"อลงกรณ์"เปิดใจ เรื่องน่าเศร้า-จุดยืนปชป.
 


"อลงกรณ์"เปิดใจ เรื่องน่าเศร้า-จุดยืนปชป.



หมาย เหตุ - นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลภาคกลาง ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการต่อสู้ของ ปชป.ทั้งในและนอกรัฐสภา รวมทั้งเงื่อนไขข้อเรียกร้องในการเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปซึ่งรัฐบาลพยายาม เชิญให้คู่ขัดแย้งเข้าร่วมหาทางออกให้กับประเทศ

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย พนัสชัย คงศิริขันต์ และศุภกาญจน์ เรืองเดช





"...บางครั้งถึงแม้เราจะคิดว่าเราต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการต่อสู้..."



@ มองอย่างไรกับเหตุการณ์การประชุมร่วมกันของรัฐสภาขณะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่มาของ ส.ว.เกิดภาพอลหม่านครั้งยิ่งใหญ่ที่มาจากการคัดค้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในสภาอย่างเต็มที่


ผมว่าเป็นเรื่องน่าเศร้ามากที่เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น และประชาชนคงจะผิดหวังและกระทบต่อภาพลักษณ์ ภาพพจน์ของรัฐสภาของเรา รวมทั้งพรรคของเราด้วย ผมก็เห็นสอดคล้องกับที่ท่านหัวหน้าพรรคบอกว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแล้วก็ประสงค์ที่จะไม่เห็นเหตุการณ์เหล่านั้นอีก ท่านประธานเองก็จะต้องไม่ปิดกั้นสิทธิการอภิปรายของสมาชิก จะต้องรู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา ผ่อนปรนในการประชุมก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ผมคิดว่าทุกคนเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผมเองก็อยากให้ขอโทษประชาชนในฐานะส่วนตัว ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อยากขอโทษประชาชนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผมก็เชื่อว่าเราไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ขอให้เป็นบทเรียนของประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภาแต่ละท่าน เพราะฉะนั้นในวันที่ 2 จึงพิสูจน์ชัดเจนว่า เมื่อไม่มีการปิดกั้นสิทธิการอภิปรายการประชุมก็เป็นไปอย่างราบรื่น

@ แต่ ปชป.คัดค้านด้วยการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมอย่างยืดเยื้อทำให้ถูกมองว่าเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อย

เหตุการณ์มันเกิดขึ้นโดยชนวนที่เกิดจากการที่ท่านประธานรัฐสภากรรมาธิการได้ตัดสิทธิผู้แปรญัตติ 57 ท่าน และมีการอภิปรายเพื่อขอใช้สิทธิและมีการรวบรัดลงมติ ตรงนั้นเองที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ของความอลหม่านขึ้น เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องที่มีการกำหนดไว้ หรือเป็นการวางแผนของ ปชป. หรือเสียงข้างน้อยแต่อย่างใด ข้อพิสูจน์คือวันรุ่งขึ้นที่มีการให้สิทธิอภิปราย ให้สิทธิผู้แปรญัตติทั้ง 57 คน ทุกอย่างก็ดำเนินหน้าตามปกติ ขอให้ทุกคนมีสติ อย่างกฎหมายบางฉบับ เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปชป.ได้ยึดหลัก Flilbuster (การขัดขวางการผ่านญัตติหรือมติในรัฐสภา) คือการต่อสู้ในรัฐสภา หรือในสภาผู้แทนราษฎรโดยการอภิปรายอย่างยืดยาว ซึ่งถือเป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผมคิดว่าตราบใดที่ยังเป็นการต่อสู้ในระบบรัฐสภาก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง

@ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป. ห่วงการคัดค้านในสภาและนอกสภาจะนำไปสู่อนาธิปไตย


ผมคิดว่าบทเรียนดังกล่าวคงทำให้เราตระหนักและสำนึกและทำให้เรามีการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นวันที่ 2 ของการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเหตุการณ์ก็เป็นปกติ คงไม่เป็นไปถึงขั้นอย่างที่วิตกกังวลอย่างนักวิชาการบางท่าน ซึ่งอันนี้คงต้องมีการพูดคุยกันในพรรค บางครั้งถึงแม้เราจะคิดว่าเราต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องคำนึงถึงวิธีการต่อสู้

@ ดูแนวทางของ ปชป.จากนี้จะเดินหน้าคัดค้านในและนอกสภาอย่างจริงจังใช่หรือไม่

เราได้มีข้อสรุปในเรื่องนี้ในคณะกรรมการบริหารพรรคในเดือนสิงหาคมว่าปชป.จะต้องต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาเท่านั้น ส่วนการชุมนุม การเดินขบวนภายนอกเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่ในนามของพรรค ไม่เกี่ยวกับพรรค กรรมการบริหารพรรคเราได้พูดชัดเจน และเราได้พูดถึงเรื่องอย่างเวทีผ่าความจริงว่าการจัดเวทีทางการเมือง หรือการชุมนุมทางการเมืองเป็นสิ่งที่พรรคดำเนินการได้ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่เอาพรรคออกมาเดินขบวน เพราะการจัดปราศรัยทางการเมืองหรือการจัดการชุมนุมทางการเมืองก็ถือเป็นสิทธิเหมือนกับประชาชนทั่วไป ส่วนการไปร่วมกับองค์กรพลังมวลชนอื่นๆ ในการชุมนุมหรือไม่เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล จะต้องไม่นำพรรคเข้าไปเกี่ยวข้อง

