เด็กไทยจมน้ำดับ เฉลี่ย 3.6 คน/วัน พิมพ์หลักสูตรเอาชีวิตรอดแจก
 


เด็กไทยจมน้ำดับ เฉลี่ย 3.6 คน/วัน พิมพ์หลักสูตรเอาชีวิตรอดแจก


เด็กไทยจมน้ำดับ เฉลี่ย 3.6 คน/วัน พิมพ์หลักสูตรเอาชีวิตรอดแจก

กรมควบคุมโรคพิมพ์แจกหนังสือหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด หลังสำรวจเด็กไทย 8 ล้านคนว่ายน้ำไม่เป็นถึง 6 ล้านคน แนะวิธีง่ายๆ ลดเสี่ยงตายจากจมน้ำ ตะโกน-โยน-ยื่น ...

วันที่ 19 ต.ค. 56 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทย อายุต่ำกว่า 15 ปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2546-2556) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้วถึง 12,982 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3.6 คน ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาคือ เดือนตุลาคม ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมของเด็กเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2556 เดือนตุลาคมเดือนเดียวมีเด็กจมน้ำ 1,249 คน เด็กในกลุ่มวัยเรียนเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญโดยเฉพาะช่วงปิดเทอม และในกลุ่มเด็กวัยนี้ หัวใจสำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ที่ตัวเด็ก หรือการส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2556 นี้ กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคไม่ติดต่อ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินผลการว่ายน้ำเป็นของเด็กไทย (อายุ 5-14 ปี) พบว่า เด็กไทยช่วงอายุดังกล่าว ซึ่งมีกว่า 8 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 23.7 หรือประมาณ 2 ล้านคน แต่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4.4 หรือ 367,704 คน และพบว่าเด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด จะมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 20.7 เท่า มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 7.4 เท่า และจะมีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ และการแก้ไขปัญหาและการเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน มากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 2.7 เท่า และ 2.8 เท่าตามลำดับ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เป็นมาตรการหนึ่ง ที่สามารถช่วยป้องกันการจมน้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน แม้การว่ายน้ำเป็นจะเพิ่มขึ้นจากที่สำรวจเมื่อปี 2549 ซึ่งพบว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นร้อยละ 16.3 แต่ยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งสัดส่วนการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญอันหนึ่งในการป้องกันการจมน้ำของเด็กวัยเรียน อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทั้งนี้ หน่วยงานไหนที่สนใจหนังสือหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดและคู่มือการสอน ที่ต้องการนำไปขยายผลให้กับเด็กในพื้นที่ สามารถขอได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค

"จากการศึกษาในเชิงลึกพบว่า เหตุผลที่เด็กในชนบทเสี่ยงต่อจากการจมน้ำเสียชีวิตสูงมากกว่าเด็กในเขตเมือง เนื่องจากเด็กในเขตเมือง ผู้ปกครองจะไปด้วย และมักจมน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐาน การช่วยเหลือค่อนข้างเร็ว ประกอบกับมีอุปกรณ์การช่วยเหลืออยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนเด็กในชนบทส่วนใหญ่มักจะไปเล่นน้ำกับเพื่อนและเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งระดับน้ำมีความแตกต่างกันในแต่ละสถานที่ และในบางแห่งมีทั้งความลึกและชัน ประกอบกับไม่มีอุปกรณ์การช่วยเหลือใดๆ บริเวณแหล่งน้ำ ทำให้เสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม และมักจะเสียชีวิตพร้อมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป" นพ.โสภณ กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวด้วยว่า ที่สำคัญในช่วงนี้หลายพื้นที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเรื่องที่เป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ ปัญหาการจมน้ำ เพราะตั้งแต่เกิดน้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายนจนถึงวันนี้ มีรายงานการจมน้ำเสียชีวิตกว่า 60 รายแล้ว สาเหตุการเสียชีวิต ก็เกิดจากการพลัดตกน้ำ โดยพบในกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นน้ำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับอันตรายที่จะเกิดขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากอยู่บ้านตามลำพัง ต้องช่วยเหลือตนเอง ในกลุ่มวัยทำงาน คิดว่าตนเองว่ายน้ำเป็นและสู้กระแสน้ำได้ จึงมักออกไปหาปลา หรือขับขี่พาหนะผ่านบริเวณน้ำท่วม

“ขอเตือนประชาชนในพื้นที่ น้ำท่วมขังและน้ำไหลหลาก ต้องเพิ่มความระมัดระวังอุบัติเหตุจมน้ำ โดยเฉพาะการในกลุ่มเด็ก ผู้ปกครองอย่าปล่อยเด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่มือเอื้อมถึงและคว้าถึง ส่วนอีกมาตรการที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน : ให้ผู้ใหญ่ช่วย, โยน : วัสดุที่ลอยน้ำได้, ยื่น: ไม้ กิ่งไม้ หรือเสื้อให้คนตกน้ำจับ) ในกรณีที่ช่วยเหลือคนจมน้ำขึ้นมาจากน้ำแล้ว ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่า แล้วกระโดด หรือวิ่งไปมาเพื่อให้น้ำออก เนื่องจากน้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำจากกระเพาะไม่ใช่จากปอด ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะจะทำให้คนจมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้นและเสียชีวิต

วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง อันดับแรกคือ ให้ขอความช่วยเหลือและวางคนที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปากและช่วยให้หายใจได้เร็วที่สุด โดยวิธีการผายปอด และเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายๆครั้ง ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้นวดหัวใจ โดยการกดที่บริเวณกลางหน้าอก ลึกประมาณ 1-1.5 นิ้ว จำนวน 100 ครั้งต่อนาที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด หากสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422” นพ.โสภณ กล่าว.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.