ขึ้นรถจักรไอน้ำ ย้อนรอยประวัติศาสตร์เกือบ 100 ปี!
 


ขึ้นรถจักรไอน้ำ ย้อนรอยประวัติศาสตร์เกือบ 100 ปี!


ขึ้นรถจักรไอน้ำ ย้อนรอยประวัติศาสตร์เกือบ 100 ปี!

การเดินทางด้วยรถไฟเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว ที่จะดื่มด่ำกับบรรยากาศสองข้างทางที่เต็มไปด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิต ริมทางรถไฟ...

แต่การเดินทางที่น่าจดจำอีกอย่างหนึ่ง คือ การเดินทางด้วยรถจักรไอน้ำแบบโบราณ อายุกว่า 80 ปี เปิดหวูดเสียงดัง ปล่อยควันไฟพวยพุ่ง ก่อนแล่นออกจากชานชาลา เหมือนภาพยนตร์ย้อนยุคแบบโบราณ

วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะนำเอารถจักรไอน้ำ 824 ออกเดินทางเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานให้กำเนิดรถไฟของเมืองสยาม รถไฟสายแรกของประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ - พระนครศรีอยุธยา รถจักรไอน้ำ 824 จึงเปิดเดินรถในเส้นทางนี้ เพื่อย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์ ผู้ที่ร่วมเดินทางมากับรถไฟขบวนนี้นอกจากจะได้รำลึกถึงเส้นทางรถไฟสายแรกแล้ว ยังได้ร่วมเดินทางไหว้พระ 9 วัด ที่พระนครศรีอยุธยา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตด้วย

มาเรียนรู้ประวัติที่จดจำของรถจักรไอน้ำขบวนที่ 824 นายทวีศักดิ์ กุมภีพงษ์ หัวหน้าซ่อมแซมและดูแลรักษารถจักรไอน้ำ เล่าให้เราฟังว่า รถจักรไอน้ำ 824 นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า รถจักรไอน้ำแปซิฟิก แต่เดิมนั้นการขับเคลื่อนจะใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง แต่ ร.ฟ.ท. พัฒนามาเป็นการใช้น้ำมันเตาแบบพิเศษแทนการใช้ฟืน โดยรถจักรไอน้ำแปซิฟิกเป็นผลงานการประดิษฐ์จากสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ร.ฟ.ท.สั่งมาใช้งาน 30 คัน คือรุ่น 821-850 ได้ถูกนำมาใช้งานช่วงปี พ.ศ. 2492- พ.ศ. 2494 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 คันเท่านั้นที่ยังสามารถใช้การได้ คือรถจักรไอน้ำรุ่น 824 และ 850 ขบวนรถจักรไอน้ำนอกจากจะใช้เพื่อการขนส่งทั้งคน สัตว์ แล้วยังถูกใช้ขนอาวุธเพื่อการสงครามสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

ความรู้สึกของผู้โดยสารที่มีโอกาสได้เดินทางด้วยขบวนรถไฟประวัติศาสตร์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างก็ประทับใจและภาคภูมิใจ ที่ได้ย้อนอดีตกับรถไฟไทยที่ยังสามารถใช้งานได้ แม้กระทั่งชาวต่างชาติที่เป็นผู้ประดิษฐ์รถไฟ อย่างชาวญี่ปุ่นและฝรั่งเศสยังต้องเดินทางมาเพื่อขอเยี่ยมชมรถจักรไอน้ำของไทย

ร.ฟ.ท.ได้สานต่อทั้งเรื่องการดูแลรักษาและซ่อมแซม เพื่อจะได้ส่งต่อรถจักรไอน้ำอันทรงค่าทั้ง 5 คันนี้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป หัวหน้าผู้ควบคุมดูแลรักษาและซ่อมแซมรถจักรไอน้ำคันประวัติศาสตร์ทั้ง 5 คัน บอกว่า การดูแลรักษานั้นจะพิถีพิถันมากกว่าการดูแลรักษารถไฟทั่วไป จะใช้คนดูแลประมาณ 10 คนต่อครั้ง ต่อคัน ต้องหมั่นตรวจเช็ก และใช้น้ำมันเตาพิเศษที่ทนต่อความร้อน เพื่อยืดระยะเวลาการระเหย เนื่องจากวัสดุของรถจักรไอน้ำส่วนใหญ่จะมีรอยต่อที่ฝืดจึงต้องหมั่นดูแลและตรวจสอบเสมอ ด้านการขับเคลื่อนก็มีความแตกต่างกัน เพราะรถไฟทั่วไปจะบังคับด้วยไฟฟ้า แต่รถจักรไอน้ำจะใช้ไอน้ำเป็นตัวกำหนดการขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องเปิดให้ไอน้ำเคลื่อนตัวเข้าสู่กระบอก และไอน้ำจะเคลื่อนตัวเข้าสู่กระบอกมากที่สุดคือช่วงออกตัวรถจักร

สำหรับคนขับรถจักรไอน้ำ คุณทวีศักดิ์ กุมภีพงษ์ หัวหน้าชุดปฏิบัติงาน บอกว่า มีทั้งหมด 5 ชุด 1 ชุดประกอบด้วย 4 คน ซึ่งจะมีเพียง 20 คนนี้เท่านั้นที่จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนรถจักรไอน้ำ เพราะการขับรถจักรไอน้ำจะแตกต่างและมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่ารถไฟทั่วไป โดยพนักงานขับรถจักรไอน้ำจะคอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อทำหน้าที่ในการขับ ซึ่งคนขับรถจักรไอน้ำ ช่างซ่อมแซมและดูแลจะประจำอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี ซึ่งนอกจากรถจักรไอน้ำคันประวัติศาสตร์ทั้ง 2 คัน ก็ยังมีรถจักรไอน้ำ C56 หรือรถจักรไอน้ำโมกุน อีก 2 คัน คือ รถจักรไอน้ำหมายเลข 713 และ 715 รถจักรไอน้ำ C56 นี้ ก็ได้ฝากความทรงจำดีๆ ให้กับผู้ที่เคยโดยสาร แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านมาหลายสิบปี แต่ความทรงจำดีๆ เหล่านั้นไม่ได้เลือนหาย เพราะรถจักรไอน้ำ C56 สองคันนี้ จะไปอวดโฉมในงานสัปดาห์ข้ามสะพานแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี ส่วนรถจักรไอน้ำมิกาโดนั้นปัจจุบันเหลือเพียง 1 คัน แต่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วเนื่องจากยังคงชำรุดทรุดโทรมไปมาก

สำหรับรถจักรไอน้ำทั้ง 5 คันนี้ จะถูกแสดงอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี ประชาชนสามารถเยี่ยมชมได้ ส่วนตารางการเดินรถจักรทั้ง 4 คันที่สามารถใช้งานได้ จะถูกใช้เพื่อเดินทางในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันที่ 12 สิงหาคม (วันแม่แห่งชาติ) วันที่ 23 ตุลาคม (วันปิยมหาราช) และวันที่ 5 ธันวาคม (วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือวันพ่อแห่งชาติ)

**รู้ไว้ใช่ว่า**
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงรถจักรธนบุรี ถ.รถไฟ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทรศัพท์ 0-2411-3114 หรือ 0-2621-8701 ต่อ 828-5121


// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.