วิวัฒนาการ... ปรับค่าทางด่วน 1 ก.ย.นี้ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอีก
 


วิวัฒนาการ... ปรับค่าทางด่วน 1 ก.ย.นี้ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอีก


วิวัฒนาการ... ปรับค่าทางด่วน 1 ก.ย.นี้ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มอีก
"ทางด่วน" เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ขับขี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องการเดินทางสู่ที่หมายได้อย่างรวดเร็ว แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ยอมแลกเพื่อซื้อเวลาในการเดินทาง ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานอีกแล้ว

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก่อสร้างทางพิเศษและเปิดให้บริการแล้ว 7 สาย 3 ทางเชื่อมต่อ รวมระยะทาง 207.9 กิโลเมตร มีปริมาณการจราจรที่ใช้ทางด่วนในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 1,622,485 เที่ยว และมีรายได้จากค่าผ่านทางเฉลี่ยวันละ 60,129,924 บาท โดยทางพิเศษที่เปิดให้บริการสายแรกเมื่อปี 2524 คือทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นโครงข่ายในเมือง มีระยะทางทั้งสิ้น 27.1 กม. ประกอบด้วย สายดินแดง-ท่าเรือ ระยะทาง 8.9 กม. สายบางนา-ท่าเรือ ระยะทาง 7.9 กม. และสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ระยะทาง 10.3 กม. ในช่วงแรกมีอัตราค่าผ่านทางอยู่ที่ 10 บาท

ต่อมา กทพ. ได้ลงนามในสัญญากับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือบีอีซีแอล เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2531 ให้เป็นผู้ก่อสร้างและบริหารทางพิเศษศรีรัช หรือระบบทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นเวลา 30 ปี เพื่อเพิ่มโครงข่ายทางด่วนแบ่งเบาการจราจรของทางด่วนขั้นที่ 1 และช่วยให้การเดินทางเข้าสู่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง เช่น ถนนจันทน์ ถนนสาทร ถนนสีลม ถนนสุรวงศ์ ถนนสี่พระยา ถนนพระรามที่ 4 และถนนพระรามที่ 1 สะดวกมากขึ้น ลดปัญหาการจราจรบริเวณดินแดง บริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน และทางแยกต่างระดับคลองเตย มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 38.4 กม. แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วน A เริ่มต้นที่ถนนรัชดาภิเษก ผ่านบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) สิ้นสุดแนวสายทางที่ถนนพระราม 9 ระยะทาง 12.4 กม. ส่วน B เชื่อมต่อกับส่วน A เริ่มจากจุดเชื่อมต่อบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท (โรงกรองน้ำสามเสน) ผ่านถนนศรีอยุธยา สิ้นสุดแนวสายทางที่บริเวณบางโคล่ ระยะทาง 9.4 กม. ส่วน C เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนรัชดาภิเษก ผ่านถนนประชาชื่น มุ่งไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง ระยะทาง 8 กม. และส่วน D เชื่อมต่อกับส่วน A บริเวณถนนพระราม 9 ไปทางทิศตะวันออก สิ้นสุดที่บริเวณถนนศรีนครินทร์เป็นทางพิเศษเขตนอกเมือง ระยะทาง 8.6 กม.

เมื่อเปิดให้บริการด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A และส่วน C เมื่อปี 2536 มีการปรับค่าผ่านทางของด่วนขั้นที่ 1 โดยเก็บค่าผ่านทางอัตราเดียวกับทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A ซึ่งเป็นโครงข่ายในเขตเมือง เป็นรถ 4 ล้อ ราคา 30 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 50 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 70 บาท โดยเมื่อเปิดให้บริการด่วนขั้นที่ 2 ส่วน B ในปี 2539 ก็เก็บค่าผ่านทางในอัตราเดียวกัน ขณะที่โครงข่ายนอกเขตเมืองของด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C เก็บค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ ราคา 15 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 20 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 30 บาท

