สวทช. จุฬาฯ-ม.สุรนารี จับมือ CERN ยกระดับวิจัยฟิสิกส์
 


สวทช. จุฬาฯ-ม.สุรนารี จับมือ CERN ยกระดับวิจัยฟิสิกส์


สวทช. จุฬาฯ-ม.สุรนารี จับมือ CERN ยกระดับวิจัยฟิสิกส์

สวทช. จุฬาฯ และ ม.สุรนารี จับมือ CERN ร่วมมือติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายวิจัยฟิสิกส์ระดับโลกเป็นแห่งแรกในอาเซียน หวังใช้ประสบการณ์มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิจัยประเทศ...

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. )  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (European Organization for Nuclear Research) หรือเรียกชื่ออย่างสั้นว่า เซิร์น (CERN) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ (Worldwide LHC Computing Grid: WLCG)  โดยร่วมดำเนินการศูนย์ระดับ ๒ ซึ่งประเทศไทยเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคอาเซียน ที่ทำหน้าที่สำรองข้อมูล เพื่อใช้งานในภูมิภาค

 

ความร่วมมือระหว่างไทยกับเซิร์นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นทั้งหมด ๔ ครั้ง และได้มีพระราชดำริให้หน่วยงานของไทยศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือกับเซิร์น เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้จากหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก เพื่อนำมาพัฒนาองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงภายในประเทศต่อไป

ในเบื้องต้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับสนองพระราชดำริ โดยมีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (Expression of Interest : EOI) ระหว่างหน่วยงานของไทยคือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยวิจัย CMS ของเซิร์น  โดยมีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการส่งนักศึกษาและครูฟิสิกส์ไทยไปร่วมโครงการภาคฤดูร้อนเซิร์น รวมทั้งสนับสนุนให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำงานวิจัยในโครงการของเซิร์น

ภายหลังจากการลงนาม EOI สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น โดยมีสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และสวทช. เป็นเลขานุการร่วม เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือไทย-เซิร์น ซึ่งได้มีการจัดทำกิจกรรมต่างๆ มาเป็นลำดับ ตั้งแต่โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น, โครงการ CERN School Thailand, โครงการเครือข่ายกริดคอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือฯ ในวันนี้  ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยการเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายพีรพันธ์ พาลุสุข) ซึ่งเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว

นายไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และรองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้กล่าวถึงความร่วมมือกับเซิร์นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทย ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยขั้นสูง โดยใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ที่ใช้การลงทุนสูงอย่างเครื่องเร่งอนุภาค LHC ของเซิร์น  เป้าหมายหลักของเซิร์นจะเป็นการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งเป็นการค้นหาความรู้ที่มีความท้าทาย และสำคัญอย่างยิ่งในด้านวิชาการ

ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวต่อว่า การพัฒนาเครื่องมือในการทดลองที่มีขีดความสามารถสูง ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปัจจุบัน  ซึ่งเซิร์นได้ริเริ่มค้นคว้าไว้นานแล้ว เช่น HTML ที่ใช้ในเว็บไซต์ต่างๆ แม้แต่หน้าจอสัมผัสแบบ capacitive ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือในขณะนี้ เซิร์นก็ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ 2513  เทคโนโลยีสำคัญของเซิร์น คือ เครื่องเร่งอนุภาค และตัวตรวจวัด (หรือ เซ็นเซอร์) ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการการแพทย์ในการรักษาโรคโดยใช้ลำอนุภาคโปรตรอน และการวินิจฉัยโรคด้วยเครื่อง PET Scan จึงนับเป็นความโชคดีของวงการวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ อันก่อเกิดความร่วมมือนี้ขึ้น

ศ.ดีเทอร์ ฮอยเออร์ ผู้อำนวยการทั่วไป  เซิร์น กล่าวว่า โครงการของเซิร์น เป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนำระดับโลก เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาของหลายประเทศ ทำหน้าที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากเครื่องเร่งอนุภาค Large Hadron Collider (LHC) มีนโยบายที่จะสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายนักวิจัยในประเทศแถบอาซียน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยต่างๆ ได้มีความร่วมมือในการศึกษาหาข้อมูล และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลก มีงานวิจัยใหม่ๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือมนุษยชาติต่อไป

ขณะที่ นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. ) กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้ร่วมมือในการติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์  ที่เรียกว่า Worldwide LHC Computing Grid หรือ WLCG   โดยได้ดำเนินการร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สมาชิกเครือข่าย WLCG ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ เครือข่าย WLCG เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง ที่สามารถทำงานได้จริงและมีขีดความสามารถในการประมวลผลสูงอย่างยิ่ง ในด้านจำนวนหน่วยประมวลผล ความจุข้อมูล และความเร็วในการรับส่งข้อมูล

ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวอีกว่า เครือข่ายนี้ออกแบบมาเพื่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคโดยเฉพาะ ประกอบด้วยศูนย์คอมพิวเตอร์หลายแห่ง โดยแบ่งการทำงานเป็น4 ระดับ คือ ศูนย์ระดับศูนย์ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ของเซิร์น ทำหน้าที่รับข้อมูลโดยตรงจากการทดลองแล้วส่งต่อให้กับศูนย์ระดับหนึ่ง ซึ่งมีจำนวน 11 แห่ง ใน 10 ประเทศ ศูนย์ระดับสองทำหน้าที่สำรองข้อมูลจากศูนย์ระดับหนึ่ง เพื่อใช้ในงานในภูมิภาคต่างๆ มีจำนวนประมาณ 140 แห่งใน 40 ประเทศ และศูนย์ระดับสุดท้ายคือศูนย์ระดับสามซึ่งเป็นศูนย์สำหรับใช้งานการวิจัยในแต่ละภูมิภาค สำหรับประเทศไทยอยู่ในศูนย์ระดับสองและเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานที่กล่าวถึงข้างต้น

ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวอีกว่า จากความร่วมมือดังกล่าวฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรคอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และความรู้ความสามารถของทีมงาน ในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาทั้งสามหน่วยงานได้ทำงานร่วมกับเซิร์นและสมาชิกของ WLCG ในหลายประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และ เอเซีย เพื่อเรียนรู้การติดตั้งซอฟต์แวร์ และแก้ไขปัญหาต่างๆ หน่วยงานในประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่เป็นผู้ดูแลเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับสถาบันการศึกษา ได้ให้ความช่วยเหลือประสานงานกับผู้ดูแลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย ทำให้วันนี้มีความพร้อมในการเข้าร่วมเครือข่าย WLCG โดยสิ่งที่ได้จากการทำงานร่วมกับ WLCG สามารถนำมาปรับใช้กับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ทั้งในด้านเทคนิค และการบริหารงานเพื่อทำให้นักวิจัยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงในการผลิตงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงกับเซิร์น โดยได้เข้าเป็นสมาชิกของ The Compact Muon Solenoid Collaboration หรือ CMS เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2555 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความร่วมมือกับเซิร์น โดยตรง นักฟิสิกส์ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลการทดลองของ CMS และร่วมวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดลองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคฮิกส์และฟิสิกส์ใหม่ๆ ที่อาจนำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ต่อไป นอกเหนือจากงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคกับเซิร์น แล้ว เครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ ที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมายังสนับสนุนงานด้านการคำนวณขั้นสูงทางวิทยาศาสตร์แก่นักวิจัยในประเทศไทยอีกด้วย อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับงานวิจัยระดับชาติและระดับนานาชาติให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐาน เป็น “เสาหลักแห่งแผ่นดิน” ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป

ส่วน ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยในส่วนของ มทส. กับ ALICE ของเซิร์น เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 โดยได้ทำวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกริดของ ALICE และเข้าร่วมโครงการปรับปรุงระบบติดตามทางเดินภายในของ ALICE ที่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของระบบเซ็นเซอร์ งานวิจัยที่ได้เริ่มไว้มีความก้าวหน้าตามลำดับ โดยมหาวิทยาลัยได้ให้การสนับสนุนการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับการยอมรับจาก  ALICE นำไปสู่การลงนามความร่วมมือระหว่าง มทส. และ ALICE 

อธิการบดี มทส.กล่าวด้วยว่า จากความร่วมมือดังกล่าว ในช่วงต้นปี 2556ได้ขยายผลงานวิจัยด้านวิชาการออกไปสู่หน่วยงานวิจัยอื่นๆ ภายในประเทศ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center) ที่ทำการศึกษาสมบัติของเวเฟอร์ที่จะนำมาใช้ผลิตเซ็นเซอร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่กำลังออกแบบและพัฒนาระบบวัดสมบัติทางไฟฟ้าของเซ็นเซอร์ต้นแบบ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการการจัดตั้งศูนย์คำนวณแบบกริดที่ มทส.  โดยสรุปแล้วถือว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับ ALICE ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยมทส. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับห้องปฏิบัติการไอออนหนักที่เซิร์น ทั้งทางด้านการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ผลทางด้านฟิสิกส์ การมีความร่วมมือกับองค์การวิจัยชั้นนำระดับโลกเช่นนี้จะช่วยเสริมศักยภาพงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นต่อไป.

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.