่งเข้าเครื่องโทรทัศน์

"สิ่งที่ยังไม่ได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน คือจะทำให้กล่องแปลงสัญญาณนี้ไปอยู่กับโทรทัศน์ครบทุกเครื่อง หรือทำให้คนไทยเปลี่ยนมาใช้เครื่องโทรทัศน์ที่รองรับสัญญาณดิจิตอลก่อนปี 2563 ได้อย่างไร เพราะในปีนั้น เป็นเส้นตายที่จะยกเลิกออกอากาศด้วยสัญญาณอะนาล็อกอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะทาง กสทช.จะมีมติให้มีการแจกคูปอง 22 ล้านใบ เพื่อให้ประชาชนนำไปแลกซื้อเซ็ตทอปบ็อกซ์ แต่เมื่อเวลาดังกล่าวนั้นมาถึง หากประชาชนบางส่วนยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนระบบ อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเปลี่ยนถ่ายคลื่นสัญญาณ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา" นายธีระ กล่าว

นอกจากนี้ นายธีระ ยังให้ความเห็นเรื่องคุณภาพเนื้อหาและการออกใบอนุญาตว่า หากนับรวมช่องรายการโทรทัศน์ที่มีการเผยแพร่ออกอากาศแบบฟรีทีวี บ้านเรามีมากกว่า 300 ช่องให้เลือกรับชม ซึ่งรวมทั้งที่เป็นช่องรายการของไทยและช่องรายการจากต่างประเทศ โดยที่การควบคุมคุณภาพของรายการและความเหมาะสมต่อกลุ่มผู้ชมในแต่ละช่อง ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันความรับผิดชอบในการดูแลเนื้อหารายการที่ออกอากาศนั้น ยังเป็นหน้าที่ของทางช่องสัญญาณผู้ออกอากาศต้องเซ็นเซอร์รายการตัวเอง ซึ่งแม้ว่าจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เนื้อหาอันไม่เหมาะสมได้รับการออกอากาศสู่สาธารณะไปแล้ว

"ดังนั้น ถ้ามีการปฏิรูปการออกอากาศในระบบดิจิตอลแล้ว สิ่งที่น่าจะทำไปพร้อมกันคือ การปฏิรูปรูปแบบการบริหารจัดการสื่อโทรทัศน์แบบบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบอนุญาตจนถึงการดูแลเนื้อหาของสื่อ เพื่อความเหมาะสมและประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคชาวไทย" นักวิเคราะห์จากฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าว.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.