จนกระทั่งในปี 2541 ครบกำหนดการปรับขึ้นค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทาน ที่จะมีขึ้นทุก ๆ 5 ปี ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางด่วนขั้นที่ 1 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A ส่วน B ซึ่งเป็นโครงข่ายในเขตเมือง เป็นราคารถ 4 ล้อ ราคา 40 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 60 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 80 บาท ส่วนโครงข่ายนอกเขตเมืองด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C ไม่ได้ปรับราคา โดยมีการเปิดให้บริการทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ซึ่งเป็นโครงข่ายนอกเขตเมืองเพิ่มเติม คิดค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ ราคา 25 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 45 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 60 บาท ซึ่งมีการใช้อัตรานี้เป็นระยะเวลาถึง 10 ปี โดยไม่ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางในปี 2546 ที่ครบสัญญาสัมปทาน ยกเว้นอัตราค่าผ่านทางโครงข่ายในเขตเมืองของรถมากกว่า 10 ล้อ ปรับขึ้นเป็น 85 บาท

ครั้งต่อมาได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางในปี 2551 สำหรับทางด่วนขั้นที่ 1 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A ส่วน B ซึ่งเป็นโครงข่ายในเขตเมือง เป็นราคารถ 4 ล้อ ราคา 45 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 70 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 100 บาท ส่วนโครงข่ายนอกเขตเมืองด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C ปรับขึ้นเฉพาะรถมากกว่า 10 ล้อ เป็น 35 บาท จาก 30 บาท โครงข่ายนอกเขตเมืองด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ปรับขึ้นค่าผ่านทาง รถ 4 ล้อ ราคา 25 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 50 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 70 บาท

โดยล่าสุดจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางในวันที่ 1 ก.ย. 2556 ทางด่วนขั้นที่ 1 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A ส่วน B ซึ่งเป็นโครงข่ายในเขตเมือง เป็นราคารถ 4 ล้อ ราคา 50 บาท รถ 6-10 ล้อ ราคา 75 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ราคา 110 บาท โครงข่ายนอกเขตเมืองด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C ไม่ปรับขึ้นราคา ส่วนโครงข่ายนอกเขตเมืองด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ปรับขึ้นเฉพาะรถ 6-10 ล้อ ปรับเป็น 55 บาท จากเดิม 50 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น 75 บาท จากเดิม 70 บาท นอกจากนี้จะปรับขึ้นค่าผ่านทางทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กม. ปรับขึ้นเฉพาะรถ 6-10 ล้อ เป็น 50 บาท จากเดิม 45 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น 75 บาท จากเดิม 70 บาท กรณีเดินทางเกิน 20 กม. ปรับอัตราค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อ ปรับเป็น กม.ละ 1.30 บาท จากเดิม 1.20 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ ปรับเป็น กม.ละ 2.60 บาท จากเดิม 2.40 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น กม.ละ 3.90 บาท จากเดิม 3.60 บาท

ในขณะที่ทางพิเศษอุดรรัถยา (แจ้ง วัฒนะ-บางไทร) จะปรับขึ้นค่าผ่านทางในวันที่ 1 พ.ย. 2556 นี้ โดยปรับขึ้นเฉพาะช่วงแจ้งวัฒนะ-เชียงราก รถ 4 ล้อ ไม่ปรับขึ้นเก็บราคาเดิม 45 บาท รถ 6-10 ล้อ ปรับขึ้นเป็น 100 บาท จาก 95 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ ปรับขึ้นเป็น 150 บาท จาก 140 บาท

ใครที่ต้องการความเร็วในการเดินทาง เตรียมควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่านทางเพิ่มไว้ได้เลย แต่ขึ้นไปแล้วจะด่วนทันใจหรือเปล่านั้น ก็ต้องลุ้นกันต่อไป.


ทีมข่าวกทม.-จราจร / รายงาน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.