สภาฯไฟเขียวผ่าน กม.ตรวจเงินแผ่นดิน
 


สภาฯไฟเขียวผ่าน กม.ตรวจเงินแผ่นดิน


สภาฯไฟเขียวผ่าน กม.ตรวจเงินแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)จำนวน 7 คน แบ่งเป็น 1.ผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 2 คน 2.ผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านบัญชี การตรวจสอบภายในและการเงินคลัง ด้านละ 1 คน รวม 3 คน 3.ผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านนิติศาสตร์จำนวน 1 คน 4.เป็นผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่งานการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน


ขณะเดียวกัน บัญญัติให้ผู้ที่เข้ารับการเป็น คตง.จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมอย่างหนึ่งอย่างใดใน 5 ข้อ ได้แก่ 1.เคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า 2.เคยเป็นข้าราชการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือ ประเภทวิชาการ ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเทียบเท่า 3.เคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 4.เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชีหรือวิชาชีพบัญชี และ 5.เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับประธานกรรมการ กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบบเท่าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยต้องดำรงตำแหน่งรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี


นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยผ่านกระบวนการสรรหาเช่นเดียวกับคตง. กล่าวคือ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคตง.จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 7คน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1คน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวน 1 คน ซึ่งจะต้องทำหน้าที่สรรหาให้เสร็จภายใน 60 วัน และส่งให้วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบต่อไป


ภายหลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 382 เสียง ซึ่งขั้นตอนจากนี้สภาฯจะส่งร่างพ.ร.บ.ให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป.
 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.