คมนาคมยุค "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ความหวังปฏิวัติขนส่งมวลชน
 


คมนาคมยุค "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ความหวังปฏิวัติขนส่งมวลชน


คมนาคมยุค

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการออกสำรวจและทดลองใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะด้วยตัวเองในช่วงที่ผ่านมาของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้สัมผัสปัญหาที่เกิดกับผู้โดยสารอย่างแท้จริง

การตัดสินใจออกพื้นที่ของนายชัชชาติ เนื่องจากรับทราบปัญหาการใช้บริการขนส่งสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จนกระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในปัจจุบัน แต่จนถึงทุกวันนี้ปัญหาต่างๆ ที่เคยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดการ ไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้เท่าที่ควร ประชาชนยังร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นที่มาของชัชชาติ เรียลิตี้ ต้องติดตามการเดินทางผ่านเฟซบุ๊ก

จุดเริ่มต้นที่กลายเป็นกระแสข่าวให้ประชาชนเริ่มหันมาสนใจจริงๆ คงเป็นการนั่งรอรถเมล์สาย 509 บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนต่อรถอีกสายไปท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขึ้นเครื่องบินไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างจังหวัด

แต่ปรากฏว่าต้องนั่งรอรถเมล์นานถึง 40 นาที ระหว่างทางยังพบปัญหารถติดอย่างหนัก ทำเอานั่งไม่ติด ไปแค่อนุสาวรีย์ชัยฯก็ต้องโทรศัพท์เรียกคนขับรถมารับ เพราะหากฝืนนั่งต่อไป มีหวังตกเครื่องบินแน่นอน

จึงเป็นที่มาของการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เข้ามาหารือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นป้ายรถเมล์ที่ไม่ชัดเจน บอกรายละเอียดเส้นทางไม่ครบ ทรุดโทรม หาบเร่แผงลอยเกลื่อนทางเท้า ทำให้ประชาชนต้องลงไปเดินบนถนนจนส่งผลทำให้ปัญหารถติด

ต่อมาเป็นคิวนั่งเรือโดยสารคลองแสนแสบ จึงรู้ว่านอกจากน้ำเน่าเหม็นของคลองแสนแสบแล้ว ยังมีเรื่องของเรือ และท่าเรือที่ต้องปรับปรุงให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น

ระหว่างนี้ยังได้เปิดเฟซบุ๊กสำรวจผู้ใช้บริการรถเมล์จนรู้ว่ารถเมล์ที่ควรปรับปรุงมากที่สุด คือ สาย 8 รองลงมาเป็นสาย 44 ตามมาด้วยสาย 1 สาย 16 สาย 92 สาย 75 และ 122

ปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ พนักงานขับรถเร็ว ใช้อารมณ์ในการขับรถ อันตรายขับปาดซ้ายขวา ตะโกนด่ารถคันอื่น ไม่รับผู้โดยสารตามป้าย และอีกสารพัดปัญหาที่ทำให้นายชัชชาติต้องไปทดลองนั่งรถเมล์สาย 8 ซึ่งเป็นรถร่วมบริการเอกชนที่วิ่งให้บริการจากสะพานพุทธ-แฮปปี้แลนด์ทันที

ถึงแม้ในช่วงที่ใช้บริการจะไม่เจอปัญหามากนักแต่ก็รู้จาก ขสมก.ว่า ปัญหาของรถเมล์สายนี้ เป็นเรื่องของมารยาทคนขับ โดยเฉพาะการขับรถเร็ว ไม่เข้าป้าย ขับกระโชกโฮกฮาก ซึ่งที่ผ่านมา ขสมก.ได้เรียกคนขับรถเมล์เข้ารับการอบรมมารยาทมาตลอด

แต่ยังเกิดปัญหาขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพราะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานเดินรถถึง 3 ราย คือ บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด และบริษัท กลุ่ม 39 จำกัด โดยแต่ละบริษัทมีรถให้บริการกว่า 20 คัน รวม 3 บริษัท มีรถให้บริการในเส้นทางดังกล่าวประมาณ 70 คัน จึงแข่งขันกันทำเวลาวิ่งรับผู้โดยสาร

รวมถึงอีกหลายเหตุผล โดยเฉพาะคนขับรถโดยสารร่วมบริการ ขสมก. ไม่ได้รับเงินเดือน แต่ได้เบี้ยเลี้ยงรายวันและส่วนแบ่งจากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร มีผู้โดยสารมากก็ได้มาก มีน้อยก็ได้น้อย จึงเป็นสาเหตุให้คนขับรถเมล์บางคันขับลากยาว จอดแช่ ทำให้รถที่วิ่งตามหลังไม่ได้ผู้โดยสาร และยังเกิดปัญหารถติด

ที่ผ่านมาเคยมีการถอนใบอนุญาตขับรถสาธารณะของคนขับรถเมล์สาย 8 ที่กระทำความผิดมาแล้ว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับ ขสมก.ด้วย

เมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ขสมก.ต้องเป็นผู้แบกรับภาระให้ก่อน แต่การให้บริการรถเมล์โดยสาร ก็จำเป็นต้องพึ่งพาเอกชนเนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการรถขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯประมาณ 4 ล้านคนต่อวัน โดย ขสมก.สามารถรองรับได้ประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น

จึงมีมาตรการขั้นเด็ดขาดสั่งให้ทั้ง 3 บริษัทไปหารือและแก้ไขปัญหาให้ได้ หากแก้ไม่ได้และยังเกิดปัญหาขึ้นอีก ขสมก.จะยกเลิกสัมปทาน เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาวิ่งให้บริการแทน เพราะมีหลายรายที่สนใจจะเข้ามาวิ่งให้บริการอยู่แล้ว

