จุดเปลี่ยนโทรทัศน์ไทย เปิดใจ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ก้าวข้ามสู่...ยุคดิจิตอล
 


จุดเปลี่ยนโทรทัศน์ไทย เปิดใจ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ก้าวข้ามสู่...ยุคดิจิตอล


จุดเปลี่ยนโทรทัศน์ไทย เปิดใจ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ก้าวข้ามสู่...ยุคดิจิตอล

นับถอยหลังอีกไม่เกิน 3 เดือน การเปิดประมูลเพื่อรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ครั้งแรกของประเทศไทย ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็จะเริ่มขึ้น

ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านระบบการรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศ จากระบบอนาล็อกซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่า 50 ปี สู่ระบบดิจิตอล ที่ทันสมัยและทรงประสิทธิภาพมากกว่า!!

ทันทีที่ กสทช.ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นซองเอกสารประมูลเมื่อวันที่ 28 -29 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา ทำให้การเดินหน้าสู่การเปิดประมูลและให้บริการทีวีดิจิตอล ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริง

ล่าสุด มีเอกชนยื่นเอกสารการประมูลทั้งสิ้น 29 บริษัท 41 ซอง แบ่งเป็นช่องรายการเด็กและเยาวชน 6 ซอง ช่องรายการข่าวสารและสาระ 10 ซอง ช่องรายการวาไรตี้ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (Standard Definition : SD-เอสดี) 16 ซอง และช่องรายการวาไรตี้ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (High Definition : HD-เอชดี) 9 ซอง

เมื่อ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะหัวเรือใหญ่การจัดประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการกำลังเดินหน้าไปอย่างราบรื่น ไร้รอยสะดุด

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงขอโอกาสเข้าพูดคุยกับเขา เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้า และตรวจเช็กความมั่นใจต่อการเดินหน้าสู่การประมูล ที่กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว....

การประมูลคืบหน้าเพียงใด

“ขณะนี้เราเดินหน้ามาเกินครึ่งทางกว่า 80% แล้ว กำหนดการประมูลยังอยู่ในกรอบเดิมคือในช่วงระหว่างกลางเดือน ธ.ค. ปีนี้ ถึง กลางเดือน ม.ค. ปีหน้า”

ตลอดช่วงที่ผ่านมา ผมยังมองไม่เห็นจุดอ่อน จุดด้อย ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข คงเป็นเพราะศึกษามาอย่างดี ออกแบบมาอย่างดี มีการศึกษาความต้องการตลาด ความอยู่รอดในทางธุรกิจ

ต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้ต้องการออกแบบการประมูลให้เกิดความแตกต่างระหว่างจำนวนผู้เข้าประมูลและใบอนุญาตมากนัก ต้องการเห็นรายใหญ่ มืออาชีพเข้ามาประมูล ซึ่งก็ได้เห็น นั่นเป็นที่มาที่ต้องขายซองที่ราคาซองละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ตัวจริงเข้ามา

ผมเคยบอกเอาไว้หลายครั้งว่า จะมีผู้เข้าประมูลราว 30 ราย พิจารณาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย ที่น่าจะสนใจทำโทรทัศน์ ผลปรากฏมีบริษัทเข้ามาซื้อซอง 33 ราย และเข้ามายื่นซอง 29 ราย ถือว่าใกล้เคียงกับที่ประเมินเอาไว้ นี่คือข้อพิสูจน์ซึ่งชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ประเมินใกล้เคียงกับความเป็นจริง

ขอเล่าย้อนหลังว่า เมื่อ 16 ก.พ. 2555 กสทช.ได้ประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบถึงกรอบนโยบาย แนวทาง การเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน ได้เตรียมความพร้อม รองรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้

เบื้องต้น ได้กำหนดช่องรายการไว้ทั้งหมด 48 ช่อง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ บริการชุมชน 12 ช่อง บริการสาธารณะ 12 ช่อง โดย 2 ประเภทจะเป็นการให้ใบอนุญาตแบบวิธีการคัดเลือก (Beauty Contest) ส่วนบริการทางธุรกิจ 24 ช่อง จะใช้วิธีประมูล ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.)

