แนะ 8 มาตรการลุยปฏิรูปศึกษาสู่เส้นชัย
 


แนะ 8 มาตรการลุยปฏิรูปศึกษาสู่เส้นชัย


แนะ 8 มาตรการลุยปฏิรูปศึกษาสู่เส้นชัย

แนะ 8 มาตรการลุยปฏิรูปศึกษาสู่เส้นชัย ทุ่มงบฯถึงตัวเด็ก-คำนึงบริบทวัฒนธรรม ลดรวมศูนย์หนุนเครือข่ายครู...

จากเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 22 กรณีศึกษาตัวอย่างการปฏิรูปการศึกษาของเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และบราซิล จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการ สสค.กล่าวว่า เซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาตามระดับ แต่ยังคงติดปัญหาเรื่องคุณภาพที่แตกต่างกันระหว่างโรงเรียนในชนบทกับเมือง จึงเกิดมาตรการลดช่องว่างคุณภาพการศึกษา 2 มาตรการ คือ 1. สร้างเครือข่ายการพัฒนาโรงเรียนแบบทวิภาคี ด้วยการจับคู่โรงเรียนที่เข้มแข็งกับโรงเรียนที่อ่อนแอ และ 2. พัฒนาครูแบบประกบตัว ด้วยการจ้างทีมงานอาวุโสมากประสบการณ์เดินสายพัฒนาครูหน้าใหม่อย่างเข้มข้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า ประเทศบราซิลมีลักษณะที่คล้ายกับประเทศไทย คือมีคุณภาพทางการศึกษาค่อนข้างต่ำ การแก้ปัญหาบราซิลจึงลงทุนการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรัฐบาลกลางได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกโรงเรียนเพื่อติดตาม พัฒนาการเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา รวมทั้งอัตราการเข้าเรียนและการหลุดออกนอกระบบของนักเรียนทุกโรงเรียนเพื่อประเมินการทำงานของโรงเรียนและผู้อำนวยการทุก 2 ปี ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลท้องถิ่นให้รางวัลแก่สถานศึกษาที่มีคุณภาพสูง และให้งบประมาณพัฒนาการสถานศึกษาที่ประสบปัญหาด้านคุณภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ

ด้าน ศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จต้องดำเนินการ 8 ประการ คือ 1. จัดการศึกษาโดยคำนึงถึงบริบทและวัฒนธรรม อาศัยการมีส่วนร่วม 2. ทุ่มงบประมาณทรัพยากรให้ถึงตัวเด็ก 3. รัฐต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการปฏิรูปการศึกษา และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 4. รัฐต้องกระจายอำนาจ แสวงหาความร่วมมือในการดำเนินงานจากหน่วยงานภายนอก เพื่อเสริมพลังการทำงาน ลดการทำงานแบบรวมศูนย์ 5. ต้องมีมาตรการลดความ เหลื่อมล้ำ สนับสนุนให้ครูทำงานเป็นเครือข่าย 6. เน้นการจัดการที่หน้างาน ลดความเป็นระบบราชการ ผู้บริหารต้องเน้นพัฒนาหน้างานมากขึ้น และวิเคราะห์ปัญหาการสอนร่วมกัน โดยให้ครูช่วยกันแก้ปัญหา 7. การพัฒนาครูต้องสร้างกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเรียนการสอน และ 8. การพัฒนามาตรการหรือวิธีการใดๆต้องไปให้ถึงเด็กรายบุคคล เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.