หวั่นห้ามตั้งรง.ริมฝั่ง6ลุ่มน้ำชะงัก ส.อ.ท.ค้านร่างกฎกระทรวงให้อำนาจ′รมต.′เกินไป
 


หวั่นห้ามตั้งรง.ริมฝั่ง6ลุ่มน้ำชะงัก ส.อ.ท.ค้านร่างกฎกระทรวงให้อำนาจ′รมต.′เกินไป


หวั่นห้ามตั้งรง.ริมฝั่ง6ลุ่มน้ำชะงัก ส.อ.ท.ค้านร่างกฎกระทรวงให้อำนาจ′รมต.′เกินไป

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเร่งเครื่องยกร่างกฎกระทรวง ดูแลเข้มงวดการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำ 6 สายสำคัญ ด้านสภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท.) ค้านไม่เห็นด้วย บอกกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว ควรเพิ่มบทลงโทษเข้าไปจะมีผลทางปฏิบัติมากกว่า

ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายจะออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดระยะถอยร่นสำหรับโรงงานจากที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสำคัญ 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง, แม่กลอง, เจ้าพระยา, ท่าจีน, ลำตะคอง และทะเลสาบสงขลา ด้วยการกำกับดูแลที่จะเข้มงวดขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามแผนจะเร่งประกาศกฎกระทรวงให้ทันในปลายปี 2556 ปรากฏว่า ภาคเอกชนในนามสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แสดงความเห็นคัดค้าน เพราะเกรงจะกระทบโครงการลงทุนที่เตรียมจะขยายใหม่

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดกรมโรงงานฯได้ร่างกฎกระทรวงด้วยการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 8 (1) ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 41 และมาตรา 43 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวง มีสาระสำคัญดังนี้



1) ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรค และวรรค 3 ของข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติ

โรงงานฯ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทำเลที่ไม่เหมาะสมที่จะตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 บางประเภท ชนิด ขนาด หรือเงื่อนไขก็ได้ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โรงงานจำพวกที่ 3 บางประเภท

ชนิด ขนาด หรือเงื่อนไข ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเพื่อจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็ได้

2) โดยทำเลที่ไม่เหมาะสมตามความในข้อ 1 หมายความถึงทำเที่ตั้งโรงงานซึ่งอาจเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน พื้นดิน แม่น้ำลำคลอง ทะเล หรือบรรยากาศ

การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตามความในข้อ 1 หมายความถึงสภาพแวดล้อมของโรงงาน เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน พื้นดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล หรือบรรยากาศ 3) กฎกระทรวงใหม่นี้จะไม่ใช้บังคับกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงฉบับนี้จะใช้บังคับ เว้นแต่การขยายโรงงานใหม่ให้ใช้บังคับได้

"ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็นสเต็ปแรกของการออกกฎหมายดูแลลุ่มน้ำ คือ ต้องเพิ่มอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามากำหนดรายละเอียดของร่างกฎกระทรวง ทั้งประเภท ขนาด ระยะห่างจะเป็นอย่างไร การที่กรมโรงงานฯต้องเข้ามาดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะต้องการให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสภาพแวดล้อมโดยที่ไม่มีผลกระทบ จึงต้องเริ่มจากการปรับกฎหมายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น จากที่ไม่มีกฎหมายที่ดูแลโดยตรง และที่สำคัญไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา"

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับกฎกระทรวงที่จะออกมาบังคับใช้ใน 3 ประเด็น คือ 1) เดิมที่กำหนดห้ามตั้งโรงงานริมแม่น้ำนั้น หากมีระบบบำบัดที่ได้มาตรฐานแล้วก็ควรให้มีการขยายโรงงานได้ 2) ไม่ควรกำหนดระยะถอยร่น แต่ควรออกกฎหมายที่เข้มงวดมาใช้แทน เช่น บทลงโทษกรณีที่ทำผิดสูงสุด คือ จำคุก ซึ่งจะได้ผลในทางปฏิบัติมากกว่า และ 3) กฎกระทรวงใหม่ระบุ

ให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.โรงงานฯ ซึ่งในประเด็นนี้ ส.อ.ท.ต้องการให้อำนาจในการกำกับดูแลเป็นของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 32 แทน เนื่องจากไม่ต้องการให้อำนาจกำกับดูแลตกอยู่ในมือของบุคคลเพียงคนเดียวมากเกินไป และเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/prachachat
หรือติดตามผ่านทวิตเตอร์ @prachachat

 

 

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.