สบศ.อัดยับ! สพฐ.ตัด นาฏศิลป์ พ้นหลักสูตร
 


สบศ.อัดยับ! สพฐ.ตัด นาฏศิลป์ พ้นหลักสูตร


สบศ.อัดยับ! สพฐ.ตัด นาฏศิลป์ พ้นหลักสูตร

อธิการบดี สบศ. อัดยับ สพฐ.ตัด "นาฏศิลป์" พ้นหลักสูตรพื้นฐาน ส่งผลกระทบต่อเด็ก วนศ.-ร.ร.ทั่วประเทศ ชี้เป็นวิชาที่เยาวชน ต้องเรียนให้รู้วิถีความเป็นไทย...

ตามที่ กลุ่มอาจารย์นาฏศิลป์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ เตรียมยื่นหนังสือท้วง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรณีที่จะมีการจัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ โดยตัดรายวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรพื้นฐานนั้น

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าวิชานาฏศิลป์ แสดงถึงความเป็นไทย และคนไทยจะต้องเรียนเหมือนกับวิชาอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ยกตัวอย่างวิชาหน้าที่พลเมือง ที่ไปแทรกอยู่ในวิชาสังคม ปรากฏว่าก็ไม่มีการเรียนการสอนที่จริงจัง ส่งผลให้สังคมเกิดปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่จำเป็นของคนไทย ควรจะต้องรู้เพราะเป็นวิถีของคนไทย ทั้งนี้ การนำวิชานาฏศิลป์ไปทิ้งและกำหนดกลุ่มการเรียนกว้างในหมวดสังคม โดยไม่มีการกำหนดรายชื่อ แสดงว่าจะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทั้งที่จริงแล้วควรจะต้องเขียนหลักสูตรให้ชัดเจน และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนต้องให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เช่น ควรจะต้องเรียนนาฏศิลป์ไทย, พื้นบ้าน, สากล ดนตรีไทย-สากล, ประวัติศาสตร์ไทย-โลก

อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวต่อไปว่า วิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่จะส่งผลให้พฤติกรรมเด็กนุ่มนวลขึ้น ให้เป็นคนสุขุมขึ้น ที่สำคัญหากเมื่อเครียดก็ใช้วิชาเหล่านี้บำบัดความเครียดได้ด้วย ซึ่งหากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่มีการกำหนดวิชานาฏศิลป์ไว้ในร่างหลักสูตรใหม่ ยอมรับว่าจะเกิดผลกระทบต่อวิทยาลัยนาฏศิลป (วนศ.) ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียน สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาเหล่านี้ เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่ เมื่อเรียนจบแล้วจะเป็นครูสอนนาฏศิลป์ หากกระทรวงศึกษาไม่กำหนดว่า เด็กไทยเรียนหรือไม่เรียนนาฏศิลป์ก็ได้ต่อไป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือสถาบันการศึกษาที่ผลิตเด็กหรือครูนาฏศิลป์จะผลิตไปเพื่ออะไร เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดอย่าง ศธ.ไม่สั่งแล้ว โรงเรียนจะรับครูเหล่านี้หรือไม่ ก็จะส่งผลกระทบออกมาเป็นลูกโซ่

“ปัจจุบันนี้ ครูนาฏศิลป์ ดนตรี ตามโรงเรียนก็ขาดบุคลากรเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ตอนนี้นำวิชาเหล่านี้ไปแอบไว้ในกลุ่มสังคมและความเป็นมนุษย์ โดยข่าวออกมาว่า ก็อยู่ในวิชาศิลปะนั่นแหละ จะพูดอย่างนี้ก็พูดได้ เมื่อไม่ปรากฏในกลุ่มสาระ ใครจะมานั่งตีความว่าต้องเรียน ทุกวันนี้ 8 กลุ่มรายวิชา วิชานาฏศิลป์ ดนตรี ศิลปะ แต่ละวิชาเรียนยังไม่ถึงหน่วยก็จะแย่อยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าหากไม่กำหนดจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะวิชาเหล่านี้ คือ สัญลักษณ์ของคน ของชาติไทย” อธิการบดี สบศ.กล่าว



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.