เปิดเวที "สภาปฏิรูป" ผนึกกำลังลดขัดแย้ง
 


เปิดเวที "สภาปฏิรูป" ผนึกกำลังลดขัดแย้ง


เปิดเวที

หมายเหตุ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมสภาวิจัยครั้งแรก โดยเชิญผู้ที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ มาร่วมหารือ เพื่อระดมความเห็นแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แม้รัฐบาลจะเป็นผู้เริ่มต้นในการจัดเวทีพูดคุย แต่เราจะขอเป็นเพียงผู้ประสานงาน ในการพูดคุยเท่านั้น เวทีดังกล่าว เป็นการเชิญผู้มีประสบการณ์ ที่มีมุมมองแต่ละมิติต่างกัน ออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกร่วมกัน วางอนาคตประเทศไทยต่อไป ผู้ที่มาครั้งนี้ต่างเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ นักวิชาการ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน

เป็นที่น่าเสียดายที่ที่ประชุมยังไม่ครบถ้วน เพราะไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน รวมถึงฝ่ายพันธมิตร เรียนว่าเวทีนี้พร้อมเปิดรับทุกเมื่อ ทุกเวลาที่เหมาะสม ยืนยันว่ารัฐบาลมีความจริงใจอยากเห็นการพูดคุย ในการหาทางออกและมองไปข้างหน้า ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดรัฐบาลพูดถึงแต่อนาคต เพราะเราอยากเห็นการปฏิรูการเมืองในมิติกว้างครบทุกองค์กร สามารถวางกรอบยุทธศาสตร์ โดยต้องมองทั้งสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงรายละเอียดของปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้

ส่วนกรณีที่อาจมีความสงสัยว่าทำไมไม่ถอนกฎหมายบางข้อออกจากสภาเพื่อให้เวทีนี้สามารถเดินหน้าไปได้ เวทีนี้เรามองเห็นภาพในหลายๆ มิติมากขึ้น ส่วนเวทีในสภาก็เป็นเวทีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ผู้ที่เข้าร่วมในครั้งนี้มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน เพื่อเอาข้อมูลต่างๆมารวมกันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากจะมองบริบทข้างหน้าในการหาทางออกให้ประเทศ ก็อยากจะให้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ทรงปรารถนาอยากเห็นคนไทยตั้งจิตตั้งใจหวังดีแก่กัน ดูแลเอาใจใส่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผูกพันกัน รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเปิดเวทีครั้งนี้

ในเดือนกันยายนนี้จะมีการเชิญบุคคลระดับผู้นำจากต่างประเทศมาปาฐกถาให้ความรู้เรียนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเวทีปฏิรูปการเมือง แต่เป็นการให้ความรู้เล่าประสบการณ์ เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ ไม่ได้เกี่ยวกับประเทศไทย รัฐบาลอยากเห็นบรรยากาศที่ดีในการพูดคุย สามารถมองไปข้างหน้าโดยต้องรับฟังทุกฝ่าย รวมทั้งเสียงข้างน้อยด้วย เราอยากเห็นประเทศมีความสุขมีความสามัคคี หากเห็นตรงกันก็จะพูดกันด้วยบรรยากาศที่สร้างสรรค์ เมื่อเห็นตรงกันแล้วก็จะสามารถคุยกันได้ ว่าจะแก้ไขปัญหาการเมืองได้อย่างไร เชื่อว่ากลไกปัจจุบันก็สามารถแก้ปัญหาได้อยู่แล้ว

เราตั้งเป้าในการพูดคุยเวทีปฏิรูปฯ ว่าทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความมั่นคง ให้ประชาชนกินดีอยู่ดี และจะมีการวางระบบทั้ง 3 เสาหลักอย่างไรให้มีการถ่วงดุล และตรวจสอบซึ่งกันและกัน โดยเราจะหันไปหาประชาธิปไตยที่โปร่งใส เป็นกลไกมาตรฐานสากล ที่นานาประเทศยอมรับ โดยต้องดูตั้งแต่กระบวนการเข้ามา ประกอบด้วยการตรวจสอบการประมวลผล ให้มีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับ

การเชิญทุกท่านมาในที่ประชุมแห่งนี้ รัฐบาลไม่มีเจตนาให้ทุกท่านเสียเวลา แต่เราต้องการให้ทุกฝ่ายได้หารือกัน ที่ท่านอุทัย (พิมพ์ใจชน) ถามว่าผู้ที่มานั้นมาในฐานะอะไร ก็ต้องตอบว่า คือผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ที่อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าในฐานะผู้มีประสบการณ์ รัฐบาลเหมือนผู้ที่อยู่ปลายน้ำ ไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ และอยากรับฟังทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

