ตอบโจทย์"คุณภาพ"ศึกษาไทย เสมา1ลุยปฏิรูปสานแนวยูเนสโกมุ่งเด็กคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงชีวิตจริง
 


ตอบโจทย์"คุณภาพ"ศึกษาไทย เสมา1ลุยปฏิรูปสานแนวยูเนสโกมุ่งเด็กคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงชีวิตจริง


ตอบโจทย์

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับงานด้านการศึกษา โดยมีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมทั้งได้ตระหนักถึงความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการ ศึกษาตลอดชีวิต และยินดีสนับสนุนบทบาทของยูเนสโกในการผลักดันให้การจัดการศึกษาเพื่อปวงชนบรรลุเป้าหมายภายในปี 2558”



ช่วงตอนหนึ่งจากถ้อยแถลงของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้า คณะผู้แทนไทยซึ่งกล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโกครั้งที่ 192 ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-4 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ท่ามกลางคณะผู้แทนจาก 58 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม

แม้วันนี้การประชุมจะปิดฉากไปแล้ว แต่สิ่งที่เป็นหัวใจหลักคือการนำเป้าหมายและแนวคิดจากการประชุมสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

นั่นคือการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อปวงชน และคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมให้การศึกษามีส่วนช่วยลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งภายในและระหว่างประเทศต่างๆ


ซึ่งแนวทางของประเทศไทยนั้นสอดรับกับหลักของยูเนสโกอย่างชัดเจน เห็นได้จากหลังเสร็จสิ้นการร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับประเทศสมาชิกในการประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโกแล้ว นายจาตุรนต์ ยังได้เดินทางพบปะเยี่ยมเยียนนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือโอดอสรุ่นที่ 3 จำนวน 21 คน ซึ่งกำลังศึกษาเตรียมความพร้อมด้านภาษาฝรั่งเศสและวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอุดมศึกษา (Institut Universitaire de Technologie-I.U.T) เมืองเลอมองส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยตัวแทนนักเรียนทุนได้ถ่ายทอดประสบการณ์กับการใช้ชีวิตเรียนรู้ในต่างแดนช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ

ชยพันธ์ วงศ์ชูวรรณ

ชยพันธ์ วงศ์ชูวรรณ


นายชยพันธ์ วงศ์ชูวรรณ จาก ร.ร.เบตง “วีระราษฎร์ประสาน” อ.เบตง จ.ยะลา บอกว่า “ได้มีโอกาสเห็นระบบการเรียนการสอน ชั้นเด็กเล็กของฝรั่งเศส ซึ่งครูพยายามตั้งคำถามให้เด็กได้คิดและตอบ เด็กก็แย่งกันตอบ ผิดกับบ้านเราที่ครูต้องชี้หรือบังคับให้เด็กตอบ ซึ่งแม้แต่เด็กเล็กๆ ยังกล้าถามพวกเราว่าทำไมถึงมาเรียนที่นี่ สะท้อนให้เห็นถึงระบบการเรียนการสอนที่นี่จะสอนให้เด็กกล้าแสดงออก เป็นสิ่งที่ดีที่บ้านเราควรปรับใช้”

พิมพาภรณ์ สุทธหลวง

พิมพาภรณ์ สุทธหลวง


ขณะที่ น.ส.พิมพาภรณ์ สุทธหลวง จาก ร.ร.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ชี้ให้เห็นว่า “สิ่งหนึ่งที่ประทับใจกับระบบการสอนที่นี่คือครูจะกระตุ้นให้เด็กพูด ถาม แสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ใน ช่วงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจะมีวิชาคล้ายแนะแนวที่ให้เด็กได้ค้นหาตนเองว่าอยากจะเป็นอะไร และจะให้เด็กได้ไปสัมผัสวิชาชีพนั้นจริงๆ เพื่อค้นหาตัวตนว่าชอบหรือไม่”

หันกลับมาที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวย้ำว่า “เป้าหมายของยูเนสโกที่มุ่งเน้นการศึกษาเพื่อปวงชนและคุณภาพการศึกษา รวมถึงประสบการณ์ของนักเรียนทุนโอดอสที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการเรียนการสอนที่ได้ผล ซึ่งเพียงแค่ 1 ปี เด็กสามารถสื่อสารภาษาฝรั่งเศสได้มากกว่าภาษาอังกฤษ ที่เรียนมาทั้งชีวิต และ การเน้นสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ เป็นการยืนยันให้เห็นว่าสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งก็จะโยงไปถึงการปฏิรูปหลักสูตร รวมถึงการวัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ”

จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง


รมว.ศึกษาธิการ ระบุด้วยว่า ช่วงปิดภาคเรียนที่ 1/2556 นี้น่าจะได้ข้อสรุปถึงแนวทางการปรับการสอนภาษาต่างประเทศให้ดีขึ้น จากนั้นจะมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่แนวทางการสอนที่ได้ผล สาธิตตัวอย่าง นำผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอด และทำเป็นสื่อต่างๆ เพื่อให้ครูและนักเรียนเรียนรู้แบบเข้มข้น โดยเริ่มจากภาษาอังกฤษและต่อด้วยภาษาจีน ส่วน การปฏิรูปหลักสูตรได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว และกำลังทำต่อเนื่อง จะเริ่มทดลองใช้เร็วๆนี้ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นพ้องจะรวบรัดให้ใช้พร้อมกัน คงไม่ใช่นำร่องเฉพาะบางโรงเรียนเพราะจะเกิดความลดหลั่น เว้นนักเรียนระหว่างรอยต่อช่วงชั้นเช่น ป.6 ก็จะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่เมื่อเข้า ม.1 เพื่อไม่ให้เด็กสับสน ทั้งนี้การเรียน การสอนที่ให้เด็กมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์จะบรรจุอยู่ในหลักสูตรใหม่ที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ เรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพในยุคอินเตอร์เน็ต ดิจิตอล


“เรากำลังจะทำกับเด็กทั้งประเทศซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นการ เปลี่ยนการเรียนการสอนครั้งใหญ่ เราหวัง ผลกับเด็กทั้งระบบให้เด็กคิดเป็นวิเคราะห์เป็นและเชื่อมโยงกับชีวิตจริง โดยเป้าหมายหลักที่เราตั้งธงไว้คือ คุณภาพ” นายจาตุรนต์ ลั่นถึงความมุ่งมั่นกับการทำหน้าที่ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมระบุด้วยว่า ถ้าคิดจะแก้ปัญหาการศึกษาต้องไม่คิดว่าใช้เวลานาน แต่ต้องคิดว่าเผลอสักพักก็ผ่านไป 10 ปี ดังนั้นต้องทำต่อเนื่อง และนำไอซีทีเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้พร้อมกันจำนวนมาก ทั้งนี้รัฐมนตรีต้องเข้าใจทิศทางและคอยผลักดันให้ระบบขับเคลื่อนไป โดยฟังผู้เกี่ยวข้อง นักการศึกษา ที่สำคัญคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรามีหน้าที่ตั้งโจทย์และเป้าหมายแล้วให้ทุกคนช่วยกันคิดระดมทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งหวังว่าโจทย์และระบบจะเดินหน้าไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีก็หวังว่าหลายเรื่องยังเดินต่อไปบนพื้นฐานความเข้าใจของสังคม

ทีมข่าวการศึกษา เห็นด้วยกับ โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาคือ คุณภาพ ที่สังคมเฝ้ารอคำตอบ รวมถึงการอยากเห็นระบบการศึกษาไทยได้รับการพัฒนาด้วยความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และสำคัญที่สุดคือความต่อเนื่องของนโยบายในการจัดการศึกษาของชาติ


ขณะเดียวกันเราก็มองเห็นแสงสว่างจากแง่คิดของนักเรียนทุนโอดอสสะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ยังเน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ มีครูเป็นศูนย์กลางบังคับนักเรียนทำตาม โดยปิดกั้นการแสดงออก

คงไม่มีใครอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาที่มาพร้อมกับรัฐมนตรีแต่ละคนและแล้วก็จบสิ้นไปพร้อมกับการจากไปเมื่อรัฐมนตรีต้องถูกปรับเปลี่ยนเพราะเงื่อนไขทางการเมือง
เพราะหากเป็นเช่นนั้นต่อให้จั่วหัวปฏิรูปการศึกษาสักกี่ครั้งก็คงเป็นได้เพียง “ฝันลมๆแล้งๆ” ซ้ำซาก...

 

ทีมข่าวการศึกษา



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.