ทีวีดิจิตอลบริการธุรกิจ 24 ช่องนั้น ถือเป็นช่องที่สำคัญ เพราะจะเป็นฟรีทีวี ที่ 22 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยจะต้องได้รับชมอย่างเท่าเทียมกัน จากเดิมที่มีฟรีทีวีอยู่เพียง 6 ช่อง ถือเป็นธุรกิจผูกขาดและไม่หลากหลายเพียงพอ

24 ช่องธุรกิจที่จะนำออกประมูลนั้น แบ่งช่องรายการออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ช่อง, รายการข่าวสารและสาระ 7 ช่อง รายการวาไรตี้ทั่วไป เอสดี 7 ช่อง และรายการวาไรตี้ทั่วไป เอชดี 7 ช่อง

หากจะถามว่าตัวเลข 24 ช่องมาจากไหน มากไปจนทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันลำบากหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่าตัวเลข 24 มีที่มาที่ไป ก่อนที่จะได้ข้อสรุป เราทำการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีช่องรายการทางฟรีทีวี เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ออกอากาศในประเทศไทยทั้งสิ้น 800 ช่อง ในจำนวนดังกล่าวมีช่องที่ได้รับความนิยม (เรตติ้ง) มีคนดูในระดับ 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ราว 25 ช่อง นั่นเป็นที่มาของตัวเลข 24 ช่อง ซึ่งคิดว่าเป็นจำนวนช่องที่จะอยู่รอดในเชิงธุรกิจได้

ความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง

กสทช.ได้กำหนดกฎกติกาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ และหากมีการฟ้องร้อง ก็พร้อมที่จะชี้แจงทุกประเด็น เพราะการทำหน้าที่ของ กสทช.นอกจากจะทำตามกฎหมายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักด้วย

“ความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องก่อนหน้านี้ คือในกรณีของบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 กับบริษัทจันทร์ 25 จำกัด ซึ่งมีนางสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ถือหุ้นอยู่ในทั้ง 2 บริษัทในสัดส่วนที่เกิน 21% ซึ่งหากทั้ง 2 บริษัทเข้าประมูลช่องชนิดเดียวกัน ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูล และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องนั้น

ล่าสุด เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทางบริษัท จันทร์ 25 ได้ถอนตัวไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ นั่นคงเป็นเพราะได้กลับไปศึกษารายละเอียดและเงื่อนไข กติกา การเข้าร่วมประมูลเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ตัดสินใจเช่นนั้น ถือว่าได้สร้างความชัดเจนให้กับการประมูลในครั้งนี้”

ผู้ที่จะฟ้องร้องได้ ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง นั่นคือคนที่ยื่นซองเข้าประมูล ซึ่งขณะนี้มีทั้งสิ้น 29 ราย การฟ้องร้องกรณีนี้เกิดขึ้นได้ 2 อย่าง คือฟ้องให้เพิกถอนกฎ กติกา และฟ้องให้เพิกถอนคำสั่ง

กรณีกฎ กติกา เราคิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะออกกฎไปตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 ถ้าจะมีการฟ้องก็คงต้องฟ้องกันไปนานแล้ว อีกทั้งการวางกฎ กติกาทั้งหมดอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของรัฐ

ส่วนการเพิกถอนคำสั่งนั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีผู้ยื่นซองประมูล ที่ถูกตัดสิทธิว่าขาดคุณสมบัติ ฟ้องร้องศาลปกครอง ขอความคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว ให้ระงับการประมูลออกไปก่อน

แต่กรณีนี้จะกระทบต่อการเปิดประมูลในช่องนั้นๆเท่านั้น เช่น ผู้ฟ้องร้องเข้าประมูลช่องเอชดี ก็จะกระทบเฉพาะการเดินหน้าประมูลช่องเอชดี ช่องอื่นๆ ยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ

และเชื่อว่าหากมีกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้น จะยืดเยื้อเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น จากนั้นจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ใหม่หมดอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การประมูลอีกรอบ

