ตลาดกวดวิชายังคงเติบโต จับตาทางเลือกกว้างขึ้นของนักเรียน-สินค้าติวเข้ามหาวิทยาลัย
 


ตลาดกวดวิชายังคงเติบโต จับตาทางเลือกกว้างขึ้นของนักเรียน-สินค้าติวเข้ามหาวิทยาลัย


 ตลาดกวดวิชายังคงเติบโต จับตาทางเลือกกว้างขึ้นของนักเรียน-สินค้าติวเข้ามหาวิทยาลัย

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกวดวิชาครอบคลุมถึงการเรียนกวดวิชาทั้งในรูปแบบโรงเรียนกวดวิชา และติวเตอร์อิสระที่สอนแบบตัวต่อตัวหรือสอนเป็นกลุ่ม โดยค่านิยมการเรียนเสริมความรู้ในบางรายวิชาของนักเรียนไทยทั้งในกลุ่มที่เรียนอ่อนและเรียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูง ดังจะเห็นได้จากการขยายสาขาของโรงเรียนกวดวิชาในพื้นที่จังหวัดต่างๆทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์การประกอบธุรกิจเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในยุคปัจจุบัน
 

โรงเรียนกวดวิชาเน้นรวมตัวเป็นคลัสเตอร์ ขยายสาขา ปรับหลักสูตร และใช้เทคโนโลยี


นักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนกวดวิชา ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งมีความต้องการเรียนกวดวิชาเสริมสร้างความรู้เพื่อใช้ในการสอบวัดผลการเรียนในโรงเรียนและสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยฐานนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนกวดวิชามีอยู่จำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ระบุว่า ปี 2555 มีจำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มโรงเรียนประเภทสามัญศึกษาทั้งของรัฐบาลและเอกชนรวม 1,412,570 คน แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 163,743 คน และในภูมิภาค 1,248,827 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2550 ที่มีจำนวนรวม 1,166,942 คน
 

เมื่อพิจารณาข้อมูลการสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย พบว่า ในปี 2555 มีผู้สมัครเข้าศึกษาในระบบ Admissions ถึง 122,169 คน ในขณะที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันของรัฐในสังกัดหรือกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้เพียง 64,000 คน หรือรองรับได้เพียงร้อยละ 53 ของผู้สมัคร Admissions ทั้งหมด จึงส่งผลให้การสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังคงเป็นไปอย่างรุนแรง
 

การมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ศึกษาอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันของรัฐมีขีดจำกัดในการรองรับนักศึกษา ได้นำมาซึ่งค่านิยมในการเรียนกวดวิชาของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อสร้างความได้เปรียบในการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย โดยการเรียนกวดวิชามีภาพลักษณ์ของการสรุปเนื้อหาอย่างตรงประเด็น สอนเทคนิคการทำข้อสอบ ใช้เวลาเรียนไม่มาก รวมถึงยังมีเทคนิคการสอนที่เพลิดเพลิน ซึ่งค่านิยมดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจกวดวิชาเติบโตและมีมูลค่าตลาดสูง ดังจะเห็นได้จากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจกวดวิชาทั้งโรงเรียนกวดวิชาและติวเตอร์อิสระ ที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน โดยปี 2555 ประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชารวม 2,005 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 460 แห่ง และในภูมิภาค 1,545 แห่ง และมีจำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชารวม 453,881 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของจำนวนนักเรียนระดับชั้นมัธยมทั้งหมด



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.