รู้เท่าทันก่อนต่อมไทรอยด์ เกิดความผิดปกติ
 


รู้เท่าทันก่อนต่อมไทรอยด์ เกิดความผิดปกติ


รู้เท่าทันก่อนต่อมไทรอยด์ เกิดความผิดปกติ

"ต่อมไทรอยด์" เป็นต่อมหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ ซึ่ง พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า ฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์ผลิตนั้น มีความเกี่ยวข้องกับระบบในร่างกายดังนี้

•    วิวัฒนาการและการเจริญเติบโตของร่างกายและอวัยวะต่างๆ

•    ระบบสันดาปอาหาร (Metabolism) ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน มีทั้งการสังเคราะห์และการสลาย เพื่อให้การทำงานของอวัยวะเป็นไปอย่างปกติ

•    ผลิตความร้อน รักษาอุณหภูมิในร่างกาย

•    กระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่วนหนึ่งจะผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ

•    สัมพันธ์กับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาทสมอง

•    ประสานการทำงานของระบบฮอร์โมนอื่นๆ หลายชนิดในร่างกาย

ด้วยเหตุนี้ ต่อมไทรอยด์จึงมีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นๆ ดังนั้น ถ้าต่อมไทรอยด์เกิดความผิดปกติ จึงมีผลต่อร่างกายอย่างมาก ซึ่ง พญ.สมพร ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ

•    ความผิดปกติทางขนาด หรือภาวะต่อมไทรอยด์โต

คอพอก (Goiter) ในความรู้สึกของคนทั่วไป อาจมีความหมายที่ค่อนข้างน่ากลัว มองเห็นภาพคอโตยื่นออกมาเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ นึกถึงการขาดสารไอโอดีน ซึ่งในทางการแพทย์ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโต เรียกว่า Goiter (กอยเตอร์) ลักษณะเป็นก้อนหลายแบบ เช่น โตทั่วๆ ไปทั้งต่อม, โตเป็นก้อนเดียวโดดๆ ข้างใดข้างหนึ่ง ขนาดแตกต่างกันไป และโตเป็นก้อนมากกว่า 1 ก้อน

ผู้ที่มีต่อมไทรอยด์โต อันที่จริงแล้วยังสามารถสร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ ส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งมีคนทัก หมอตรวจพบ หรือคลำได้เอง ยกเว้นบางภาวะ เช่น มีเลือดออกในต่อมไทรอยด์อย่างกะทันหัน ทำให้มีอาการเจ็บบริเวณที่เป็นก้อน เวลานอนหายใจลำบาก กลืนลำบาก นอกจากนี้ ในการตรวจก้อนที่ต่อมไทรอยด์คือการตรวจมะเร็งไทรอยด์ โดยการดูดเซลล์ที่ก้อนเนื้อ ถ้าต่อมไทรอยด์โตร่วมกับมีภาวะสร้างฮอร์โมนผิดปกติ จะส่งผลให้มีอาการแสดงของโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วย

ความผิดปกติทางการทำงานของต่อมไทรอยด์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

•    ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนระดับฮอร์โมนในเลือดสูงกว่าปกติ อาการที่พบเช่น เหนื่อยง่าย, ใจสั่น, ขี้ร้อน, เหงื่อออกมาก, หิวบ่อย, น้ำหนักลดถึงแม้รับประทานมาก, สมาธิสั้น, เครียด, นอนไม่หลับ, บางรายถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้นวันละ 2-3 ครั้ง สำหรับในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยลง ส่วนผู้ชายจะมีอาการกล้ามเนื้อขาและแขนส่วนต้นอ่อนแรง ทั้งนี้บางรายอาจตับโต ตัวและตาเหลือง อีกทั้งในรายที่ต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงอาจมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวได้

การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีอยู่ 3 วิธีคือ การให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์, การให้ยาไอโอดีนเคลือบสารกัมมันตรังสี Iodine 131 และการผ่าตัด ทั้งนี้ การเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอาการผู้ป่วยแต่ละราย

•    ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป เป็นภาวะที่เกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอยู่ในระดับน้อยเกินไป โดยอาการที่พบอย่างเช่น เฉื่อยชา, ขี้เกียจ, ง่วงหาวบ่อย, คิดช้า, พูดช้า, ซึมเศร้าไม่มีสมาธิ, น้ำหนักเพิ่มขึ้นบวกแบบกดไม่บุ๋ม, เหนื่อยง่าย, หายใจได้ไม่เต็มที่, ท้องผูก, ผิวหนังแห้ง หยาบ, ผมหยาบหนาเปราะร่วงง่าย, กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย, ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมามากกว่าปกติ หรือประจำเดือนขาด และในรายที่อาการรุนแรงมาก อาจพบน้ำอยู่ในช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องปอด, ช่องหัวใจ


การรักษาต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ใช้วิธีการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อชดเชยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ จึงต้องรักษาไปตลอดชีวิต เมื่อชดเชยฮอร์โมนได้เพียงพอ ร่างกายจะกลับสู่ภาวะปกติ สิ่งสำคัญคือ ต้องชดเชยให้ฮอร์โมนจอยู่ในระดับปกติตลอดไป

 


พญ.สมพร วงศเราประเสริฐ
อายุรแพทย์ระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน
โรงพยาบาลเวชธานี



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.