ทัพใหญ่ ขรก.ใต้ปีก "ยิ่งลักษณ์" ฝ่ามรสุมการเมือง - คานองค์กรอิสระ
 


ทัพใหญ่ ขรก.ใต้ปีก "ยิ่งลักษณ์" ฝ่ามรสุมการเมือง - คานองค์กรอิสระ


ทัพใหญ่ ขรก.ใต้ปีก

4 เดือนสุดท้ายของปี 2556 คลื่นลมการเมืองอาจส่งแรงหนุนให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารงานนโยบายได้เป็นใจมากขึ้น

หากตัดปัจจัยลบทางการเมือง ทั้งข่าวลือยุบสภา-รัฐประหาร การเผชิญหน้ากับม็อบเกษตรกร และแรงสะเทือนจากการเดินหน้าผ่านกฎหมายแบบสุดซอยอีกหลายฉบับ

ฟากปัจจัยบวกที่จะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกองกำลัง-เครือข่ายเข้ามาเสริมในแผนงานบริหารงานราชการแผ่นดินได้เพิ่มขึ้น คือ ฤดูกาลโยกย้ายข้าราชการประจำปี 2556

หนนี้มีข้าราชการระดับสูงตำแหน่งปลัดกระทรวงและเทียบเท่า (ซี 11) ครบวาระเกษียณอายุถึง 9 ตำแหน่ง แบ่งเป็น 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ ปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และอีก 2 หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

โดย 3 ใน 9 ตำแหน่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชิงจังหวะแต่งตั้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ดังนั้นยังคงเหลือตำแหน่งข้าราชการระดับสูงที่ต้องจัดโผในมืออีก 6 ตำแหน่ง โดยมี 3 กระทรวงใหญ่ ทั้งคมนาคม-พาณิชย์-แรงงาน ที่ต้องเฟ้นมือดีออกมาเพื่อขับเคลื่อนชิ้นงานจากฝ่ายการเมืองสู่ภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ยังไม่นับรวมข้าราชการระดับอธิบดีหรือเทียบเท่า (ซี 10) ที่ถึงคิวเกษียณอายุอีกกว่า 20 คน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย-ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานบริหาร-งานการเมือง จากภาพลักษณ์พรรคเพื่อไทยสู่ประชาชนระดับท้องถิ่น

ถือเป็นการปรับทัพข้าราชการครั้งใหญ่ที่จังหวะตกอยู่ในช่วงเวลาของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" คล้ายคลึงกับ "โอกาสทอง" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 ในช่วงท้ายของยุครัฐบาล "ทักษิณ 1"

ในครั้งนั้นมีการแต่งตั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า (ซี 11) รวม 10 ตำแหน่ง ได้แก่ นายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายไพรัช ธัชยพงษ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายอำพน กิตติอำพน เป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายไกรสร พรสุธี เป็นปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

และจากปรากฏการณ์แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในครั้งนั้น ทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย

และจากปากคำทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก็เชื่อมั่นว่า โอกาสในการแต่งตั้งครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักให้ผลงานของรัฐบาลผ่านได้แบบรวดเร็วเหมือนสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะรัฐบาลจะครบเครื่องทั้งมุมบริหารงานแบบนักธุรกิจของ "ยิ่งลักษณ์" และการรับ-ส่งลูกต่อจากข้าราชการระดับสูงที่ไว้วางใจ

ขณะที่ "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์" เลขานุการ รมว.มหาดไทย และเคยเป็นเลขานุการส่วนตัว "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นหนึ่งในขุนพลตึกไทยคู่ฟ้ายุคที่ "ไทยรักไทย" กุมเสียงข้างมาก 377 เสียง

เขาบอกว่า การบริหารประเทศยุคไทยรักไทยที่ข้าราชการทุกกรมกอง เป็นลมใต้ปีก พยุงให้รัฐนาวาขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ มาจากปัจจัยเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนเลือกใช้คนเก่ง

"แกเป็นคล้าย ๆ พ่อครัวที่ไม่ง้ออะไร เปรียบเหมือนแกมีวัตถุดิบอาหารวางอยู่รอบตัว คือ พวกเรา เวลาทำผัดผัก ผักเล่นตัว แกก็เอาหมูมาทอดกระเทียม เป็นการหยิบวัตถุดิบมาปรุงอาหารก็เลยปรุงได้อร่อย ท่านรู้จักใช้คน เวลาทำเวิร์กช็อป เรียกปลัดทุกกระทรวงมานั่ง ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าขาดอะไรบ้าง งานที่ทำถึงสำเร็จ"

"ยกตัวอย่าง ถ้าวันนี้ทุกกระทรวงอยากมีเครื่องบิน ต้องหาโรงเก็บ ค่าซ่อมบำรุง ทุกอย่างต้องครบหมด ท่านก็ถามว่าอันไหนขาด อย่างขาดงบประมาณ กระทรวงการคลังต้องดูแล ทุกกระทรวงที่รับผิดชอบก็ต้องตอบรับทันที งานมันถึงเดินได้"

ไม่ว่าบริหารคนการเมือง และบริหารข้าราชการระดับเทคโนแครต "พ.ต.ท.ทักษิณ" จึงนิยมหยิบสูตรสำเร็จ Put the right man on the right job ขึ้นมาใช้เสมอ

"ผู้บริหารเก่งได้ ต้องเลี้ยงหมาไว้สู้กับหมา เลี้ยงคนไว้สู้กับคน ถ้าเลี้ยงคนดีหมด เลี้ยงหมาหมดก็เจ๊ง การเมืองก็เหมือนกัน เอาตัวแสบ ๆ ไว้ตีบ้าง แต่ถ้าพอดูแรงไปก็บอกว่า เฮ้ย...เบา ๆ หน่อย"

