ตลาดหุ้นเปราะบาง-บาทอ่อน
 


ตลาดหุ้นเปราะบาง-บาทอ่อน


ตลาดหุ้นเปราะบาง-บาทอ่อน

ตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์ก่อน (26-30 ส.ค.) มีแนวโน้มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ต้นสัปดาห์ (26 ส.ค.) ดัชนีปิดที่ 1,329.18 จุด ลดลง 8.95 จุด หรือ 0.67% มูลค่าการซื้อขาย 29,530.67 ล้านบาท โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค.ว่ามียอดติดลบ 1.48% จากเดือน มิ.ย.ที่ติดลบ 3.38% เป็นปัจจัยลบที่กดดันการลงทุนให้ได้รับผลกระทบกลางสัปดาห์ (28 ส.ค.) ดัชนีปิดที่ 1,275.76 จุด ลดลง 18.21 จุด หรือ 1.41%มูลค่าการซื้อขาย 53,688.70 ล้านบาท เพราะมีปัจจัยกดดันจากปัญหาในต่างประเทศ



โดยเป็นผลสืบเนื่องจาก เหตุการณ์ฆ่าหมู่ด้วยอาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนประธานาธิบดีสหรัฐและฝรั่งเศสต้องหารือ

แนวทางประสานงานที่อาจจะมีขึ้นเพื่อตอบโต้ ขณะเดียวกัน การแข็งค่าของเงินบาท ก็กดดันให้เงินทุนต่างชาติไหลออก จึงเป็นผลให้ตลาดหุ้นในวันนี้ยังไม่สดใส

ท้ายสัปดาห์ (29 ส.ค.) ดัชนีปิดที่ 1,292.53 จุด เพิ่มขึ้น 16.77 จุด หรือ 1.31% มูลค่าการซื้อขาย 37,334.76 ล้านบาท

โดยเป็นการฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่นักลงทุนกลับเข้ามาซื้ออีกครั้ง เพราะตลาดได้ปรับตัวลดลงมากแล้วในช่วงสิบวันที่ผ่านมา (15-28 ส.ค.) อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่มีประเด็นใหม่ที่ขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปต่อได้มากนัก ตรงกันข้ามกับแรงกดดันใน

ต่างประเทศ เช่น กรณีที่ซีเรียใช้อาวุธเคมี และการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 17-18 ก.ย. ซึ่งหลายฝ่ายจับตาว่าจะมีการลดอัดฉีดเงินตามมาตรการทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) นั้น ยังคงสร้างแรงถ่วงให้กับการลงทุนอยู่

ทั้งนี้ ช่วง 4 วันทำการ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5,255.1 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 2,523.56 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 639.59 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 7,173.55 ล้านบาท 

สำหรับสัปดาห์นี้ (2-6 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่า ตลาดจะมีความเปราะบางค่อนข้างมาก โดยกรอบการแกว่งตัวจะมีแนวรับอยู่ที่ 1,250 จุด และแนวต้านที่ 1,330 จุด ปัจจัยที่จะมีผลต่อการลงทุน คือการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐ 

ความเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา (26-30 ส.ค.) เปิดวันแรกของสัปดาห์ (26 ส.ค.) ที่ 31.90/91 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากสัปดาห์ก่อน หลังจากตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ค.ในสหรัฐลดลง 13.4% สวนทางกับภาพเมื่อเดือนก่อนหน้า สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์ออกมาเพื่อทำกำไร ขณะที่ภายในประเทศ เงินบาทอ่อนค่าเนื่องจากผู้นำเข้าซื้อดอลลาร์เข้ามาชำระค่าสินค้ามากขึ้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขส่งออกเดือน ก.ค.ที่ปรับตัวลดลง 1.48% ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.08% ทำให้ท้ายวันปิดตลาด 31.94/96 บาท/ดอลลาร์ 

กลางสัปดาห์ (28 ส.ค.) เปิดตลาดที่ 32.19/21 บาท/ดอลลาร์ และระหว่างอ่อนค่าทำสถิติที่ระดับ 32.29 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อประเด็นการเมืองระหว่างประเทศในกรณีซีเรีย และมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะโจมตีซีเรีย ทำให้นักลงทุนหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ดอลลาร์สหรัฐและเงินเยน ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดปริมาณการซื้อพันธบัตรในเดือน ก.ย. จึงทำให้เงินทุนไหลออก ตลอดเดือน ส.ค.เงินบาทอ่อนค่ามากถึง 1 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ 32.24/26 บาท/ดอลลาร์ 

ท้ายสัปดาห์ (30 ส.ค.) เงินบาทเปิดตลาดที่ 32.07 บาท/ดอลลาร์ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเพราะมีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย และที่ผ่านมานักลงทุนได้ถอนสินทรัพย์ออกจากเอเชียและไทยไปพอสมควรแล้ว อีกทั้งมีการซื้อดอลลาร์สะสมมาตลอด 2 สัปดาห์แล้ว ถึงปลายสัปดาห์นี้จึงชะลอซื้อลง 

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์เงินบาทสัปดาห์นี้ (2-6 ก.ย.) เคลื่อนไหวในกรอบ 31.70-32.30 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องติดตามการประกาศตัวเลขรายได้-รายจ่ายภาคประชาชน การจ้างงานของสหรัฐ หากตัวเลขดีขึ้นก็ยิ่งสนับสนุนการตัดสินใจต่อนโยบายคิวอีของเฟดได้ชัดเจนขึ้น และอาจทำให้เห็นบาทอ่อนค่ากลับมาได้


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ www.facebook.com/prachachatทวิตเตอร์ @prachachat



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.