@ คุณอลงกรณ์คิดว่าการต่อสู้ในสภาน่าจะเป็นแนวทางของพรรคมากกว่าการออกมาคัดค้านนอกสภา


เป็นจุดยืนของประเทศนี้ด้วยไม่ว่า ปชป.หรือพรรคเพื่อไทย (พท.) กลุ่มพลังมวลชนใดๆ จะต้องให้การยอมรับว่ารัฐสภานั้น คือ ศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา ศูนย์กลางของการตัดสินใจของประเทศนี้และ ปชป.ต้องเป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองในอดีต จะต้องไม่มี 2 ขา จะต้องมีเพียงขาเดียว นั่นคือการต่อสู้ในระบบรัฐสภา ส่วนการต่อสู้นอกรัฐสภาก็เป็นและเสรีภาพของประชาชน จะกลุ่มใดก็ตามที่แสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

@ แต่ท่านชวนลงมาคัดค้านนอกสภาด้วยซึ่งเป็นการนำทัพเพื่อยับยั้งกฎหมายที่จะเข้าสภา

ผมกังวลใจต่อเรื่องนี้มากผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ไปเดินด้วยในเช้าวันนั้น และเมื่อมีคำถามขึ้นมาผมก็บอกว่าผมอยู่ในสภา เพราะผมปฏิบัติตามมติของกรรมการบริหารที่ให้เราต่อสู้กันในระบบรัฐสภาอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันผมคิดว่าการแสดงออกในวันนั้นเป็นเพียงการแสดงสัญลักษณ์ของการไม่เห็นด้วยต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เกรงว่าจะมีการสอดไส้หมกเม็ดในชั้นการแปรญัตติ และหวังว่าจะเป็นครั้งเดียว เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและไม่ใช่ในนามของพรรค ซึ่งตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้เกิดความชัดเจน จะได้เห็นว่าแนวทางของพรรคยังยึดมั่นในระบบรัฐสภา

@ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เรียกร้องให้ ปชป.ลาออกจาก ส.ส.มานำมวลชนนอกสภา


ผมคิดว่าเราไม่ได้ตอบรับในเรื่องการลาออก เพราะไม่ใช่วิถีทางการต่อสู้ในระบบรัฐสภาที่เรายึดมั่น แต่ในขณะเดียวกันการที่มีเป้าหมายตรงกันในเรื่องของการต่อต้านการคอร์รัปชั่น การดำเนินงานเพื่อคนบางกลุ่ม บางพวกโดยไม่คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นแนวร่วมทางความคิด เพราะฉะนั้น ในขณะนี้พรรคก็ไม่มีแนวคิดที่จะลาออก แต่หากสมาชิกเห็นว่ามติของพรรคนั้นได้กำหนดกรอบไว้ว่าเราจะต่อสู้ในระบบรัฐสภาและให้เป็นสิทธิส่วนบุคคลในการที่จะไปดำเนินการในการต่อสู้ร่วมกับองค์กรอื่นๆใดๆ เราก็ไม่ปิดกั้น

ผมคิดว่าในสถานการณ์ขณะนี้มันท้าทายที่จะพิสูจน์จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรค ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ทางการเมืองแบบ 2 ขาของ พท.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง และเห็นว่าการชุมนุมที่ผิดกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แล้วเราจะไปทำผิดซ้ำแบบเดียวกันได้อย่างไร และถ้าเราไปดำเนินการในลักษณะเดียวกันก็จะสร้างความแตกแยกให้กับประเทศนี้รุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เราต้องสร้างแบบอย่างที่ดีเป็นต้นแบบเพื่อให้กลุ่มคน พท.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นได้กลับมาสู่แนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและกลับมายึดมั่นในการต่อสู้ระบบรัฐสภา

ถ้าเราเปลี่ยนแปลงการเมืองสู่โฉมหน้าใหม่อย่างนี้ก็จะเป็นการต่อสู้ในระบบรัฐสภา ต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยข้อเท็จจริง ถ้าเราแพ้เสียงข้างมากในสภา เราก็ต้องคิดชนะใจประชาชน เพื่อชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า นั่นคือ คิดให้เก่งกว่าแล้วการเมืองก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าต่อสู้กันโดยไม่คำนึงถึงวิธีการมันก็จะเป็นกงเกวียนกำเกวียน เป็นประชาธิปไตยแบบกงเกวียนกำเกวียน เป็นการเมืองแบบกงเกวียนกำเกวียน และไม่รู้ว่าอนาคตประเทศจะจบลงที่ตรงไหน

@ ถ้ารัฐบาลชะลอกฎหมายนิรโทษกรรม หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปชป.จะเข้าร่วมตอบรับสภาปฏิรูปในอนาคตหรือไม่

ท่านหัวหน้า ปชป.ได้เสนอข้อเสนอ ซึ่งผมคิดว่าเป็นโอกาสทองก่อนที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้ชะลอ ปชป.พร้อมที่จะมามีส่วนร่วมในการพูดคุยเพื่อที่จะหาทางออกให้กับประเทศ นั่นเป็นครั้งที่ 1 ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้มีการตอบสนอง ครั้งที่ 2 เมื่อได้มีการเสนอสภาปฏิรูปการเมือง หัวหน้าพรรคก็ได้ผ่อนปรนข้อเสนอดังกล่าวขอเพียงแค่ชะลอ เพื่อแสดงความจริงใจของรัฐบาล และถ้าปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ปชป.ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ขณะนี้ก็ยังไม่มีท่าทีตอบสนองจากฝั่งของรัฐบาล













ที่มา นสพ.มติชน



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.