อดีตเลขาฯส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกปัญหาการเลือกใช้ข้าราชการของพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องถึงพรรคเพื่อไทย หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า "เดี๋ยวนี้เลือกคนค่อนข้างยาก เพราะบางคนชวนแล้วไม่มา"

"วันนี้ถ้าดึงบางคนมาช่วยงาน ใครไม่เวิร์กก็พยายามเปลี่ยน แต่ก็ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน" แต่ถ้าคนเก่ง ทำงานดี ก็อาจจะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี "ผดุง" ยอมรับว่า "ถูกต้อง"

และคนที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ดึงแล้ว "เวิร์ก" นั่นคือ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รมว.คมนาคม ที่ดึงจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นกองกำลังสำคัญของรัฐบาลผ่านแผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

"ชัยเกษม นิติสิริ" อดีตอัยการสูงสุด ที่ได้นั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม "เบญจา หลุยเจริญ" ที่ตัดสินใจลุกจากเก้าอี้ข้าราชการก่อนนเกษียณอายุ จากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลากากรสู่ รมช.คลัง และ "ยรรยง พวงราช" อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกดึงมาช่วยบริหารโครงการรับจำนำข้าวในตำแหน่ง รมช.พาณิชย์

และยังไม่นับรวมข้าราชการอีก 3 ตำแหน่งที่อยู่ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง "ยุคล ลิ้มแหลมทอง" อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ ด้าน "สมศักย์

ภูรีศรีศักดิ์" อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เลื่อนขั้นเป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

ไม่เพียงข้าราชการเท่านั้นที่ถูกปรับย้ายหากแต่แวดวงองค์กรอิสระ ที่ถูกตีตราว่าเป็น "ขั้วตรงข้าม" ของรัฐบาลในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างก็มีอันครบวาระต้องปรับสับเปลี่ยนบุคลากรเช่นเดียวกัน

องค์กรอิสระที่สำคัญในเวลานี้ที่ถึงฤดูกาลเปลี่ยนผ่าน ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ที่กรรมการหรือองค์คณะต้องพ้นวาระไป

โดยเริ่มจากกลางเดือนกันยายนนี้ ทั้ง 5 เสือ กกต. ไม่ว่าจะเป็น อภิชาต สุขัคคานนท์ สดศรี สัตยธรรม ประพันธ์ นัยโกวิท สมชัย จึงประเสริฐ และวิสุทธิ์ โพธิแท่น จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี หลังจากเป็น กกต.ชุดเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยา 2549

แม้จะครบวาระแต่ กกต.ทั้ง 5 คน ยังไม่หมดหน้าที่ ยังต้องรักษาการไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามารับไม้ต่อ ซึ่งประธาน "อภิชาต" เคยกาปฏิทินไว้ว่า กกต.ชุดใหม่จะมาทำหน้าที่แทนราวเดือนธันวาคม

หนึ่งในแคนดิเดตที่ออกตัวแรง เตรียมกรอกใบสมัครลงชิงเก้าอี้ 5 เสือ กกต.คนใหม่คือ "วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" อดีตนายตำรวจวัง-เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และปลัดกระทรวงคมนาคม ที่จะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้

เพราะ "วิเชียร" มีความสนิทสนมกับ กกต. "ประพันธ์" มาตั้งแต่เป็นรอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 และการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม 2550

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังจาก "วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ และการเป็นตุลาการ จึงทำให้มีการสรรหาตุลาการคนใหม่ ล่าสุดคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเลือกให้ "ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ" เป็นตุลาการคนใหม่

และเมื่อองค์คณะตุลาการครบทั้ง 9 คน ก็จะมีการเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่อีกครั้ง

แต่ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่จบ เพราะหลังจาก ป.ป.ช.มีมติให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเรียกเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของบุตรชายนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คืนจากนายบุญส่งหลังอนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาต่อต่างประเทศโดยพลการ

มติของ ป.ป.ช.ส่งผลให้ "บุญส่ง" อาจ "ไขก๊อก" จากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม "วสันต์" เพราะมีชนักติดหลัง จากมติดังกล่าวของ ป.ป.ช. ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาลรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นองค์กรสีเทา

ทั้งที่ยังมีคดีการเมืองรอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอยู่ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย 3 ฉบับ ซึ่งถูกกลุ่ม ส.ว.สรรหายื่นเรื่องให้วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่, พ.ร.บ.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นทันทีหลังจากผ่านกระบวนการรัฐสภา

ด้าน ป.ป.ช.คนที่ต้องพ้นการทำหน้าที่กรรมการไป เพราะอายุครบ 70 ปี คือ "กล้านรงค์ จันทิก" กรรมการ และโฆษก ป.ป.ช.

เมื่อวาระเกษียณอายุของข้าราชการระดับสูงเป็นโอกาสทองให้ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จัดตำแหน่ง เรียงกำลังพลชุดใหม่ พร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายทันทีที่ได้รับตำแหน่งวันที่ 1 ตุลาคม 2556

เมื่อ 3 องค์กรอิสระที่มักถูกฝ่ายการเมืองตีตราว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย ถึงคราวต้องปรับทัพตามวาระเช่นเดียวกัน

จึงน่าจับตาดูว่า 2 ปีที่เหลือของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ภายหลังปรับทัพข้าราชการ ที่ต้องเผชิญหน้ากับทีมงานองค์กรอิสระชุดใหม่ สถานการณ์-กลเกมอำนาจบนกระดานการเมืองจะพลิกไปอยู่ที่ฝ่ายใด



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ www.facebook.com/prachachatทวิตเตอร์ @prachachat



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.