ทรัพยากรที่แลกมาด้วยเลือด...!
 


ทรัพยากรที่แลกมาด้วยเลือด...!


ทรัพยากรที่แลกมาด้วยเลือด...!

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก น่าจะเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา อย่างน้อยก็ในเอกสารทางการ ประเทศนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเพชร ทองคำ โคบอลต์ ทองแดง ดีบุก และแทนทาลัม ทว่า สงครามยืดเยื้อ กลับทำให้ที่นี่กลายเป็นประเทศยากจนและทนทุกข์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เหมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏ ทางตะวันออกของคองโกส่งวัตถุดิบป้อนธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และบริษัทอัญมณีรายใหญ่ที่สุดของโลก พร้อมกับสนับสนุนการก่อความไม่สงบไปในเวลาเดียวกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายภาพ หรือแม้แต่สร้อยคอทองคำของคุณ อาจมีส่วนเสี้ยวความเจ็บปวดของชาวคองโก เป็นส่วนประกอบอยู่ภายใน


เรื่องราวของ คองโก มีดังนี้ รัฐบาลในเมืองหลวงกินชาซาอ่อนแอและทุจริต ทำให้ประเทศกว้างใหญ่แห่งนี้ ผุพังตรงใจกลาง พื้นที่ตะวันออกอันห่างไกล กลายเป็นเขตอนาธิปไตย แบ่งสันปันส่วนกันในหมู่กบฏสารพัดกลุ่ม ซึ่งนำเงินจากการลอบค้าขายแร่มาซื้ออาวุธ กองทัพรัฐบาลก็มือไวใจอำมหิตไม่แพ้กัน คงไม่มีชนชาติใดในยุคหลังๆ ที่จะทนทุกข์หนักหนาสาหัสและยาวนานเช่นชาวคองโกอีกแล้ว จะมีที่ใดอีกที่ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายร้อยคน ถูกสังหารปีแล้วปีเล่า จะมีที่ใดอีกที่ผู้หญิงหลายแสนคนถูกข่มขืนโดยแทบไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว

การทำความเข้าใจว่า คองโกมาถึงจุดวิกฤตินี้ได้อย่างไร ต้องย้อนเวลากลับไปกว่าหนึ่งร้อยปีก่อน เมื่อกษัตริย์เลโอโปลด์ที่สองแห่งเบลเยียม ทรงยึดดินแดนกว้างใหญ่ใจกลางแอฟริกาแห่งนี้เป็นอาณานิคมส่วนพระองค์ ด้วยทรงปรารถนางาช้างและยางพารา เมื่อเบลเยียมให้เอกราชแก่คองโกอย่างฉับพลันทันใดในปี 1960 ก็เกิดการก่อกบฏขึ้นทันที ปูทางให้ทหารหนุ่มนาม โมบูตู เซเซ เซโก ก้าวขึ้นยึดอำนาจ โมบูตูปกครองประเทศอยู่นานถึง 32 ปี

ต่อมาเมื่อโมบูตูหมดอำนาจลง คองโกก็เสื่อมถอยไปพร้อมกับเขา เมื่อปี 1994 เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้คนนับล้านถูกฆ่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่พากันหลบหนีเข้าไปยังภาคตะวันออกของคองโก และใช้ที่นั่นเป็นฐานที่มั่นในการจู่โจมรวันดา รวันดาจึงจับมือกับยูกันดาบุกคองโก ขับโมบูตูออกจากตำแหน่งในปี 1997 และแต่งตั้ง โลรอง กาบิลา เป็นประธานาธิบดีหุ่นเชิด แต่ไม่ช้าพวกเขาก็ไม่พอใจกาบิลา และเริ่มรุกรานอีกครั้ง สงครามคองโกรอบสองดึงชาด นามิเบีย แองโกลา บุรุนดี ซูดาน และซิมบับเว เข้าร่วมด้วย และมักเรียกกันว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งของแอฟริกา


ในภาวะไร้ขื่อแปนี้เอง กองทัพต่างชาติและกลุ่มกบฏพากันยึดเหมืองหลายร้อยแห่ง ซึ่งก็เหมือนกับการยกบัตรเอทีเอ็มให้เด็กติดยาที่พกปืน กลุ่มกบฏซื้ออาวุธด้วยเงินจากการขายเพชร ทองคำ ดีบุก และแทนทาลัม ซึ่งเป็นธาตุเนื้อแข็งสีเทาทนต่อการกัดกร่อนที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แทนทาลัมร้อยละ 20 ถึง 50 ของโลกมาจากคองโกตะวันออก