จะมีเอกชนอยู่รอดกี่ราย

ผมเชื่อว่าจะอยู่รอดเกินครึ่ง ราว 3 ใน 4 ของ 24 ช่อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการนำเอาคลื่นย่านนี้ (600-700 MHz) มาประมูลให้บริการทีวีดิจิตอล

แต่ทุกมิติของกฎ กติกา เงื่อนไขมาประมูล ได้มาจากการศึกษา วิจัย เปรียบเทียบ ไม่ได้คิดขึ้นเอง อย่างราคาเริ่มต้นการประมูล ช่องเอชดี ที่ราคา 1,510 ล้านบาท ช่องเอสดี ที่ 380 ล้านบาท ช่องข่าว 220 ล้านบาท และช่องเด็ก ที่ 140 ล้านบาท นั้น เป็นราคาที่ประเมินจากการศึกษาใน 3 แนวทาง ได้แก่ หลักเศรษฐมิติ, รูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) ซึ่งได้จากการสอบถามผู้ประกอบการโทรทัศน์ในปัจจุบันและโอกาสทางธุรกิจ (Business Opportunity)

และราคาที่ประเมินได้จากการศึกษา 3 แนวทางดังกล่าวนั้น มีระดับไล่เลี่ยกัน บ่งชี้ว่าเป็นราคาเหมาะสมและอยู่ได้ในเชิงธุรกิจ อีกทั้งการชำระเงินค่าประมูลช่องรายการนั้น ก็กำหนดให้แบ่งเป็นงวดๆ ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ

ส่วนเรื่องค่าเช่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิตอล หรือ MUX นั้น ผมมองว่าไม่ได้เป็นต้นทุนที่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับเม็ดเงินโฆษณาที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจโทรทัศน์ที่ปีละ 80,000 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังเปรียบเทียบในกรณีของช่องไทยพีบีเอสและช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลปีละ 2,000 ล้านบาทและ 500 ล้านบาทตามลำดับ ทีวี 2 ช่องนี้สามารถอยู่ได้ แม้ไม่มีรายได้จากค่าโฆษณา ข้อมูลตรงนี้สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้พอสมควร

ขณะที่ช่องรายการบนทีวีดิจิตอล มีช่วงเวลาให้โฆษณาได้ชั่วโมงละ 10 นาที หรือ 87,600 นาทีต่อปี หากขายโฆษณาได้นาทีละ 20,000 บาท ผู้ประกอบการจะมีรายได้ราวปีละ 1,700 ล้านบาท คิดค่าเช่าโครงข่าย (ช่องเอชดีแพงที่สุดที่ปีละ 160 ล้านบาท) แล้ว ก็ยังมีเงินเหลือเป็นจำนวนมากในการบริหาร จัดการ ทั้งค่าบุคลากร คอนเท้นท์ (รายการ) ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าเม็ดเงินโฆษณาราว 80,000 ล้านบาทต่อปีนั้น เป็นเงินจากบริษัท 100 แห่งที่สามารถซื้อเวลาโฆษณาทางทีวี ซึ่งมีราคาสูงมาก บางช่วงเวลาสูงถึงนาทีละ 500,000 บาทได้

การเพิ่มช่องทีวี นอกจากจะเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้ชมแล้ว ยังจะทำให้เกิดการแข่งขัน ทำให้ค่าโฆษณาต่อนาทีลดลง คาดว่าจะทำให้บริษัทใหม่ๆ มากกว่า 500 บริษัท ที่เดิมไม่มีกำลังซื้อโฆษณาทางทีวี มีโอกาสมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเล็กๆหรือเอสเอ็มอี ได้เติบโต ขายสินค้าเข้าถึงสายตาผู้ชมโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นสื่อที่มีอิทธิพลและเข้าถึงคนในหมู่มากได้กว้างขวางที่สุด

