อัพเกรดอบรม "สิงห์รถบรรทุก" หลังขาดแคลนหนัก เงินเดือน 2 หมื่น ไม่มีตกงาน
 


อัพเกรดอบรม "สิงห์รถบรรทุก" หลังขาดแคลนหนัก เงินเดือน 2 หมื่น ไม่มีตกงาน


อัพเกรดอบรม

ระบบ การขนส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรต่างๆ จากต้นทางไปยังปลายทางตามความต้องการของผู้บริโภค หรือ ระบบโลจิสติกส์ เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม สำหรับประเทศไทย การขนส่งสินค้าภายในประเทศส่วนมากเป็นการขนส่งทางบก รถบรรทุก และพนักงานขับรถบรรทุก จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของระบบโลจิสติกส์

แม้ว่าตามท้องถนนจะเต็มไปด้วยรถบรรทุก ทั้ง 6 ล้อ สิบล้อ 18 ล้อ และขนาด 20 ล้อที่วิ่งระหว่างประเทศ แต่ใครจะรู้ ว่าตอนนี้ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกกว่า 1.4 แสนคน และมีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต

ปัญหาดังกล่าวถูกตอกย้ำว่าเป็นความจริง ยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย บอกว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถ เนื่องจากส่วนหนึ่งหันไปทำอาชีพที่งานเบากว่า หากไม่แก้ปัญหานี้ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 คาดว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

"คนขับส่วนหนึ่งหันไปขับรถตู้ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และขับแท็กซี่ที่เป็นงานเบากว่า รายได้ใกล้เคียงกับพนักงานขับรถบรรทุก และบางส่วนกลับไปทำการเกษตรที่บ้าน" ยูกล่าว

สอดคล้องกับ วัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก แถลงถึงวิธีการแก้ปัญหาขาดแคลนคนขับ ว่ากรมการขนส่งทางบกเร่งแก้ปัญหาโดยการนำทหารปลดประจำการ จังหวัดพิษณุโลกเข้าอบรมการขับรถบรรทุก ในการอบรมครั้งที่ 1 มีคนผ่านการอบรมถึง 61 นาย แบ่งเป็นทหารประจำการ 58 นาย และพลเรือน 3 นาย แม้พอจะช่วยบรรเทาปัญหาได้แต่ได้มีการเตรียมอบรมรุ่นที่ 2 ต่อไป

สำหรับหลักสูตรอบรมยกระดับวิชาชีพพนักงานรถบรรทุก รองรับประชาคมอาเซียน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกรมขนส่งทางบก กับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร, กองทัพภาคที่ 3, สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย, สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน


บรรยากาศการอบรมรถบรรทุก



พร้อมประกันรายได้ขั้นต่ำหลังอบรม 20,000 บาทต่อเดือน

นคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงที่มาของโครงการ ว่ามาจากปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกจำนวนมาก และเห็นว่าทหารปลดประจำการน่าจะมีจำนวนมาก และกองทัพภาคที่ 3 เองได้เห็นความสำคัญของการฝึกอาชีพให้ทหารอยู่แล้ว โครงการนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งการอบรมในรุ่นที่ 4 ได้คัดเลือกทหารปลดประจำการ 44 คนในฝึกทักษะการขับรถบรรทุก โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ที่ต้องวิ่งข้ามประเทศมากขึ้นหลังเปิดเออีซี

"ผู้ผ่านการอบรมรุ่นแรกมีคนจองตัวไปทำงานทั้งหมดและทำสัญญาเงินเดือน 20,000 บาทเป็นเวลา 1 ปี กับบริษัทต่างๆ เชื่อว่าพนักงานที่อบรมแล้วปฏิบัติงานได้ดีไม่ว่างงานแน่นอน หากในอนาคตยังมีปัญหาขาดแคลน อาจเกิดการซื้อตัวสิงห์รถบรรทุกและจูงใจด้วยเงินเดือนที่มากกว่า อยากให้ครอบครัวปรับทัศนคติด้วย หากลูกหลานประกอบอาชีพนี้" อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว และว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำลังเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับอาชีพที่สำคัญหรืออาชีพที่อาจเป็นภัยต่อสาธารณะ เช่น พนักงานขับรถบรรทุก ในอนาคตอาจมีการสอบวัดความสามารถและตรวจสอบร่างกายเพื่อรับใบอนุญาต เพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมถนน สำหรับผู้เข้าอบรมต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ติดยาเสพติดหรือสุรา ส่วนนายทหารจะคัดเลือกคนที่จะปลดประจำการใน 3 เดือนที่มีหน่วยก้านดีมาฝึกให้มีวิชาชีพติดตัว เพราะส่วนใหญ่ทหารมีวินัยอยู่แล้ว


"นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังมีการอบรมในหลายอาชีพที่ยังขาดแคลนและได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบการ เช่น ช่างแอร์ ซึ่งในไทยมีแอร์มากกว่า 44 ล้านเครื่อง แต่มีช่างซ่อมบำรุงไม่มากและยังต้องการคนดูแล ซ่อมบำรุงเปลี่ยนน้ำยาอีกเยอะ เพราะส่วนใหญ่ แรงงานสนใจเรียนด้านซ่อมบำรุงเครื่องรถยนต์มากกว่า ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนในส่วนนี้เช่นกัน" นคร ทิ้งท้าย

ด้าน ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากระบบข้อมูลพบว่าขาดแคลนพนักงานขับรถบรรทุกถึง 30 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 200,000 ตำแหน่ง หากไม่สามารถผลิตคนขับรถเข้าสู่ระบบได้มากขึ้นจะมีแนวโน้มขาดแคลนมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขนส่งมากขึ้น

"การอบรมยกระดับพนักงานขับรถบรรทุกรุ่น 2 มีกลุ่มเป้าหมายคือทหารในประจำการ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ ซึ่งความจริงกองทัพมีโครงการฝึกวิชาชีพทหารก่อนปลดประจำการอยู่แล้ว เพื่อให้ทหารมีอาชีพหลังปลดประจำการ กองทัพเห็นว่าโครงการนี้สร้างอาชีพได้และมีแหล่งงานรองรับแน่นอน ทั้งยังแก้ปัญหาระดับประเทศได้อีกด้วย จึงนำโครงการฝึกอบรมยกระดับวิชาชีพพนักงานขับรถบรรทุก เป็นหนึ่งในการอาชีพของทหารในประจำการ"

"การอบรมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทฤษฎีและปฏิบัติ ด้านทฤษฎีมีเนื้อหาที่ดูแลโดยกรมขนส่งทางบก และทางมหาวิทยาลัยนเรศวรจะเพิ่มในส่วนของความรู้เพิ่มเติมให้แก่ผู้อบรม ได้แก่ ความรู้ด้านโลจิสติกส์ ความรู้ด้านภาษา และด้านคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบอาชีพ ส่วนด้านปฏิบัติ จะอยู่ในความดูแลของกรมขนส่งทางบก สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน"

"ในอนาคต หากเป็นไปได้จะเปิดการอบรมระยะสั้นให้กับพนักงานขับรถบรรทุกในระบบ เพื่อยกระดับ พัฒนาฝีมือคนขับรถบรรทุกของไทย" ดร.บุญทรัพย์เผย

ส่วนผู้ผ่านการอบรมรุ่นที่ 1 อย่าง นพดล จันทาพูล อายุ 23 ปี เล่าว่า หลังผ่านการอบรมได้เข้าเป็นพนักงานขับรถบรรทุกในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เนื่องจากบริษัทขนส่งเหล่านั้นต้องการพนักกงานขับรถจำนวนมากจึงต้องใช้วิธีจับสลากว่าใครอยู่บริษัทไหน จำนวน 60 คนที่ผ่านการอบรมรุ่นที่ 1 ถือว่ายังน้อยมาก หลายคนอาจมองว่าอาชีพนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการขาดแคลน ถ้าสังเกตจะเห็นว่าคนขับรถบรรทุกที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อายุประมาณ 50 ปี แต่กลุ่มที่อายุ 20 ปี ต้นๆ กลับไม่ค่อยพบเห็น

"ความจริงอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและต้องมีความรับผิดชอบสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและตัวรถบรรทุก ซึ่งต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวังอย่างสูงเช่นกัน รวมถึงต้องมีทักษะความรู้ในด้านต่างๆ ติดตัวไว้ ในการอบรมนี้นอกจากฝึกทักษะเรื่องการขับรถ การขับขี่อย่างปลอดภัย การซ่อมบำรุงอะไหล่ต่างๆ แล้ว เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนจึงมีการอบรมภาษาจีนและภาษาอังกฤษ รวมถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญาอีกด้วย" นพดลกล่าว

แม้อาชีพพนักงานขับรถบรรทุกจะมีลีลาการขับที่น่าเกรงขาม ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้จนถูกขนานนามว่า "สิงห์รถบรรทุก"

แต่กลับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเมื่อเปิดเออีซีอย่างเป็นทางการ

ใครจะรู้... สิงห์รถบรรทุกอาจเป็นอาชีพยอดนิยมและต้องมีใบประกอบวิชาชีพก็ได้


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.