ยอดป่วยเบาหวานพุ่ง 3.5 ล้านคน แนวโน้มพบในเด็กเพิ่มขึ้น
 


ยอดป่วยเบาหวานพุ่ง 3.5 ล้านคน แนวโน้มพบในเด็กเพิ่มขึ้น


ยอดป่วยเบาหวานพุ่ง 3.5 ล้านคน แนวโน้มพบในเด็กเพิ่มขึ้น

สธ.ร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ และศูนย์เบาหวานศิริราช จัดกิจกรรมรณรงค์งานวันเบาหวานโลก 2556 พร้อมกันทั่วประเทศ เผยพบผู้ป่วยเบาหวานในไทยแล้วกว่า 3.5 ล้านคน เกือบร้อยละ 70 คุมน้ำตาลไม่ได้ ทำให้ค่ารักษาพุ่งสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่า 371 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 552 ล้านคน ในอีก 17 ปี...

วันที่ 30 ต.ค. 56 นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวการจัดกิจกรรม เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย.ของทุกปี โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นการรณรงค์วันเบาหวานโลก ประจำปี 2552–2556 คือ การให้ความรู้และการป้องกันโรคเบาหวาน (Diabetes Education and Prevention)” ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย จึงได้กำหนดคำขวัญรณรงค์ว่า พิทักษ์อนาคตไทย พ้นภัยเบาหวาน (Diabetes: Protect Our Future) โดยเน้นการให้ความรู้ การสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไป ให้เพิ่มความตระหนักในการป้องกันโรคเบาหวาน

ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเป็นภัยเงียบของคนไทยและทั่วโลก สหพันธ์เบาหวานนานาชาติรายงานล่าสุด พบทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 371 ล้านคน จำนวนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดในปี พ.ศ.2573 จะมีมากถึง 552 ล้านคน โดยร้อยละ 80 อยู่ในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา ในส่วนของไทย ผลการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศครั้งล่าสุด เมื่อปี 2552 พบคนไทยป่วยโรคเบาหวานกว่า 3.5 ล้านคน เสียชีวิตจากเบาหวานเฉลี่ยปีละเกือบ 8,000 ราย แนวโน้มพบในเด็กมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้เด็กไทยเผชิญความอ้วนและกินหวานมากขึ้น หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีพอ คาดว่าในอีก ปีข้างหน้า ไทยจะพบผู้ป่วยถึง 4.7 ล้านราย

ทั้งนี้ ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1 ใน 3 หรือประมาณ 1.2 ล้านคน ไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากไม่เคยได้รับการตรวจวินิจฉัยมาก่อน และผู้ป่วยบางส่วนรู้ตัวแล้ว แต่ไม่รักษา มีผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพียงร้อยละ 29 อีกประมาณร้อยละ 70 คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ เกิดโรคแทรกซ้อน ทั้งโรคหัวใจ เท้าเน่า ไตวาย แต่ละปีมีค่าดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 47,596 ล้านบาท จึงต้องเร่งควบคุมป้องกัน ลดจำนวนคนป่วย

โดยในปี 2557 นี้ จะเน้นให้สถานบริการทั่วประเทศ ตรวจคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ให้ได้รับความรู้และคำปรึกษาที่ถูกต้องในการดูแลตัวเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ไม่ให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน รวมถึงค้นหาผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานแล้ว ให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 เน้นปฏิบัติตัว 3 เรื่อง คือควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และการใช้ยาควบคุมอาการ โดยจะมีการตรวจเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน เช่น ตาบอดจากเบาหวานขึ้นตา ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันเบาหวานโลกปีนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ร่วมมือกับโรงเรียน วัด ชุมชน และท้องถิ่น จัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ในวันที่ 14 พ.ย. 56 พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ถึงอันตรายและผลกระทบอันร้ายแรงของโรคเบาหวาน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค การป้องกันและชะลอการเกิดโรค และตระหนักว่าทุกคนมีโอกาสเป็นเบาหวานหากยังกินหวานจัด ปล่อยตัวให้อ้วน ไม่ออกกำลังกาย และดื่มเหล้าจัด สำหรับผู้ป่วยเบาหวานจะเน้นการให้ความรู้วิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และสัญญาณเตือนอันตรายต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ตรวจคัดกรองเบาหวานแก่ประชาชนทั่วไปที่ยังไม่เคยได้รับบริการและกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลที่เหมาะสมต่อไป

ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้ร่วมรณรงค์ให้สังคมไทยตระหนักถึงภัยคุกคามจากโรคเบาหวาน เพื่อให้คนไทยทุกคนรู้จักโรคนี้ และตระหนักถึงปัญหาและภัยของโรค มีความตื่นตัวการดูแลสุขภาพ รู้วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรค และในกรณีที่เป็นโรคเบาหวานแล้ว หากดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และควบคุมให้ได้ตามแผนการรักษาของแพทย์ จะช่วยลดอัตราความพิการ การเสียชีวิต สามารถใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไป

ส่วน พญ.สุภาวดี ลิขิตมาศกุล ประธานศูนย์เบาหวานศิริราช เปิดเผยว่า ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยร้อยละ 95 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดมาจากการกิน ขาดการออกกำลังกาย และพบเบาหวานที่เกิดมาจากกรรมพันธุ์ หรือเรียกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 พบได้ร้อยละ 4 ขณะนี้ผู้ป่วยที่รับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นกลุ่มอายุ 18 ปี หรือน้อยกว่า เกือบร้อยละ 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีสาเหตุเกิดจากเซลล์ตับอ่อนหยุดผลิตฮอร์โมนอินซูลิน พบมากในคนอายุน้อยกว่า 25 ปี ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเบาหวานเฉียบพลัน มีภาวะเลือดเป็นกรด ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาการรุนแรง เมื่อแรกเริ่มเป็น ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.