“ที่ผู้ประกอบการต้องยอมรับก็คือ ช่องโทรทัศน์เดิมจะมีรายได้จากค่าโฆษณาลดลง เพราะมีการแข่งขันจากช่องใหม่ๆ แต่แน่นอนรายการที่ดี ย่อมได้รับความสนใจและจะประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ การประเมินว่าจะมีผู้อยู่รอด 4-5 รายนั้น ผมมองว่าเป็นการมองที่ลบมากเกินไป”

คนไทยจะได้ชมทีวีดิจิตอลเมื่อไร

ถ้าขั้นตอนการประมูลเดินหน้าตามกรอบที่วางเอาไว้ การออกอากาศจะเริ่มต้นภายในเดือน ก.พ.2557 หรือภายใน 30 วัน หลังพิธีรับมอบใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ
ในส่วนของผู้ชม การจะรับชมทีวีดิจิตอลได้นั้น ต้องติดตั้งกล่องรับสัญญาณเซ็ท ท็อป บ็อกซ์ (Set Top Box) ที่รองรับการออกอากาศในระบบดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 ซึ่ง กสทช.ได้อนุมัติให้มีการนำเข้า ผลิตเพื่อจำหน่ายแล้วกว่าร้อยรุ่น เช่นเดียวกับเครื่องโทรทัศน์ที่รองรับการออกอากาศในระบบดิจิตอล ที่มีการวางจำหน่ายแล้วมากกว่า 60 รุ่น

สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อเซ็ท ท็อป บ็อกซ์ รวมทั้งการซื้อโทรทัศน์ใหม่หากผู้ชมต้องการนั้น กสทช.จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในรูปแบบของคูปอง ราคาเบื้องต้นครัวเรือนละ 750 บาท ซึ่งได้จากเงินประมูลใบอนุญาตงวดแรกที่จะได้รับจากผู้ชนะการประมูลราว 7,500 ล้านบาท โดยจะเริ่มแจกในช่วงเดือน มี.ค.ปีหน้า

“การแจกคูปองจะเริ่มจากพื้นที่ที่โครงข่ายทีวีดิจิตอลเข้าถึง ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หัวเมืองใหญ่ ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จากครัวเรือนทั่วประเทศทั้งหมด 22 ล้านครัวเรือน โดยจะแจกคูปองทุกครัวเรือนภายใน 3 ปี”

ส่วนการออกอากาศนั้น ใครมีความพร้อมก่อน ก็ออกอากาศก่อนได้ ต้องไม่ลืมว่าการช่วงชิงความได้เปรียบ ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ยิ่งใครมีรายการดีๆมาออกอากาศก่อน ก็จะยิ่งได้เปรียบในการดึงดูดสายตาผู้ชม ผมเชื่อช่องทีวีดิจิตอลใหม่ จะเป็นโอกาสของแชมเปี้ยนคนใหม่

“ถ้าแชมป์เก่าไม่แข่งขัน ก็คงจะมีแชมป์ใหม่ที่พร้อมจะเข้ามารับตำแหน่งแทน การแข่งขันในครั้งนี้ ทุกอย่างอยู่ในมือผู้บริโภค ด้วย “รีโมต” เพียงอันเดียวเท่านั้น”

เช็กความพร้อม 11 เอกชนขาใหญ่  เปิดกระเป๋าทุนเศรษฐีร่วมประมูล

เพื่อนำเสนอความคิดเห็นให้เป็นไปอย่างรอบด้าน “ทีมเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งได้ตีพิมพ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ มานำเสนออีกครั้ง โดยคัดเลือกจากรายที่เข้าซื้อซองประมูลมากกว่า 2 ซองขึ้นไปและความสมัครใจในการให้ข้อมูล

การพูดคุยดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนการเข้าสู่ช่วง “งด” การแสดงความคิดเห็น (Silent Period) ของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการหลังกระบวนการยื่นซองประมูลเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 28–29 ต.ค.ที่ผ่านมา

ประวิทย์ มาลีนนท์
กรรมการบริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)

