• ปฏิบัติการล้วงตับพันธมิตร • เรื่องใหญ่แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่
 


• ปฏิบัติการล้วงตับพันธมิตร • เรื่องใหญ่แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่


• ปฏิบัติการล้วงตับพันธมิตร • เรื่องใหญ่แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่

•  ศูนย์จารกรรม-ภาพมุมสูงของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ที่เมืองฟอร์ต มีด รัฐแมรีแลนด์ ซึ่งตกเป็นข่าวอื้อฉาวรอบใหม่ หลังถูกนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (ภาพเล็ก) แฉว่าลอบสอดแนมรัฐบาลและผู้นำ 35 ประเทศทั่วโลก (เอพี-เอเอฟพี)

“ศัตรูตัวแสบ” ที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯอ่วมกระอักที่สุดในเวลานี้

คงหนีไม่พ้นนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตช่างเทคนิคของ “ซีไอเอ” และอดีตพนักงานบริษัทคู่สัญญาของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ซึ่งลอบนำข้อมูลลับของสหรัฐฯออกมาเผยแพร่ จนถูกตามไล่ล่า ต้องหนีไปลี้ภัยในรัสเซีย

ตั้งแต่เดือน มิ.ย. สโนว์เดน หนุ่มอเมริกันวัย 29 ปี เริ่มแฉว่า เอ็นเอสเอลอบสอดแนมข้อมูลการใช้โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ทั้งของชาวอเมริกันและต่างชาติชนิดมโหฬารบานตะไท ภายใต้โครงการลับ “ปริซึม” โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย

จากนั้นเขาก็ “ปล่อยของ” ผ่านหนังสือพิมพ์ในประเทศต่างๆเป็นระยะๆ รวมทั้งแฉว่าเอ็นเอสเอสอดแนมการติดต่อสื่อสารของนักการทูตต่างชาติ รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) สหประชาชาติ (ยูเอ็น) พลเรือนในฮ่องกงและจีน ไปจนถึงผู้นำต่างชาติ อาทิ ประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟ แห่งบราซิล ประธานาธิบดีเอนริเก เปญา นิเอโต และอดีตประธานาธิบดีเฟลิเป คาลเดรอน แห่งเม็กซิโก

ยัวะนะ-นางแองเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี และนายฟรองซัวส์ โอลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หารือกันก่อนเข้าประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยเรื่องสหรัฐฯ สอดแนมผู้นำหลายชาติ รวมทั้งดักฟังโทรศัพท์ของนางแมร์เคิล บดบังประเด็นอื่นๆ (เอพี)

ยัวะนะ-นางแองเกลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมนี และนายฟรองซัวส์ โอลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หารือกันก่อนเข้าประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยเรื่องสหรัฐฯ สอดแนมผู้นำหลายชาติ รวมทั้งดักฟังโทรศัพท์ของนางแมร์เคิล บดบังประเด็นอื่นๆ (เอพี)

ล่าสุด สโนว์เดนแฉว่า เอ็นเอสเอลอบดักฟังโทรศัพท์พลเรือนฝรั่งเศสกว่า 70.3 ล้านครั้ง และดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำต่างชาติอย่างน้อย 35 ประเทศ โดยหลายหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯเป็นผู้จัดหาข้อมูลให้ รวมถึงของนางแองเกลา แมร์เคิล นายกฯเยอรมนี ผู้ทรงอำนาจ ทำให้ผู้นำเหล่านี้ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ โกรธจนควันออกหู

นางรูสเซฟถึงขั้นยกเลิกการเดินทางเยือนสหรัฐฯ และด่าสหรัฐฯในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ส่วนประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลองด์ ของฝรั่งเศส และนางแมร์เคิล ข้องใจหนัก ต่อโทรศัพท์สายตรงถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อต่อว่าและขอคำชี้แจง แต่ก็ได้รับคำตอบไม่เคลียร์

ในรายแมร์เคิล โอบามาเล่นลิ้นตอบว่า ปัจจุบันสหรัฐฯไม่ได้ดักฟังโทรศัพท์ของแมร์เคิล และอนาคตจะไม่ทำ แต่ไม่ยอมบอกว่าในอดีตเคยทำหรือไม่ ส่วนโฆษกรัฐบาลสหรัฐฯและเอ็นเอสเอ ก็แก้ตัวไปข้างๆคูๆ

แมร์เคิลปกติสุขุมนุ่มลึก ไม่แสดงอารมณ์ให้ใครเห็นง่ายๆ แต่งานนี้ตบะแตก บอกว่าการกระทำของสหรัฐฯ ทำลายความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน เธอและโอลองด์ยังต้องการนัดเจรจาเคลียร์ปัญหานี้กับสหรัฐฯให้จบภายในปีนี้ ซึ่งอาจมีการทำกรอบข้อตกลงเรื่องการหาข่าวกรองกันใหม่ ไม่ให้ล้ำเส้นจนทุเรศอย่างนี้

