เจาะธุรกิจพลอยเมืองจันท์สีสันอัญมณีโลก"พลอยจันท์ไม่มีวันตาย?"
 


เจาะธุรกิจพลอยเมืองจันท์สีสันอัญมณีโลก"พลอยจันท์ไม่มีวันตาย?"


เจาะธุรกิจพลอยเมืองจันท์สีสันอัญมณีโลก

ธุรกิจค้าพลอย" อยู่คู่จังหวัดจันทบุรีมายาวนาน เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดพลอยสี เป็นแหล่งรวมยอดฝีมือการเผาและเจียระไนพลอย ที่สำคัญเป็นศูนย์กลางการค้าธุรกิจพลอยระดับโลก

ทุกวันนี้คนค้าพลอยเมืองจันท์มีมากกว่าครึ่งจังหวัด มูลค่าการซื้อขายพลอยสะพัดหลายร้อยล้านบาทในตลาดค้าพลอย ย่านถนนศรีจันทร์ ขณะที่การเผาและเจียระไนพลอยจากเมืองจันท์ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คิดเป็นมูลค่าส่งออกปีละกว่า 1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันพลอยที่นิยมซื้อขายกันมากที่สุดคือ พลอยตระกูล Corundum (คอรันดัม : เป็นพลอยที่มีคุณภาพดีที่สุดประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ทำเครื่องประดับ) อาทิ พลอยทับทิมแดง และไพลินสีน้ำเงิน ราคาซื้อขายแล้วแต่คุณภาพ ส่วนใหญ่กะรัตเป็นหมื่น แต่หากเกรดดี ไฟดี น้ำงาม ไม่มีรอยแตก สมบูรณ์แบบ ราคาก็พุ่งเป็นกะรัตละแสนบาท พ่อค้าพลอยเมืองจันท์ส่วนใหญ่บอกว่า เสน่ห์และจุดเด่นของพลอยเมืองจันท์อยู่ที่ชื่อเสียงที่สั่งสมมาแต่อดีต โดยเฉพาะการเผาและเจียระไนพลอยที่ได้คุณภาพ

ก่อนหน้านี้ตลาดพลอยเมืองจันท์ค่อนข้างซบเซาจากวิกฤตซับไพรม ยอดการสั่งซื้อจากตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา และยุโรปลดลงอย่างต่อเนื่อง ทว่าวันนี้ตลาดพลอยกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีผู้ประกอบการค้าพลอยมากขึ้น



"ธิติ เอกบุญยืน" นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เปิดเผยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาพลอยสูงขึ้นกว่า 100% โดยเฉพาะพลอยทับทิมแดง และไพลินน้ำเงิน รวมถึงพลอยเนื้ออ่อน ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจค้าพลอยดีขึ้นมาก หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปเมื่อ 3 ปีก่อน

ส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูงจากพ่อค้าพลอยชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีความต้องการพลอยมากขึ้น ศุกร์และเสาร์จะมีชาวจีนเดินทางมาจันทบุรีเพื่อเข้ามาหาซื้อพลอยจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พลอยที่จำหน่ายไม่ออกหรือผลิตได้มากก็จะนำมาทำเป็นเครื่องประดับจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากความต้องการในประเทศยังมีพอสมควร ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในจังหวัดค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเครื่องประดับ 300-400 ราย จากเดิมมีไม่เกิน 50 ราย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลอยสีในจันทบุรี กำลังเผชิญความท้าทายจากการแสวงหาวัตถุดิบให้พอเพียงและสามารถหมุนเวียนในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันต้องนำเข้าพลอยดิบกว่า 95% จากประเทศแถบแอฟริกา เช่น ศรีลังกา มาดากัสการ์ แทนซาเนีย โมซัมบิก ทำให้ต้นทุนในการจำหน่ายสูงขึ้นและต้องเสียภาษี

ส่วนการเจียระไนพลอย ช่างฝีมือดีเริ่มลดน้อยลง เพราะ 3-4 ปีมานี้มีการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่มาแทนที่

ล่าสุด สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ร่วมกับสมาคมอัญมณีเครื่องประดับในประเทศไทย 10 สมาคม ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งเดินทางไปโมซัมบิกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนการนำเข้าพลอยจากโมซัมบิก ซึ่งเป็นตลาดพลอยดิบแห่งใหม่มีคุณภาพดี

