ก.ทรัพย์ฯ ดีเดย์เปิดอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด 1 พ.ย.นี้
 


ก.ทรัพย์ฯ ดีเดย์เปิดอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด 1 พ.ย.นี้


ก.ทรัพย์ฯ ดีเดย์เปิดอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด 1 พ.ย.นี้

ดีเดย์เปิดอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด 1 พ.ย.นี้ หลังพบคุณภาพน้ำทะเลได้เกณฑ์มาตรฐาน พร้อมแล้วต้อนรับฤดูการท่องเที่ยว ...

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 เวลา 10.00 น. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศเปิดให้บริการอ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ต้อนรับฤดูการท่องเที่ยว หลังจากตรวจสอบค่าน้ำทะเลทุกหาดกลับสู่สภาวะปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการนันทนาการ พร้อมเปิดเผยแผนแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามประเมินผลต่อเนื่องอีก 1 ปี สร้างความมั่นใจการกำกับ ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออ่าวพร้าว อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และปิดพื้นที่อ่าวพร้าว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้สังกัดกระทรวงฯ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ ติดตามสถานการณ์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามประเมินสถานการณ์ แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน (กรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง)” เข้าดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน

นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษ ถึงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและค่ามาตรฐานต่าง ๆ อาทิ ค่าสารปรอท ค่าโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ค่าโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (TPH)  บริเวณรอบเกาะเสม็ด จำนวน 12 หาด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงปัจจุบัน พบว่า ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา ค่าน้ำทะเลที่อ่าวพร้าวและทุกหาดรอบเกาะเสม็ด กลับคืนสู่สภาวะปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อการนันทนาการทั้งหมดแล้ว เช่น มีค่า TPH ต่ำกว่า 1 ไมโครกรัมต่อลิตร และมีค่าปรอทต่ำกว่า 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร เป็นต้น

“บริเวณชายหาดและหินตลอดแนวชายหาด สัตว์ทะเล บริเวณอ่าวพร้าวในวันนี้ อยู่ในสภาพดี มีความสวยงาม ปะการังมีการฟื้นตัวดีขึ้น พบหอยเม่นทะเลจิ๋วใต้ทะเล และพบหอย ปูลม ปลาตัวเล็ก กลับมาอาศัยบริเวณชายหาด หาดหินอีกด้วย ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางธรรมชาติ ได้กลับคืนสู่สภาพปกติ  และในนามของกระทรวงฯ ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูอ่าวพร้าว-เกาะเสม็ด ให้กลับมาสวยงามดังเช่นวันนี้” นายอุดม กล่าวทิ้งท้าย

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามประเมินสถานการณ์ แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน (กรณีท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง)” เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์  ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมและกำหนดกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ อีกจำนวน 2 ชุดเพื่อจัดทำ “แผนงานแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน จังหวัดระยอง” ตามแนวทางในคู่มือการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน ของกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ.2544 โดยอ้างอิงข้อมูลวิชาการและการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากกรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนำเสนอแผนงานดังกล่าวต่อ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การฟื้นฟูผลกระทบต่อระบบนิเวศ ได้แก่ โครงการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ปะการัง และย้ายปลูก เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบจากสานการณ์น้ำมันรั่วไหลในพื้นที่เกาะเสม็ด

2. การฟื้นฟูผลกระทบต่อการบริการของระบบนิเวศ ได้แก่ โครงการจัดวางปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำนำและฟื้นฟูสัตว์ทะเลในพื้นที่เกาะเสม็ดและอ่าวระยอง

3. การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเกาะเสม็ด อาทิ การจัดการขยะ การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย การออกแบบและควบคุมปริมาณสิ่งก่อสร้างให้มีความเหมาะสม โครงการติดตั้งทุ่นและซ่อมแซมบำรุงรักษาทุ่นในแนวปะการังและทุ่มแนวกรอบเล่นน้ำในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเกาะเสม็ด เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีแผนงานการติดตามและประเมินผลกระทบของน้ำมันต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสมุทรศาสตร์ แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล หาดหิน/หาดทราย ป่าชายเลน สัตว์ทะเลหายาก และมลพิษ ที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลา 1 ปี     

นายโชติ กล่าวในช่วงท้ายว่า เมื่อผลการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมของอ่าวพร้าว และทุกอ่าวรอบเกาะเสม็ดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจนเป็นที่มั่นใจแล้ว กระทรวงฯ จึงเห็นควรที่จะเปิดบริเวณพื้นที่อ่าวพร้าว อุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อไป.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.