การเปิดโปงล่าสุดของสโนว์เดน ทำให้ภาพลักษณ์ของโอบามาเสื่อมทรามลงทันตาเห็น จากเดิมที่เคยถูกมองว่าเป็น “ฮีโร” ผู้กอบกู้ความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างสหรัฐฯกับชาติพันธมิตรยุโรป สมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งชอบลุยเดี่ยวต่อสู้ผู้ก่อการร้ายโดยไม่ฟังเสียงใคร

ห้วงเพลานี้ คนยุโรปมองว่าโอบามาก็ไม่ต่างจากบุช หรืออาจเลวร้ายยิ่งกว่า!

นอกจากนี้  ผู้นำต่างชาติหลายคนที่กำลังป้อแป้ เช่นนายโอลองด์ นางรูสเซฟ และนายนิเอโต ก็ฉวยจังหวะดึงเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมืองภายใน เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวและดึงคะแนนนิยมให้ตัวเอง

จริงๆแล้ว แม้ยุค “สงครามเย็น” ระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียตจะยุติลง แต่การจารกรรมในหมู่ชาติมหาอำนาจยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น

ยุคนี้นอกจากจะหาข่าวกรองเพื่อผลด้านความมั่นคง การเมือง และต่อสู้การก่อการร้ายแล้ว ยังทำเพื่อชิงความได้เปรียบและผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และอื่นๆด้วย ดังนั้น แม้จะเป็นพันธมิตร ก็จำเป็นต้องล้วงตับไตไส้พุงกันเอง ซึ่งวงการข่าวกรองทั่วโลกก็รู้กันดี

ยกตัวอย่างเยอรมนี แม้จะเป็นพันธมิตรใกล้ชิด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นพ้องต้องกันกับสหรัฐฯไปซะทั้งหมด การตัดสินใจบางอย่างของนางแมร์เคิล อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อนโยบายต่างประเทศ กลาโหม และเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ การรู้ข้อมูลสำคัญล่วงหน้า จึงจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง

พรรคคริสเตียน เดโมแครต สายขวา-กลาง ของนางแมร์เคิล เพิ่งชนะเลือกตั้ง และกำลังอยู่ในระหว่างวิ่งเต้นทาบทามพรรคอื่นๆให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคที่เธอเลือกเข้ามา อาจมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายทางการเมืองของเยอรมนีให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่น เช่นนโยบายความร่วมมือกับสหรัฐฯในการต่อต้านการก่อการร้าย หรือนโยบายของเยอรมนีที่มีต่อกองกำลัง “นาโต” ในอัฟกานิสถาน

ประเทศอื่นๆนอกเหนือจากสหรัฐฯและรัสเซีย ก็ล้วนมีโครงข่ายสอดแนมกันแทบทั้งนั้น เพียงแต่ไม่มีเทคโนโลยีล้ำยุคหรืองบประมาณมหาศาลเหมือนสหรัฐฯ ซึ่งเป็น “ตำรวจโลก” เท่านั้น

จากข้อมูลของสโนว์เดนอีกนั่นแหละ งบประมาณของเอ็นเอสเอสหรัฐฯ ประจำปี 2556 นี้สูงถึง 10,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 234,000 ล้านบาท) ! รองลงมาคือหน่วยงานจารกรรม “ศูนย์บัญชาการติดต่อสื่อสารแห่งรัฐบาล” (จีซีเอชคิว-GCHQ) ของอังกฤษ ซึ่งทำงานร่วมกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด

ส่วน “อิสราเอล” พันธมิตรสนิทของสหรัฐฯ ก็มีทั้งหน่วยงานข่าวกรองและต่อต้านข่าวกรองที่เข้มแข็งมาก บ่อยครั้งที่สหรัฐฯและอิสราเอลล้วง

ตับกันเอง เพื่อให้รู้เขารู้เรา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สายลับและนักการทูตสหรัฐฯที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลจะถูกดักฟังโทรศัพท์ หรือถูกดักฟังการสนทนาในที่สาธารณะ

แม้แต่หัวหน้าหน่วย “ซีไอเอ” (สำนักงานข่าวกรองกลาง) ของสหรัฐฯในอิสราเอล ยังถูกสายลับอิสราเอลบุกเข้าจารกรรมถึงในบ้านพักมาแล้ว

ดังนั้น การล้วงตับระหว่างศัตรูหรือในหมู่มิตรด้วยกันเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่จะอื้อฉาวส่งผลกระทบยาวเหยียดขึ้นมาทันทีเมื่อถูกเปิดโปง!!!


บวร โทศรีแก้ว



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.