จุดประกายความคิดให้นายชัชชาติต้องการปรับรูปแบบการให้บริการรถร่วมบริการขสมก.จากปัจจุบันที่ให้สัมปทานเดินรถเป็นการจ้างเดินรถ เพื่อแก้ไขปัญหาบริการไม่มีคุณภาพ ทั้งในเรื่องของพนักงานขับรถ และสภาพของรถ เพราะส่วนหนึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากพนักงานรถร่วมบริการไม่มีเงินเดือน

ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ที่เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต หลังจากเกิดปัญหาเหมือนไทยในปัจจุบัน เนื่องจากมีรถร่วมบริการประมาณ 100 บริษัท จึงควบคุมได้ยาก เมื่อปรับมาใช้วิธีการจ้างเดินรถก็ช่วยแก้ไขปัญหาได้

แต่ของไทยคงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นต้องให้ ขสมก.เข้มแข็งก่อน คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะเห็นทิศทางที่ชัดเจน

จากนั้น ก็สวมบทนักเดินทางสะพายกระเป๋ากระโดดขึ้นรถไฟชั้น 3 จากกรุงเทพฯมุ่งหน้าไปจังหวัดสุรินทร์ ที่สถานีบางซื่อ จนรู้ว่ารถไฟออกช้ากว่ากำหนดประมาณ 30 นาที ในระหว่างใช้บริการได้คุยกับผู้โดยสาร พนักงานรถไฟ ก็ทำให้รู้ปัญหาหลายอย่าง เช่น หัวรถจักรเก่า อะไหล่บางชิ้นมีอายุการใช้งานมานาน รวมถึงปัญหาสภาพบนรถที่ไม่ดี ปัญหาห้องน้ำไม่สะอาด ปัญหาการขาดบุคลากร และการแบ่งงานที่ยังไม่ดี ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาดื่มสุราบนรถ และสถานี บนรถมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้โดยสารคนอื่นเดือดร้อนรำคาญ จากการสอบถามข้อมูลผู้โดยสารยังทราบว่ามีพวกมิจฉาชีพปะปนขึ้นไปกับคนที่ขึ้นไปขายของบนรถไฟด้วย

เมื่อกลับมาจึงได้สั่งให้ปรับปรุงบริการโดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สะอาดปลอดภัยขึ้นภายใน 1 เดือน ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของขบวนรถไฟ สถานี ห้องน้ำ และให้พิจารณายกเลิกเก็บค่าบริการห้องน้ำ 3 บาท ที่สถานีรถไฟ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอยู่แล้ว พร้อมกับแยกคนขายของบนรถไฟออกจากกลุ่มมิจฉาชีพให้ชัดเจน เช่น ลงทะเบียนเพื่อให้รู้ชัดเจนว่าเป็นคนขายของที่แท้จริง

ด้านรถไฟก็ออกมารับลูกพร้อมปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทันทีโดยเริ่มศึกษาตัวเลขค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการห้องน้ำในสถานีรถไฟประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่ให้สัมปทานเป็นสัญญาจ้างดูแลความสะอาดห้องน้ำทันที คาดว่า จะเปิดฟรีได้ประมาณเดือนกันยายนนี้

ขณะเดียวกันก็จะตัดขบวนรถไฟที่เป็นห้องน้ำเดิมออก แล้วนำห้องน้ำสำเร็จรูปที่มีความสะอาดและทันสมัยเข้ามาติดตั้งแทนทั้งหมดประมาณ 500 ตู้

พร้อมกันนี้ยังจะออกประกาศห้ามไม่ให้มีการซื้อ ขาย หรือดื่มสุราบนขบวนรถไฟ โดยจะบังคับใช้เฉพาะขบวนรถไฟฟรีก่อน เนื่องจากรถไฟขบวนอื่นได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนเข้าไปดำเนินการ แต่จะขอความร่วมมือให้กำหนดช่วงเวลาในการจำหน่ายแทน

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสสังคมที่ค่อนข้างจะสนับสนุนการทำงานของ รมว.คมนาคมคนปัจจุบัน ผลักดันให้นายชัชชาติเดินหน้าสำรวจปัญหาของการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งพบว่า ขบวนรถไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น จำเป็นต้องนำขบวนรถใหม่มาให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจัดซื้ออีก 7 ขบวน

ขณะเดียวกัน ยังเห็นควรให้ปรับโครงสร้างบุคลากรของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อดึงคนให้อยู่กับองค์กรมากขึ้น และให้ทางบริษัทรับจ้างเดินรถเพียงอย่างเดียว ส่วนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดโอนไปให้ ร.ฟ.ท. เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น

นอกจากนี้ นายชัชชาติยังมีแผนงานที่จะทดลองนั่งรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) รถตู้โดยสารสาธารณะ และเครื่องบินอีก

การทำงานเชิงรุกแบบนี้ หน่วยงานในสังกัดคงไม่ถูกใจเสียเท่าไหร่ เพราะเตรียมผักชีไว้ไม่ทัน

แต่ผู้ใช้บริการหันมาส่งเสียงเชียร์ และอยากให้มีการดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรมจริงจัง เพราะแค่รัฐมนตรีตรวจงาน ก็เห็นผลทันตาว่า มารยาทของคนขับรถเมล์และพนักงานเก็บค่าโดยสารดีขึ้นมาก

ส่วนจะดีได้นานแค่ไหน ต้องดูในระยะยาว

ที่สำคัญอย่าเป็นแค่ลมพัดวูบเดียวแล้วหายไป เพราะปัญหาเหล่านี้เรื้อรังและหมักหมมมานานมากแล้ว



ที่มา : นสพ.มติชน





// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.