ม็อบเกษตรเขย่ารัฐบาล จาก "ข้าว" สู่ "ยาง" ต่อไปคือ...?
 


ม็อบเกษตรเขย่ารัฐบาล จาก "ข้าว" สู่ "ยาง" ต่อไปคือ...?


ม็อบเกษตรเขย่ารัฐบาล จาก

และแล้ววงเจรจาแก้ปัญหาราคายางพาราที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแกนนำชาวสวนยาง 4 ภาค เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ก็ยังไม่ได้ผลสรุปที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

วงเจรจาระหว่าง "รัฐบาล-เกษตรกร" ที่ฝ่ายแรกนำโดย "ยุคล ลิ้มแหลมทอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับฝ่ายตัวแทนชาวสวนยาง นำโดยแกนนำ 2 กลุ่มหลัก นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย

เป็นวงเจรจาที่ "ยุคล" ถูกกำชับให้ต่อรองกับชาวสวนยาง เพื่อไม่ให้รัฐบาลถูกบีบให้กลับไปใช้มาตรการ "ประกันรายได้" ที่เป็นสูตรสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และห้ามมิให้ประกาศรับซื้อยางในราคาสูงกว่าตลาด

ภายหลังใช้เวลาถกปัญหากว่า 5 ชั่วโมง ผลลัพธ์ในวันนั้นเป็นเพียง "ความเห็น" ที่จะต้องโยนกลับให้เป็นหน้าที่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อีกครั้งหนึ่ง

หากเพียงเป็นการต่ออายุ-ยืดระยะให้รัฐบาลมีเวลาหายใจอีก 15 วันตามข้อตกลง เพื่อขยับเงื่อนไขการช่วยเหลือให้ครอบคลุมตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับชาวสวนยาง

เงื่อนไขที่ชาวสวนยางร้องขอ ประกอบด้วย การยกเลิกหมายจับ-คดีความของกลุ่มชาวสวนยางที่ชุมนุมปิดถนน บริเวณอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

การขยายเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกร ด้านปัจจัยการผลิตที่จ่ายเงินถึงบัญชีเกษตรกรโดยตรงในอัตรา 1,260 บาทต่อไร่ จากเดิมกำหนดในอัตราไร่ละไม่เกิน 10 ไร่ต่อคนต่อปีเป็น 25 ไร่ต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นวงเงินที่เกษตรกรต่อคนจะได้รับประมาณ 31,500 บาทต่อคนต่อปี

เหตุที่เสนอให้ขยายขอบเขตการช่วยเหลือเป็น 25 ไร่ เพราะชาวสวนยางคำนวณกำไร-ขาดทุน ขอบเขตดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงข้อต่อรองให้รัฐบาลเดินหน้าประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 92 บาท และจะทำให้ชาวสวนยางได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากเดิม 728,685 คน (กรณีไม่เกิน 10 ไร่) เป็น 950,374 คน (กรณีไม่เกิน 25 ไร่)

ทั้งนี้เมื่อคำนวณจากฐานข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรที่ระบุว่า พื้นที่ 1 ไร่สามารถผลิตน้ำยางได้เฉลี่ย 200-220 กิโลกรัม ดังนั้นการจ่ายเงินอุดหนุนที่ 1,260 บาทต่อไร่ ยิ่งเท่ากับว่าภาครัฐได้เตรียมจ่าย "เงินสด" ที่ไม่ต้องการใบเสร็จหรือคำยืนยันว่าซื้อปัจจัยการผลิตจริงแก่ชาวสวนยางที่ 5.7-6.3 บาทต่อกิโลกรัมเป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมถึงเพียงแค่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และถือเอกสารสิทธิที่ดินถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกสวนยางแบบผิดกฎหมาย-บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่คาดว่ามีปริมาณกว่า 1 ล้านคน ยังต้องเจรจาหาทางออกกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้ในวงเจรจาจึงไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า "ม็อบสวนยาง" ที่จะเริ่มชุมนุมในวันที่ 3 กันยายนนี้จะไม่เกิดขึ้น มีเพียงคำยืนยันจากทั้งฟากรัฐบาลและกลุ่มตัวแทนชาวสวนยาง 4 ภาค ว่าจะเจรจากับทุกกลุ่มให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แม้ในวันเดียวกัน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จะระดมสมองหาทางแก้ปัญหาตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อวางแผน "ระยะยาว" ในการแก้ปัญหาล่วงหน้าไปแล้ว ผ่านวงประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มี "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน

ปรากฏเป็นแนวทางการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนในวงเงิน 20,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาประกอบด้วย การจัดสรรวงเงิน 5,000 ล้านบาทให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้แก่สถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางเบื้องต้น และสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ 15,000 ล้านบาทผ่านธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

