ธรรมะจากสมเด็จพระสังฆราช คู่มือในการดำเนินชีวิต
 


ธรรมะจากสมเด็จพระสังฆราช คู่มือในการดำเนินชีวิต


ธรรมะจากสมเด็จพระสังฆราช คู่มือในการดำเนินชีวิต

แม้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจที่ทรงดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ ที่ทรงมีส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังประเทศต่างๆ ด้านสาธารณูปการ ด้านพระนิพนธ์ ตลอดจนหลักธรรมคำสอนต่างๆ ที่ประทานแก่ปวงชนชาวไทย จะยังถูกรำลึกอยู่ในหัวใจคนไทยตลอดไป ในฐานะ “ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา”

ดังเช่นในวันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2556 สมเด็จทรงประทานวรธรรมคติให้แก่ชาวพุทธ นำพระรัตนตรัยให้เป็นที่พึ่งของจิตใจ ไม่ใช่เพียงกราบไหว้ขอพร

เมื่ออภิลักขิตกาลเช่นนี้เวียนมาถึง ควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จักได้น้อมใจรำลึกถึงพระรัตนตรัย พร้อมทั้งสำรวจตรวจสอบดูใจของตนเองว่า ได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งแท้จริงแค่ไหนเพียงไร

อันการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนานั้น มิใช่ถึงโดยการกราบไหว้อ้อนวอน หรือถึงโดยการอธิษฐานขอพรให้พระรัตนตรัยมาช่วยปกป้องรักษา เพื่อที่ตนจะได้มีชีวิตอย่างปลอดภัยเป็นสุข แต่การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างแท้จริงนั้น คือ การศึกษาเรียนรู้พระรัตนตรัยให้เข้าใจแจ่มชัดแล้วน้อมนำเอาความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นแบบอย่าง มาเป็นหลักเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมถูกต้อง อันจะทำให้ได้ชื่อว่านับถือและบูชาพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ด้วยทั้งพระรัตนตรัยก็จะปกป้องคุ้มครองมิให้ตกไปสู่ความชั่ว โดยไม่ต้องอธิษฐานอ้อนวอน”

นอกจากนี้ในหนังสือ “100 คำสอน สมเด็จพระสังฆราช” ยังได้มีการคัดเลือกพระศาสนธรรมสำคัญๆ ที่สมเด็จทรงนิพนธ์ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย กล่อมเกลาจิตใจให้สงบเยือกเย็น เหมาะกับยุคสมัย ผู้อ่านทุกเพศทุกวัยสามารถนำหลักธรรมคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก...

“คติธรรมดาที่ไม่มีใครเกิดมาในโลกนี้ จะหนีไปให้พ้นได้ ก็คือ ความแก่ ความตาย แต่คนโดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างว่าไม่แก่ ไม่ตาย น่าที่จะรีบทำความดี แต่ก็ไม่ทำ กลับไปทำความชั่ว ก่อความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ต่างต้องเผชิญทุกข์เพราะกรรมที่ต่างก่อให้แก่กันอีกด้วย ฉะนั้นก็น่าจะนึกถึงความแก่ ความตายกันบ้าง เพื่อจะได้ลดความมัวเมา และทำความดี

“ในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญๆ ทุกฝ่ายของเยาวชน แต่ละคนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริงไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่างๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อแตกต่าง ต่างกันอยู่ว่า สำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้นยังเป็นผู้เยาว์ สติปัญญาจำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็ก และช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก

ทุกคนต้องการความสุข ความสบายใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็ยังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะใจยังมีความปรารถนาต้องการหรือความโลภนี้แหละอยู่เป็นอันมาก โดยที่ไม่พยายามทำให้ลดน้อยลงเห็นจะด้วยมิได้คิดให้ประจักษ์ในความจริงว่า ความโลภคือเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งนำให้ทุกข์ ให้เดือดร้อน ให้ไม่มีความสุข ความสบายใจกันอยู่อย่างมากทั่วไปในทุกวันนี้ แม้ทำสติพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ไม่ยากนัก

ในหนังสือ “ชีวิตนี้น้อยนัก” ที่สมเด็จทรงนิพนธ์ไว้ ซึ่งคำว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” หมายถึงชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนัก ท่านมุ่งให้เปรียบเทียบชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติอีกไม่ถ้วนเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา จะไม่สามารถนำพาจนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้ โดยในหนังสือบางช่วงระบุว่า...

“ชีวิตนี้แม้น้อยนัก แต่ก็เป็นความสำคัญนัก สำคัญยิ่งกว่าชีวิตในอดีตและชีวิตในอนาคต ที่ว่าชีวิตนี้ คือชีวิตในชาติปัจจุบันนี้สำคัญ ก็เพราะในชีวิตนี้เราสามารถหนีกรรมไม่ดีที่ได้ทำไว้ในอดีตได้ และสามารถเตรียมสร้างชีวิตในอนาคตไว้ดีเลิศเพียงใดก็ได้ หรือตกต่ำเพียงใดก็ได้ ชีวิตในอดีตล่วงเลยไปแล้ว ทำอะไรอีกไม่ได้ต่อไปแล้ว ชีวิตในอนาคตก็ยังไม่ถึง ยังทำอะไรไม่ได้ เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่าชีวิตนี้สำคัญนัก พึงใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ให้สมกับความสำคัญของชีวิตนี้”

นอกจากสมเด็จจะทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้จำนวนมาก ทั้งตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไปแล้ว ยังมีพระธรรมคำสอนและหลักธรรมอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนที่ทุกคนสามารถนำไปเป็นแนวคิด แนวปฏิบัติ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.