วันนี้เราเห็นขีดความสามารถของประเทศที่ถดถอย มีความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหายาเสพติดที่ปลายทางจริงๆ แต่ต้นทางคือการแก้ปัญหาทั้งระบบ เนื่องจากมิติทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นที่มาของรัฐบาลให้ทุกภาคส่วนได้มาถกหาทางออก และจากที่รัฐบาลอยู่ปลายทางจะเดินหน้าก็ไม่สามารถเดินไปได้ เนื่องจากมีผู้ที่มีความเห็นต่าง และอะไรที่เห็นร่วมกันเราจะเดินหน้าก่อน รัฐบาลยินดีที่จะผลักดัน และจะไม่ทำให้ผู้ที่เข้าร่วมเสียเวลาเปล่า ในที่ประชุมหากมีอะไรที่เห็นตรงกันแล้ว ก็สามารถเดินหน้าได้ก่อน การปฏิรูปประเทศเป็นความหมายกว้าง หมายถึงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ยืนยันว่าจะไม่ทำให้การมาครั้งนี้ของทุกท่านเสียเวลาเป็นอันขาด

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
อดีตนายกรัฐมนตรี

คนไทยเราผ่านอุปสรรคมาเยอะ ไม่อยากให้มีความรู้สึกไม่สบายใจ เพราะปัญหาขัดแย้งมีมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2475 ทุกครั้งสถาบันกษัตริย์จะเป็นสถาบันแรกที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่วันนี้ก็คงจะลำบาก เพราะพวกเราเที่ยวไปต่อว่า พูดจาอะไรต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นสถาบันที่ 2 ที่จะต้องรับผิดชอบคือทหาร รับผิดชอบมาหลายที่คือรัฐประหาร แต่สิ่งที่ทหารทำได้อย่างเดียวคือรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงๆ สถาบันที่ 3 คือ สถาบันของรัฐบาล เป็นโชคดีที่รัฐบาลมองเห็นความสำคัญและคุณค่า พยายามที่จะใช้เวลาที่มีอยู่อันน้อยนิดแก้ไข แต่น่ากลัวมากถ้าหากรัฐบาลแก้ไขไม่ได้ สถาบันที่ 4 ก็จะลุกมาแก้ไขเองนั่นคือมวลชน นี่คือความเป็นจริงในประวัติศาสตร์

ความจริงไม่ยากเลย เพราะประชาชนต้องการประชาธิปไตย และต้องการอำนาจ เป็นหลักอธิปไตยของปวงชน ตรงนี้เป็นหลักสำคัญที่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น ตอนนี้มีหลายกลุ่มพยายามเรียกร้องประชาธิปไตย ความจริงแล้วถ้าจะสร้างจริงๆ แล้วพรุ่งนี้ก็สร้างได้ แต่วันนี้ที่ยังไม่ถือว่าให้อำนาจกับประชาชน เพราะอำนาจที่แท้จริงต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับการเลือกตั้ง

พิชัย รัตตกุล
อตีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนมาเราคงไม่ทราบว่ารูปแบบการประชุมวันนี้จะเป็นเช่นไร ผมคนหนึ่งที่โง่เหลือเกินที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้ฟังหลายท่านพูดแล้ว ก็ทำให้รู้รูปแบบจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขอชมสถาบันพระปกเกล้า นายโคทม อารียา เพราะได้พูดให้เห็นถึงรูปธรรม ในความเห็นส่วนตัวมีความเห็นว่าหากจะลงลึกลงไปแต่ละประเด็นไม่ว่าจะเป็นการปกครอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่สามารถจะใช้เวลาดังกล่าวให้มีความชัดเจนว่าจะแก้ไขอย่างไร และจะเสนอรัฐบาลอย่างไร

แม้จะเห็นด้วยกับนายอุทัย พิมพ์ใจชน ว่าให้พวกเราไปลงชื่อว่าควรจะประชุมเรื่องใดบ้างที่ต่างคนต่างสนใจ แต่ก็ไม่เวิร์ก เพราะหากนายกฯมีความสนใจ 2 เรื่องก็ไม่สามารถประชุมได้ในคราวเดียว จะดีก็ต่อเมื่อมีคณะกรรมการชุดเล็กกว่านี้อีกหน่อย เช่นเรื่องต่างประเทศ เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ใช่คณะกรรมการร่วมประชุมด้วย

ผมคิดว่าคนไทยไม่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแต่คนไทยมองอนาคตไปไกลกว่านั้น ท่านนายกฯบอกว่าเน้นเรื่องอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร คิดว่านายกฯมีในใจอยู่แล้ว จึงอยากให้ท่านนายกฯมีโรดแมปของเมืองไทย ว่าจากจุดนี้อีก 20 ปี จะไปทางไหน เช่น การศึกษาจะไปทางใด สังคมจะไปทางใด หากสามารถทำโรดแมปการขัดแย้งต่างๆ จะลดลงไป เพราะเรามีเป้าหมายสุดท้าย โดยวางแผน 20 ปีเป็นระยะยาว และระยะสั้นตามลำดับ และโรดแมปต้องนึกถึงการเมืองด้วย หากไม่มีการควบคุมงบประมาณหรืออะไรต่างๆ ก็ไม่สามารถนำไปสู่โรดแมปได้