ผมมองว่าขณะนี้เป็นโอกาสของเราที่จะใช้ความแข็งแกร่งที่มีสร้างช่อง 3 ให้แข็งแรงที่สุด ก่อนหน้านี้เราวางพื้นฐานมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว จากนี้จะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยว เป็นโอกาสในช่วงที่สัมปทานยังเหลืออีก 7 ปี ขณะที่ช่องทีวีดิจิตอลจะเป็นช่องที่เราตีตั๋วจองไว้ก่อน รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ว่ากันตามจริง ช่อง 3 เพิ่งไปได้ดีในช่วง 10 ปีให้หลังนี้เอง และรายได้เติบโตมากขึ้นอย่างชัดเจน หลังเราเพิ่มรายการข่าวเข้ามา สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันจากนี้คือคอนเทนต์ (รายการ) ที่ดี ขณะที่เรื่องของเทคโนโลยีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เราจึงพร้อมเปิดรับพันธมิตรเสมอ เพราะคนทำรายการดีๆ มีไม่มาก

เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์
ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

ช่อง 9 พร้อมทุกด้าน ทั้งเงิน ทีมงาน และเนื้อหารายการ ทั้งที่ผลิตเองและร่วมกับพันธมิตร โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องติด 1 ใน 7 ของผู้ประมูลช่องเอชดีและเอสดี และต้องทำช่องให้ติดอันดับยอดนิยม 1 ใน 5 ช่องแรกด้วย

นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว อสมท ยังตั้งเป้าจะเป็นช่องแรกของประเทศที่ออกอากาศด้วยระบบดิจิตอล เพราะการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ดิจิตอลนั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการโทรทัศน์ ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมองเห็นความรุ่งเรือง

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

จากการประเมิน พบว่าน่าจะมีช่องที่อยู่รอดทางธุรกิจเพียง 5 ช่องเท่านั้น จากจำนวนช่องที่นำออกประมูล 24 ช่อง ที่เหลือคงแค่เสมอตัวและขาดทุน ตามโมเดลของแกรมมี่ช่องรายการที่สามารถขายโฆษณาได้นาทีละ 75,000 บาทขึ้นไปถือว่าอยู่รอด ส่วนที่ขายได้ระหว่างนาทีละ 50,000-75,000 บาท จะอยู่ในระดับพยุงตัว ส่วนที่ขายได้ต่ำกว่านาทีละ 50,000 บาทนั้น ขาดทุนแน่

สมพันธ์ จารุมิลินท
รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน)

ในช่วง 1-5 ปีแรกของการเริ่มต้นออกอากาศช่องดิจิตอล จะเป็นช่วงแห่งความยากลำบากของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายที่สายป่านไม่ยาว ทุนไม่หนาพอ เพราะรายได้โฆษณาต่อนาทีคงไม่สูงนัก ดังนั้นการจะดึงผู้ชมให้ได้มากที่สุดท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง แต่ละช่องต้องออกอากาศรายการที่ดีที่สุดตั้งแต่วันแรก เพื่อช่วงชิงสายตาคนดู

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย “ติ๋ม ทีวีพูล”
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด

เราอยู่ในธุรกิจทีวีมาระยะหนึ่งแล้ว มี 2 ช่องบนทีวีดาวเทียมและทำรายการให้ช่อง 5 และช่อง 9 ทำให้เรารู้ว่าการประมูลได้ช่องมา ไม่ยากเท่ากับการทำช่องให้ติด 1 ใน 5 ช่องที่มีเรตติ้งสูงที่สุด หากคุณไม่ติด 1 ใน 5 คุณจะขาดทุน เพราะเอเจนซี่โฆษณาจะมองแค่ 5 ช่องยอดนิยมเท่านั้น

ทรงศักดิ์ เปรมสุข
กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด

ปัจจุบันวอยซ์ทำช่องอยู่บนทีวีดาวเทียม ซึ่งเปรียบเหมือนกับการขายอาหารในซอย ขณะที่ช่องทีวีดิจิตอลซึ่งกำลังจะเปิดประมูลนั้น เปรียบได้กับศูนย์การค้า ซึี่งเราเชื่อว่าเราพร้อมแล้วที่จะขยับจากซอยไปขึ้นห้าง เราบอกได้ว่าพร้อมลงทุนและอยากได้แน่ๆ 1 ช่อง แม้ไม่กล้าการันตีว่าจะต้องได้ 100% เพราะเราจะไม่ใช้เงินเกินตัว

