กสท.ห่วงประมูลเอชดี หวั่นการเมืองแทรกทีวีดิจิตอล
 


กสท.ห่วงประมูลเอชดี หวั่นการเมืองแทรกทีวีดิจิตอล


กสท.ห่วงประมูลเอชดี หวั่นการเมืองแทรกทีวีดิจิตอล

กสท. หวั่นนอมินีการเมืองแฝงประมูลทีวีดิจิตอล กังวล 7 ช่องเอชดี ได้ฟรีใบอนุญาต เหตุ 2 บริษัท ไม่ใช่กลุ่มธุรกิจสื่อ โครงข่ายไม่ชัดเจน และออกอากาศคู่ขนาน...

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า จากรายชื่อผู้เข้าประมูลทีวีดิจิตอล จะเห็นได้ว่าบริษัทที่เข้าประมูลหลายรายโดยเฉพาะที่เข้าร่วมประมูลช่องความคมชัดสูง (เอชดี) ที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งคณะทำงานได้และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติให้ได้ภายในวันที่ 25 พ.ย.นี้ เพื่อให้สามารถเปิดประมูลได้ช่วงกลางเดือน ธ.ค.2556

ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีความกังวลการประมูลหลายเรื่อง อาทิ ช่องเอชดีหากมีบางบริษัทไม่เคาะราคา ก็จะทำให้เหมือนการให้ใบอนุญาตฟรีกับทั้ง 7 รายในประเภทนี้ หรือเคาะราคาเพียง 1-2 ครั้ง ก็อาจทำให้ราคาประมูลช่องความคมชัดมาตรฐาน (เอสดี) มีราคาสูงใกล้เคียงกับเอชดีได้ หรือการร่วมทุนระหว่างช่องเอชดี และเอสดี ที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ และเรื่องโครงข่ายที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งเรื่องการออกอากาศคู่ขนานระบบอะนาล็อก ของช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 ด้วย โดยจะเรียกผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมาพูดคุยก่อนถึงวันประมูลเร็วๆ นี้

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า ผู้เข้าประมูลทั้ง 29 ราย ไม่ว่าในช่องข่าว หรือช่องประเภทอื่น ชัดเจนว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนการเมืองแม้ว่าจะไม่ปรากฏในรายชื่อ ผู้ถือหุ้นก็ตาม ดังนั้น กสท. ต้องรอบคอบในเรื่องนี้อย่างมาก ไม่เช่นนั้น กสท.อาจโดนตรวจสอบภายหลัง

"กังวลและให้ความสำคัญในการตรวจสอบ คุณสมบัติผู้เข้าประมูลทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะในประเด็นผู้เข้าประมูลเป็นนอมินี หรือสายสัมพันธ์กับทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้การนำเสนอเนื้อหาค่อนข้างเอนเอียง โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังถึงจุดเปลี่ยน" นางสาวสุภิญญา กล่าว

ล่าสุด คณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าประมูล กำลังเร่งดำเนินการเพื่อประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติให้ทันภายในวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่มาก ก็อาจมีเวลาน้อยเกินไปในการตรวจสอบรายละเอียดเช่นกัน

กรรมการ กสท. กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำได้ลำบาก คือ กฎหมายกำหนดไว้เพียงห้ามนักการเมืองหรือผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ เห็นชัดเจนว่าช่องไหนเป็นของใคร พรรคใด และการที่ กสท. ยังไม่ได้เห็นผังรายการทั้งหมดเพราะยังไม่ได้ผู้ชนะ ก็เป็นจุดที่ทำให้ชี้ชัดเรื่องนี้ลำบาก แต่ กสท. ต้องรอบคอบให้มากที่สุด

น.ส.สุภิญญา กล่าวอีกว่า เป็นห่วงว่าการแข่งขันในช่องเอชดี จะไม่เกิดขึ้น หากผู้ประมูลหน้าใหม่ในวงการโทรทัศน์ 2 ราย ไม่เคาะราคาแข่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประมูลอีก 7 รายเหมือนได้รับใบอนุญาตฟรี เนื่องจากจำนวนช่องกับผู้ประมูลเท่ากัน

สำหรับ ผู้เข้าประมูลช่องเอชดี 9 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐ), บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7), บริษัท พีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ของนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3), บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์คพอยท์), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (ปราสาททองโอสถ) และ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.