รถยนต์ "คุยกัน" รับมือเหตุฉุกเฉิน อีกขั้นของเทคโนโลยีจาก "ฟอร์ด"
 


รถยนต์ "คุยกัน" รับมือเหตุฉุกเฉิน อีกขั้นของเทคโนโลยีจาก "ฟอร์ด"


รถยนต์

รายงานข่าวจาก เดียร์บอน มิชิแกน แจ้งว่า ฟอร์ดได้เริ่มต้นโครงการศึกษาระบบการสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์ที่อยู่ในสถานี อวกาศนานาชาติ และการสื่อสารของหุ่นยนต์ในอวกาศกับพื้นโลก เพื่อนำข้อมูลมาช่วยพัฒนาระบบการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างรถยนต์ในอนาคต เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดและพัฒนาวิธีการสื่อสารของรถยนต์เมื่อเกิด เหตุฉุกเฉินให้มีความทันสมัยมากขึ้น

หนึ่งในโครงการมากมายช่วยส่งเสริมด้านการสื่อสารระหว่างรถยนต์ นั่นคือ การเปิดตัวโครงการวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศรัสเซียเป็นเวลา 3 ปี โดยร่วมมือกับภาควิชาเทเลมาติกส์ มหาวิทยาลัยเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก โพลีเทคนิค เป้าหมายสำคัญในการสานความสัมพันธ์ครั้งนี้ก็คือ การวิเคราะห์ระบบการสื่อสารของหุ่นยนต์ที่อยู่ในอวกาศ เพื่อนำมาใช้กับโครงข่ายการสื่อสารของรถยนต์และช่วยแก้ปัญหาด้านการเดินทางของผู้คนในปัจุบัน

การพัฒนาระบบเชื่อมต่อการสื่อสารในรถยนต์นั้น นับว่ามีศักยภาพในการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ด้วยการทำให้รถยนต์สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ รวมทั้งยังสื่อสารกับอาคาร สัญญาณไฟจราจร ฐานข้อมูลในคลาวด์ และระบบอื่นๆ โดยใช้การส่งข้อความหากัน หรือใช้วิธีตรวจจับและตอบสนองต่อสัญญาณเตือนการเกิดการชนในระยะประชิด



หนึ่งในพัฒนาการที่จะได้รับจากโครงการวิจัยครั้งนี้คือความก้าวหน้าด้านวิธีการสื่อสารของรถยนต์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยจะศึกษาวิธีการแก้ปัญหาในกรณีที่การส่งข้อความขอความช่วยเหลือฉุกเฉินในครั้งแรกไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเครือข่ายล่มการศึกษาระบบและวิธีการส่งข้อความซ้ำๆ หากข้อความแรกไม่สามารถส่งไปยังผู้รับปลายทางได้

ตัวอย่างเช่น หากรถประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารระหว่างรถกับคลาวด์ (Vehicle-to-cloud communications-V2C) รถอาจหันไปใช้เครือข่ายการสื่อสารระหว่างรถกับรถคันอื่น (vehicle-to-vehicle communications-V2V) รวมทั้งส่งสัญญาณเป็นข้อความแจ้งเตือนหรือขอความช่วยเหลือจากรถที่ขับผ่านไปมาด้วยระบ V2V และจากนั้นจึงสื่อสารกับโครงข่ายพื้นฐานอื่นๆ จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย

"การศึกษาวิธีแก้ปัญหาเมื่อระบบล้มเหลวและการเลือกใช้เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นเป็นสิ่งสำคัญหากระบบหนึ่งล่มไป เราจะต้องมองหาระบบสำรองให้ได้และใช้ระบบนั้นกระจายข้อความออกไปยังเครือข่ายต่างๆ" มร.โอเล็ก กูซิคิน หัวหน้าทีมงานฝ่ายเทคนิคด้านการวิเคราะห์ระบบของฟอร์ดกล่าว

สำหรับระบบเทเลมาติกส์ เป็นการส่งข้อมูลแบบดิจิตอลระยะทางไกลที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับสถานีอวกาศนั้น เป็นระบบที่มีศักยภาพสูงมากในการนำมาพัฒนาการทำงานของระบบสื่อสารในอนาคตระหว่างรถกับคลาวด์ รถกับโครงข่ายพื้นฐาน รถกับรถ และการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ (V2X) ให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยนำเอาเทคโนโลยีโครงข่ายการสื่อสารหลายแบบมาใช้ร่วมกัน อาทิ การใช้คลื่นความถี่สั้นเพื่อการสื่อสารระยะใกล้ (Dedicated short-range communication-DSRC) เทคโนโลยีไร้สายบรอดแบนด์ (LTE) และระบบการสื่อสารแบบโครงข่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการสื่อสารอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพผ่านระบบสัญญาณที่แรงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำเป็นต้องส่งข้อความสำคัญๆ

การนำเอาความรู้ที่ได้จาการวิเคราะห์หุ่นยนต์ในอวกาศมาใช้ ช่วยให้วิศวกรของฟอร์ดพัฒนาชุดคำสั่งเพื่อฝังลงในระบบเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์และสิ่งอื่นๆ ได้ จะส่งผลให้ข้อความต่างๆ ถูกจัดส่งไปยังเครือข่ายการสื่อสารที่เหมาะสมตามลำดับความสำคัญ อย่างเช่นในกรณีที่รถส่งข้อความเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ระบบจะส่งข้อความนี้ไปยังโครงข่ายที่รองรับการส่งข้อมูลได้เร็วที่สุด ขณะที่ข้อความอื่นๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงภายในรถจะถูกส่งไปยังระบบเชื่อมต่อระหว่างรถและโครงข่ายพื้นฐานทั่วไป หรือส่งผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ฝังอยู่ในรถ หรือผ่านเครือข่ายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ขับขี่นำมาเชื่อมต่อกับรถ เป็นต้น

"เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาวิจัยว่าเครือข่ายใดที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดสำหรับข้อความแต่ละประเภทรวมทั้งศึกษาช่องทางสำรองในกรณีที่เครือข่ายหลักอาจจะล่มในบางสถานการณ์ด้วย อย่างเช่นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถอาจเลือกส่งข้อความผ่านระบบ DSRC ระบบ LTE หรือระบบการสื่อสารแบบโครงข่าย โดยพิจารณาจากประเภทของสัญญาณ ความเร็ว และประสิทธิภาพในการส่งข้อความไปยังหน่วยกู้ภัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" มร.กูซิคินกล่าว

สำหรับหุ่นยนต์ในอวกาศที่ฟอร์ดเลือกใช้เพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบเทเลมาติกส์ในครั้งนี้ประกอบด้วย หุ่นยนต์จัสติน ฮิวแมนนอยด์ (JUSTIN Humanoid) ยูโรบอต กราวด์ โปรโตไทป์ (EUROBOT Ground Prototype) และนาซ่า โรโบนอต อาร์ทู (NASA Robonaut R2)

ข้อมูลจากโครงการวิจัยนี้คาดว่าจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายของฟอร์ดและการวางแผนงานเพื่อการเดินทางในอนาคตของบริษัท(Blueprint for Mobility) แผนงานดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของฟอร์ดในการแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมในโลกยุคที่มีประชากรเพิ่มขึ้นและชุมชนเมืองขยายวงกว้างมากขึ้นครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2568





ที่มา : นสพ.มติชน




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.