เปิดโพย "โมโนเรล" 23สถานี "ลาดพร้าว-สำโรง"
 


เปิดโพย "โมโนเรล" 23สถานี "ลาดพร้าว-สำโรง"


เปิดโพย

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง "ลาดพร้าว-สำโรง" ระยะทาง 30.4 กิโลเมตรใกล้เป็นจริง รฟม.เคาะใช้ระบบโมโนเรลทุ่มลงทุนกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท เผยมีเวนคืนจิ๊บ ๆบริเวณจุดขึ้น-ลง 23 สถานี เปิดทางเอกชนแชร์พื้นที่สร้างทางเชื่อมสถานี ปลุกคอนโดฯ-ห้างย่านศรีนครินทร์คึกคัก

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟม.ให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยนำผลศึกษาเดิมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาทบทวนรายละเอียดใหม่ จะแล้วเสร็จพฤศจิกายนนี้

ขออนุมัติ ครม.ปี′57

ตามขั้นตอนต้องนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพื่อประมูลและก่อสร้างโครงการต่อไปตามแผนงานในปี 2557 คาดว่าจะเริ่มประมูลและจัดหาระบบรถไฟฟ้า จะใช้เงินลงทุน 48,779 ล้านบาท แยกเป็นงานระบบรถไฟฟ้า 18,666 ล้านบาท ค่าเวนคืน 8,736 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 19,979 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง

นายยงสิทธิ์กล่าวอีกว่า รูปแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล สามารถขนส่งผู้โดยสาร 1-4 หมื่นคน/ชั่วโมง/ทิศทาง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

เชื่อมรถไฟฟ้า 4 สาย

ส่วนแนวเส้นทางจะก่อสร้างอยู่บนเกาะกลางถนนที่เส้นทางพาดผ่าน โครงสร้างตอม่อมีความสูง 12-15 เมตร มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายด้วยกัน จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีลาดพร้าวบริเวณแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว จากนั้นวิ่งไปตามแนวถนนลาดพร้าวจนถึงแยกบางกะปิ แล้วเลี้ยวขวาไปเข้าถนนศรีนครินทร์ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ที่แยกลำสาลี

จากนั้นผ่านทางแยกต่างระดับพระราม 9 มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดม แยกศรีเอี่ยม จนมาถึงแยกศรีเทพา จากนั้นเลี้ยวไปเข้าถนนเทพารักษ์ผ่าน

จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่สถานีสำโรง สิ้นสุดบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร

เปิดโผที่ตั้ง 23 สถานี

มีทั้งหมด 23 สถานี ได้แก่ 1.สถานีรัชดาฯ อยู่หน้าอาคารจอดแล้วจร (สถานีลาดพร้าว) 2.สถานีภาวนา อยู่ปากซอยภาวนา ลาดพร้าว 41 3.สถานีโชคชัย 4 อยู่หน้าศูนย์การค้าโชคชัย 4 ลาดพร้าว 53 4.สถานีลาดพร้าว 65 ปากซอยลาดพร้าว 65

5.สถานีฉลองรัช อยู่หน้าห้างอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว 81 6.สถานีวังทองหลาง อยู่หน้าโรงเรียนบางกอกศึกษา ลาดพร้าว 112 7.สถานีลาดพร้าว 101 8.สถานีบางกะปิ อยู่หน้าห้างแม็คโคร ใกล้เดอะมอลล์ บางกะปิ

9.สถานีแยกลำสาลี ด้านทิศใต้แยกลำสาลี เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) 10.สถานีศรีกรีฑา อยู่ด้านทิศใต้แยกศรีกรีฑา บริเวณจุดที่จะก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 11.สถานีพัฒนาการ

อยู่ระหว่างจุดตัดทางรถไฟและจุดตัดถนนพัฒนาการ เชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์สถานีหัวหมาก

12.สถานีคลองกลันตัน อยู่หน้าธัญญะช็อปปิ้ง พาร์ค และบ้านกลางเมืองศรีนครินทร์ 13.สถานีศรีนุช อยู่ด้านทิศใต้ของแยกศรีนุช 14.สถานีศรีนครินทร์ 38 อยู่บริเวณปากซอยศรีนครินทร์ 38 ใกล้กับธนาคารกรุงไทย 15.สถานีสวนหลวง ร.9 อยู่ระหว่างห้างซีคอนสแควร์ และห้างพาราไดซ์ พาร์ค

16.สถานีศรีอุดม อยู่ด้านทิศใต้แยกศรีอุดม 17.สถานีศรีเอี่ยม อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม เยื้องโครงการศุภาลัยปาร์ค และโรงแรมเมเปิล ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นจุดจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย บนที่ดินของแขวงการทาง 18.สถานีศรีลาซาล 19.สถานีศรีแบริ่ง อยู่ด้านใต้แยกศรีแบริ่ง

20.สถานีศรีด่าน อยู่ด้านทิศเหนือใกล้กับแยกศรีด่าน 21.สถานีศรีเทพา อยู่ด้านทิศตะวันตกใกล้กับแยกศรีเทพา 22.สถานีทิพวัล อยู่ปากซอยหมู่บ้านทิพวัล และ 23.สถานีสำโรง อยู่ใกล้ตลาดสดเทพารักษ์ จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ)

แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัทที่ปรึกษากล่าวว่า ในแง่การเวนคืนจะมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นจุดขึ้น-ลงสถานีประมาณ 15 เมตรจากเขตทางถนน โดยจะปรับรูปแบบก่อสร้างทางขึ้น-ลงให้กระทบกับฟุตปาทและการเวนคืนของฝั่งถนนให้น้อยที่สุด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/prachachat
หรือติดตามผ่านทวิตเตอร์ @prachachat

 

 

 

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.