นอกจากนั้นยังเห็นชอบให้นำเงินสงเคราะห์ที่เก็บจากผู้ส่งออกยาง หรือค่าเซส (Cess) ที่มีอยู่ 10,000 ล้านบาท มาเป็นงบฯสนับสนุนในการโค่นต้นยางที่มีอายุมากกว่า 25 ปี และหามาตรการจูงใจให้เกษตรหันไปปลูกพืชพลังงาน อาทิ ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

เป็นมาตรการที่ต้องใช้วงเงินถึง 35,000 ล้านบาท แต่กลุ่มชาวสวนยางยังไม่มีใครแสดงความมั่นใจว่า "แผนระยะยาว" ที่รัฐบาลกำหนดไว้จะสามารถแก้ปัญหาราคายางพาราได้อย่างแท้จริง

แม้มาตรการระยะสั้น-ยาวที่ถูกกลั่นออกจากวงประชุมของ "ยุคล" และ "กิตติรัตน์" อาจทำให้กลุ่มมวลชนบางส่วนถอยกลับไปตั้งหลัก เพื่อเฝ้ารอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างหรือไม่

ขณะที่ "ม็อบสวนยาง" บางส่วนยังคงประกาศดำเนินการตามยุทธศาสตร์ "ปิดประเทศ" ผ่านแผนขับเคลื่อนมวลชน 3+1
ทั้งวางกำลังชาวสวนปิดถนน 3 เส้นทางหลัก ที่มุ่งหน้าสู่เหนือ ใต้ และอีสาน ประกอบด้วย การปักหลักชุมนุมที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ขณะที่กลุ่มชาวสวนโซนภาคตะวันออกและกลาง ถูกมอบหมายให้เคลื่อนพลเข้าสู่ศูนย์กลางบริหาร ทำเนียบรัฐบาล โดยเบื้องต้นประมาณกำลังคนสูงสุดไว้ที่ 12,000 คน โดยภาพรวมตามแผน 3+1 หากระดมคนได้ตามเป้า คาดว่าจะมีชาวสวนยางร่วมชุมนุมทั่วประเทศในจำนวนหลักแสน 

เมื่อข้อเสนอ-ทางออกที่ถูกประกาศผ่านตัวแทนของรัฐบาล ยังไม่เป็นที่พอใจกับชาวสวนยาง จึงไม่แปลกที่ฝ่ายบริหาร ยังคงออกอาการตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เพราะหวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย "ม็อบชาวนา" ที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงความขัดแย้งไปได้ไม่นาน

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2556 ภายหลังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 12,000 บาท จากเดิมตันละ 15,000 บาท หลังจากพบว่ามาตรการดังกล่าวสร้างภาระขาดทุนให้กับรัฐบาลจำนวนมาก เป็นเหตุให้กลุ่มชาวนาแสดงความไม่พอใจ และประกาศชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้กลับมารับจำนำในราคา 15,000 บาทต่อตันดังเดิมและการตัดสินใจของ กขช.ยังไม่ทันผ่านพ้นข้ามคืนข้ามวัน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ก็พลิกมติกลับมารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาทเหมือนเดิม

โดยเหตุที่พลิกกลับมาใช้มาตรการเดิมแบบสายฟ้าแลบ เป็นเพราะเกรงว่าพลังจาก "ม็อบชาวนา" อาจสร้างความกดดันเขย่ารัฐบาลในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญสภาวะ "ขาลง" อย่างเห็นได้ชัดทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญภาวะ "บาทแข็ง" ที่ยังไม่สามารถแกะปมออกได้ ทั้งปัญหาการเมืองที่ช่วงเวลานั้นทั้งองคาพยพของพรรคเพื่อไทยประกาศให้เริ่มเดินหน้า "ปรองดอง" ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เฉกเช่นเดียวกันกับเวลานี้ที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" และพรรคเพื่อไทยยังคงเผชิญปัญหาการเมืองไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะศึกในสภาที่ยังจ่อคิวแน่นขนัด ผ่านร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ทั้งวาระแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา วาระกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และวาระนิรโทษกรรม ฉะนั้นการปล่อยเวลาให้ "ม็อบเกษตรกร" ชุมนุมยืดเยื้อ จึงไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมเสถียรภาพของรัฐบาล

ยิ่งไปกว่านั้น สาเหตุการชุมนุมครั้งนี้ยังมีแกนนำบางส่วนเปิดเผยว่า เป็นเพราะความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลที่อาจเรียกว่า "2 มาตรฐาน" เปรียบเทียบการแก้ปัญหาเรื่องข้าวและยางพารา ที่ได้รับการดูแลที่แตกต่างกัน และว่ากันว่าหากแก้ปัญหาผ่านพ้นฤดูกาล "ม็อบสวนยาง" ไปได้ ยังคงมีกลุ่มเกษตรกรในหมวดอื่น ๆ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย จ่อคิวรอทวงถามความช่วยเหลือจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.