ข้อเสนอหลักของสมาคมอัญมณีฯ คือ ให้รัฐบาลดูแลจัดตั้งสถานทูตอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อพลอยนำเข้าไทยที่เข้าไปอยู่ในโมซัมบิก 600 ราย รวมทั้งเสนอให้ตั้งเมืองจันท์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์กลางพลอยของโลก ดูแลเรื่องการจัดเก็บภาษี การนำเข้าให้สะดวก และส่งเสริมการแปรรูป ผู้ค้าพลอยเห็นว่า หากเปิดตลาดพลอยดิบโมซัมบิกได้

คาดว่าจะมีวัตถุดิบระยะยาวถึง 15-20 ปี

(ตอนหน้า บุกสำรวจตลาดค้าพลอยเมืองจันท์ร้อยล้าน)

จันทบุรีศูนย์กลางค้าพลอยโลก

จากการสำรวจความเห็นพ่อค้าแม่ค้าพลอยเมืองจันท์ "ประชาชาติธุรกิจ" พบความคิดเห็นเกี่ยวกับธุรกิจค้าพลอยหลายอย่างที่น่าสนใจ

"เมธี จึงสงวนสิทธิ์" เจ้าของบริษัท เวิล์ด แซฟไฟร์ จำกัด พ่อค้าพลอยเมืองจันท์ เล่าว่า ในช่วงปี 2520-2535 ถือเป็นยุคทองของจันทบุรี เพราะคนเข้ามาค้าขายพลอยจำนวนมาก แต่วันนี้พลอยเมืองจันท์เหลือน้อยลง การขุดหรือการเดินเครื่องทำเหมืองพลอยอาจไม่คุ้มค่า ต้องนำเข้าจากประเทศทวีปแอฟริกาเป็นหลัก รวมทั้งพลอยพม่า แต่ส่วนใหญ่กระจายการซื้อไปที่แอฟริกา เช่น โมซัมบิก มาดากัสการ์ ไนจีเรีย

"พลอยจันท์น้อยลงเกือบหมด แต่ยังไม่หมด (นะ) ธุรกิจพลอยจันท์ยังอยู่ได้ เพียงแต่วัตถุดิบมันไกล จึงลำบากที่ทุกโรงงานจะต้องไปหาพลอยก้อนจากต่างชาติ ใช้เวลาสะสมเป็นวัน เป็นเดือน เพื่อสะสมแล้วส่งกลับมาเผา เจียระไนที่เมืองจันท์"

"เมธี" บอกว่า เมืองจันท์ยังเป็นตลาดค้าพลอยโลก แต่วัตถุดิบต้องเอาต์ซอร์ซ เหมือนประเทศเบลเยียมเป็นตลาดค้าเพชรที่สำคัญ แต่ไม่มีเพชรเลย จันทบุรีก็เป็นแบบนั้น ใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาต์ซอร์ซเข้ามาผลิตแล้วส่งออก มีคนทำงาน มีโนว์ฮาว มีเทคโนโลยี จนกลายเป็นศูนย์กลางค้าพลอยทับทิมและไพลิน ส่วนตลาดค้าพลอยทุกวันศุกร์-เสาร์ยังคึกคัก ส่วนใหญ่คนขายเป็นคนไทย คนซื้อเป็นต่างชาติโดยเฉพาะชาวอินเดีย ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ที่เมืองจันท์และทั่วโลก

เขาบอกว่า มูลค่าพลอยทุกวันนี้ไม่สามารถหาตัวเลขที่แท้จริงได้ เนื่องจากวัตถุดิบน้อยลง แต่ในสมัยรุ่งเรืองมีเงินสะพัดกว่า 500 ล้านบาท/วัน

พ่อค้าพลอยรายหนึ่งบอกว่า ทุกวันนี้การค้าขายพลอยยังคึกคัก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะเศรษฐกิจดี ตลาดโลกดี ธุรกิจอัญมณีก็ดีไปด้วย แม้จะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบน้อยลง ต้องนำเข้าพลอยก้อนจากแอฟริกา พม่า ออสเตรเลีย แต่ก็นำมาเจียระไนและค้าขายกันที่นี่ เป็นศูนย์กลางการค้าธุรกิจพลอยโลก

ขณะที่แม่ค้าพลอยอีกรายเสริมว่า คนที่อยากมาค้าขายพลอยที่จันท์ยังมีโอกาส เพราะตราบใดที่คนยังรักสวยรักงาม อัญมณีก็ยังขายได้เสมอ พลอยจันท์ไม่มีวันตาย

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/prachachat
หรือติดตามผ่านทวิตเตอร์ @prachachat

 

 

 

 

 

 



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.