ดังนั้น จึงอยากเสนอ 1.แยกประชุมทีละกลุ่มทีละประเด็นอาจจะเป็นชุดเล็ก 20 คน 2.การมีโรดแมป เพื่อการพัฒนาการแก้ปัญหา อย่างมาเลเซียเมื่อก่อนนั้นล้าหลังกว่าเรามาก แต่บัดนี้มาเลเซียเขามี 20-30 โรดแมป ผมอยากเห็นโรดแมปสำหรับประเทศ หวังว่าจะเกิดขึ้น

ธิดา ถาวรเศรษฐ
ปธ.กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ดิฉันมาในฐานะประชาชนจำนวนหนึ่งที่เป็นรากหญ้า ขอทำหน้าที่ประชาชน คนอาจจะบอกว่า นปช.ต้องสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ นปช.ต้องการให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หลายคนคงสงสัยว่ากลุ่มนั้นยุติการเคลื่อนไหวแล้ว นปช.จะยุติหรือไม่ เป้าหมายของ นปช.ชัดเจนว่าจะยุติการเคลื่อนไหวต่อเมื่อยุติการรัฐประหารทุกรูปแบบ ความไม่เชื่อมั่นต่อเวทีนี้มี แม้รัฐบาลนี้จะมาจากการเลือกตั้งแต่ความขัดแย้งในประเทศไทยร้าวลึก ดิฉันมาเพื่ออยากให้เวทีนี้ได้ผลมีการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง ต้องการให้การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมและได้รับรู้ทั่วประเทศ

อยากให้เวทีปฏิรูปการเมืองเป็นวาระของประชาชนทั้งประเทศ เป็นเวทีของประเทศไทย มีการเรียนรู้ใช้ความรู้และสติปัญญามากกว่าการมาต่อรองเพื่อถอยคนละก้าว คนไทยมีธาตุดีในตัวไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำหรือมวลชนรากฐาน เวทีปฏิรูปควรเริ่มที่เป้าหมายประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สังคมจะเป็นอย่างไร เพราะทุกอย่างมีผลต่อกันและกัน เราอาจมีโมเดลการเมืองที่ดี แต่ผลักดันไม่ได้เพราะสังคมยังไม่พร้อมที่จะผลักดันให้เป็นไปได้

เราต้องการการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง เป็นการเมืองการปกครองเป็นสากล รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อาจจะมีบัญญัติเรื่องนี้แต่ยังไม่มีความเสมอภาค ชนชั้นนำในสังคมชอบพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพแต่ไม่เคยพูดถึงความเสมอภาค ประชาชนต้องการความเสมอภาคทางการเมือง

ด้านเศรษฐกิจควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนและสิ่งแวดล้อมส่วนในสังคมเราต้องการอุดมการณ์เสรีนิยมที่ทุกคนมีความเชื่อต่างกันได้แต่อยู่ร่วมกันได้ด้วยเหตุผล การปฏิรูปการเมืองคงหนีไม่พ้นเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกติกาสูงสุดทางการเมือง รวมถึงกฎหมายและกลไกความยุติธรรม

สำหรับความขัดแย้งของประเทศต้องออกจากวาทกรรมทั้งระบอบทักษิณและทุกเรื่อง ส่วนกลุ่มคนเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชั้นนำที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมกับคนส่วนใหญ่ ถ้าความแตกต่างเดินไปด้วยกันได้ จะทำให้ไปยังเป้าหมายประเทศไทยที่ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง

โคทม อารียา
อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและศึกษาพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

การปฏิรูปการเมืองเราคงต้องมีกรอบความคิดเชิงเป้าหมาย เรามีทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์คือการเปิดประเทศสู่โลกาภิวัตน์ และการเปิดประเทศสู่อาเซียน เป้าหมายควรสร้างสัญญาประชาคมใหม่ระหว่างรัฐ ทุน และประชาชน ในทุกด้าน ถ้ามีเป้าหมายชัดเจนการทำงานจะต้องมีทุกฝ่ายมาร่วม ตนขอเสนอ 3 ขั้นตอน คือ 1.มีแนวเรื่องที่จะพูดคุย 2.เอาแนวเรื่องนี้ไปพูดคุยกันอาจจะพูดคุยกันหลายรอบให้ได้ข้อสรุป

และ 3.กระบวนการควรมีความเป็นอิสระเป็นกลางสามารถระดมความคิดที่กว้างขวาง คณะกรรมการที่ทำหน้าที่อำนวยการอาจจะเป็นคณะมนตรีเพื่อการปฏิรูปการเมืองทำหน้าที่กำหนดแนวร่วมแนวทางการศึกษาแล้วเอาแนวเรื่องนั้นไปคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วเอามาประเมินผลและสรุป และควรมีอาสาสมัครปฏิรูปการเมืองเพื่อลงไปในพื้นที่ระดับตำบลอำเภอ เพื่อให้ได้ผลควรมีการศึกษาอย่างดีระหว่างกระบวนการกับสังคม รวมถึงอาศัยสื่อมวลชนและสื่อต่างๆ สะท้อนความคิดเห็นมาสู่กระบวนการปฏิรูปการเมือง





ที่มา : นสพ.มติชน




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.