แรงกดดันอย่างหนักจากนานาประเทศ ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ส่งผลให้กองกำลังต่างชาติถอนตัวออกจากคองโกอย่างเป็นทางการ ทิ้งให้ที่นั่นจมอยู่ในความย่อยยับ สะพาน ถนน บ้านเรือน โรงเรียน และครอบครัวถูกทำลายสิ้น ชาวคองโกล้มตายถึงห้าล้านคน แม้จะมีการประชุมสันติภาพหลายครั้ง แต่การประชุมฉันมิตรในโรงแรมหรู มิอาจเปลี่ยนข้อเท็จจริงอัปลักษณ์ที่เกิดขึ้นได้ องค์การสหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปหลายพันนาย ปัจจุบันมีประมาณ 17,000 นาย แต่เลือดยังคงหลั่งริน ประเทศผู้ช่วยเหลือทุ่มเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งแรกของคองโก แต่นั่นก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน

ภาคตะวันออกของคองโกยังคงเป็นเขตสู้รบ ชาวยูกันดา รวันดา และบุรุนดี ยังคงลักลอบข้ามพรมแดนเพื่อให้เงินอัดฉีดกลุ่มกบฏหลากหลายกลุ่ม ซึ่งนำแร่ต่างๆ ไปขายเพื่อซื้ออาวุธและจ้างคนเพิ่มขึ้นอีก แม้ประชาคมโลกจะไม่พอใจ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไรจริงๆ

ราวปี 2008 กลุ่มสิทธิมนุษยชนสำคัญๆ หลายกลุ่มและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วแร่ต่างๆ เล่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราชำระการค้าแร่ของคองโกให้สะอาดและปิดเอทีเอ็มของกลุ่มกบฏได้การรณรงค์ “เพชรเปื้อนเลือด” ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ชี้ให้เห็นว่า การค้าเพชรในแอฟริกาตะวันตกสนับสนุนการก่อความไม่สงบในภูมิภาคนี้อย่างไร หากมีการรณรงค์ต่อต้านการใช้แร่จากเหมืองละเมิดสิทธิมนุษยชนในคองโกบ้างเล่า

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 2010 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ลงนามในร่างกฎหมายปฏิรูปการเงินดอดด์-แฟรงก์ ประมวลกฎหมาย 848 หน้า ซึ่งมีมาตราพิเศษว่าด้วยแร่จากเหมืองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยขอให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ของตนใช้แร่จากเหมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธในคองโกหรือรอบๆ คองโก หรือไม่


บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำหลายแห่ง เช่น อินเทล โมโตโรลา และเอชพี เริ่มสืบหาที่มาของแร่ต่างๆ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของตน ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เสียอีก ตามข้อมูลจากอินัฟโปรเจ็กต์ (Enough Project) องค์กรไม่แสวงกำไรของสหรัฐฯ ซึ่งจัดอันดับบริษัทที่ทุ่มเทความพยายามในการสร้างธุรกิจการค้าแร่ที่ขาวสะอาด พบว่า นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ บริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่ง แม้จะไม่ทั้งหมด ก็เริ่มตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนมากขึ้น

ประเด็นหนึ่งที่กฎหมายดอดด์-แฟรงก์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ กฎหมายนี้อาจทำให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยกเลิกการสั่งซื้อแร่ทั้งหมดจากคองโก อันจะส่งผลกระทบต่อคนงานเหมืองท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการณ์ก็เป็นเช่นนั้นจริง อย่างน้อยก็ในช่วงแรก นานาประเทศเลิกซื้อสินแร่ดีบุกและแทนทาลัมจากเหมืองที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้นำผลกำไรไปทำสงคราม และในเดือนกันยายน ปี 2010 รัฐบาลคองโกได้สั่งห้ามการทำเหมืองและการค้าแร่ทั้งหมดในคองโกตะวันออกเป็นเวลาหกเดือน ส่งผลให้ชาวเหมืองหลายพันคนเดือดร้อน

แต่แล้วการค้าแร่ที่ได้รับการปฏิรูปก็เริ่มปรากฏให้เห็น ทางการคองโกเริ่มตรวจสอบเหมืองต่างๆ กองทัพขับไล่กองกำลังกลุ่มกบฏและทหารรับจ้างออกไป พร้อมทั้งส่งตำรวจเหมืองฝึกใหม่เข้าควบคุมเหมือง ผลกำไรของกลุ่มติดอาวุธที่เคยขายดีบุก แทนทาลัม และทังสเตน ลดลงร้อยละ 65 เหมืองในคองโกเริ่มสะอาดแล้ว

ปัญหาคือ ยังมีเหมืองสะอาดน้อยเกินไป มีเหมืองในภาคตะวันออกแค่ราวร้อยละ 10 หรือ 55 แห่งเท่านั้น ที่คาดว่าไร้การละเมิด แม้ทหารจะลดบทบาทในเหมืองดีบุก แทนทาลัม และทังสเตนส่วนใหญ่ แต่เหมืองทองคำจำนวนมากยังอยู่ในมือของกองทัพ หรือกลุ่มกบฏ

ภาพถ่าย มาร์คัส บลีสเดล เรื่อง เจฟฟรีย์ เกตเทิลแมน ข้อมูลจากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.