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม
ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิร์คพอยท์ จำกัด (มหาชน)

เวิร์คพอยท์ตั้งใจจะประมูลให้ได้ 1 ช่อง และเราจะยกช่องทีวีเวิร์คพอยท์ ซึ่งปัจจุบันออกอากาศอยู่บนทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลากหลายแพลตฟอร์ม ลงไปสู่ช่องทีวีดิจิตอลหากประมูลได้ใบอนุญาต จากประสบการณ์ ไม่ว่าจะมีช่องหรือไม่มีช่อง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจทั้งนั้น ถ้าไม่มีช่อง ก็ต้องมีชีวิตพึ่งพาเจ้าของช่อง สิ้นปีทีก็ไม่รู้ว่าเขาจะเขี่ยเราออกไหม ขณะที่การมีช่องก็ต้องใช้เงิน มีการลงทุน และรักษาน้ำใจพันธมิตร

ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

เรามีราคาในใจไว้แล้ว ซึ่งเป็นราคาที่เป็นไปได้ในทางธุรกิจ หากเกินกว่านั้น เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เราก็พร้อมปล่อย และขอเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์  (รายการ) ต่อไป ถือว่าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี  จากการประเมิน เชื่อว่าการแข่งขันจะรุนแรงไม่น้อย แต่จากประสบการณ์ที่ได้ทำช่องทีวีดาวเทียมมาระยะหนึ่ง พบว่าอมรินทร์ก็มีจุดแข็งเช่นกัน โดยเฉพาะรายการที่เกี่ยวกับบ้าน ซึ่งเชื่อว่าดีที่สุด นอกเหนือจากรายการยอดนิยมอื่นๆ เช่น รายการอาหาร ไลฟ์สไตล์

พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

อาร์เอส ณ ตอนนี้เราพร้อมที่สุดแล้วในการเข้าประมูล และจากการประเมินทุกอย่างที่เรามี เรามั่นใจว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เราจะประมูลได้ใบอนุญาตมาครอง เพราะปัจจุบันอาร์เอสทำช่องทีวีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงจะยกช่องที่ให้บริการบนทีวีดาวเทียมทุกแพลตฟอร์มในปัจจุบันไปใส่ไว้ในช่องดิจิตอลทั้งหมด  เราไม่ต้องการพันธมิตร เรามีกำลังในการทำช่องทีวีด้วยตัวของเราเอง และไม่รับจ้างผลิตให้ใคร เพราะทำช่องกำไร (มาร์จิ้น) สูงถึง 50%

สมประสงค์ บุญยะชัย
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรืออินทัช

การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการลงทุนแบบประมาณตน เพราะอินทัชไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น แม้จะเคยทำไอทีวีมาก่อน แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว และการที่เคยทำไอทีวีมาก่อน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ทำให้รอบคอบมากขึ้น

วัชร วัชรพล
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด

ในช่วงแรกของธุรกิจทีวี ผู้ประกอบการหน้าใหม่คงต้องเผชิญกับความยากลำบากพอตัวและกัดฟันรอให้พ้น 5 ปีขึ้นไป โดยขณะนี้ ทีมทีวีไทยรัฐได้เตรียมความพร้อมเกือบ 100% แล้ว เบื้องต้นกำหนดเนื้อหาข่าวและสาระเป็นหลักราว 50% เนื่องจากเป็นความถนัด ในฐานะที่เป็นผู้เข้าประมูลรายหนึ่ง ซึ่งคู่แข่งเกรงขาม ไทยรัฐก็มีความกลัวเช่นกัน จากความกดดันที่ได้รับ ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็น“ไทยรัฐ” และการต้องฟันฝ่าทำในสิ่งที่ยากและไม่เคยทำ.

 

 

ทีมเศรษฐกิจ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.