67 ปี เกมสภา "ประชาธิปัตย์" มรดกการเมืองจาก "ควง" สู่ผู้นำ "อภิสิทธิ์"
 


67 ปี เกมสภา "ประชาธิปัตย์" มรดกการเมืองจาก "ควง" สู่ผู้นำ "อภิสิทธิ์"


67 ปี เกมสภา

ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จงใจ "ยื้อ" เวลาการอภิปรายในสภาทุกวาระ โดยงัดตัวอักษรทุกย่อหน้ามาขัดขวางการพิจารณา

และไม่ใช่ครั้งเดียวที่พรรคสีฟ้าเล่นเกมนอกสภาควบคู่ไปกับเกมในสภา

ปชป.เคยเล่นมาแล้วครบทุกสูตร ทั้งในสภา ริมถนน ตั้งแต่ยุคก่อตั้งเมื่อ 67 ปีก่อน สมัยหัวหน้าพรรคชื่อ "ควง อภัยวงศ์"

ในปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ "พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์" ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะหัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทน "ปรีดี พนมยงค์" ที่ประกาศไม่รับตำแหน่ง แม้จะชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.พระนครศรีอยุธยาอีกสมัย

ภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงหลังสงครามตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง กระทั่งรัฐนาวาของ "ปรีดี" เชื่อมต่อถึงยุค "พล.ร.ต.ถวัลย์" ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้

8 เดือนต่อมา หลังที่ "พล.ร.ต.ถวัลย์" นั่งเก้าอี้นายกฯ ปชป.ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งใหญ่ ใช้เวลาถึง 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 19-27 พฤษภาคม 2490 มุ่งทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล

ประเด็นหนึ่งที่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ถูกโจมตีหนักคือ องค์การสรรพาหาร ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อขายสินค้าอุปโภคแก่ชาวบ้าน ถูกโจมตีว่าเป็นแหล่งทุจริต

นอกจากนี้ยังถูกโจมตีกรณี "กินจอบ กินเสียม" ที่รัฐบาลซื้อมาราคาถูก เพื่อไปแจกจ่ายประชาชน แต่ถูกกล่าวหาว่านำไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าตนเอง

เช่นเดียวกับกรณี "ชื้น โรจนวิภาต" บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อิทธิธรรม หนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เริ่มต้นโจมตีการดำเนินงานของรัฐบาลต่อกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่รัฐบาลมิอาจจับคนร้ายได้ กลายเป็นปัจจัยแทรกซ้อนนอกสภา ที่ถูกนำมาขยายผลบนเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนั้น

สุดท้ายเกมในสภาของ ปชป.ไม่อาจเอาชนะเสียงข้างมากฝ่ายรัฐบาล

แต่ผลกระทบจากการอภิปรายครั้งนั้นเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ "พล.ร.ต.ถวัลย์" สิ้นสุดจากการเป็นนายกฯ

ข้อกล่าวหาทุจริตฉ้อฉลของรัฐบาล-สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อเนื่อง-กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขมวดเป็นปมที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายได้

เป็นเหตุผลให้คณะรัฐประหาร 2490 นำโดย "พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ" (ยศขณะนั้น) ใช้ข้ออ้างดังกล่าวทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

44 ปีให้หลังในยุคที่การเมืองมีวรรคทองสำคัญคือ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ดังกึกก้องทั่วกระดานการเมือง เป็นวรรคทองของ "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของไทย

เวลานั้นพรรคการเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว "พรรคเทพ" เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์-พรรคพลังธรรม-พรรคความหวังใหม่-พรรคประชากรไทย

อีกขั้วหนึ่งคือ "พรรคมาร" ที่อยู่ฝ่ายเดียวกับทหาร คือพรรคชาติไทย-พรรคกิจสังคม-พรรคสามัคคีธรรม

ก่อนที่ "พล.อ.สุจินดา" จะตระบัดสัตย์คำพูดกลางสภา ขณะเดียวกัน "ชวน หลีกภัย" หัวหน้าพรรคนำมวลชนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หลัง รสช.ยึดอำนาจรัฐบาล "พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ" มา 9 เดือน

มูลเหตุมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ รสช.ที่มีเนื้อหาเอื้อให้สืบถอดอำนาจกันเอง

เนื่องจากมีการระบุให้ประธาน รสช.เป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสมาชิกจำนวนไม่เกิน 360 คน และให้อำนาจวุฒิสมาชิกมีอำนาจเท่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมืองได้ และให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ เขตละ 7 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2534 ฝ่าย "พรรคเทพ" ที่หนึ่งในนั้นคือ ปชป. พามวลชนนับแสนเข้าร่วมชุมนุมใหญ่บริเวณท้องสนามหลวง

การชุมนุมดังกล่าวนำมาสู่เหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" ในอีก 6 เดือนต่อมา และเป็นเชื้อให้มีการปฏิรูปการเมือง จนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ในที่สุด...

เมื่อปี 2490 ยุค "ควง อภัยวงศ์" เป็นหัวหน้าพรรค อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา 7 วัน 7 คืน กลายเป็นปมสู่การยึดอำนาจ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาสวัสดิ์ โดยคณะทหาร

เมื่อปี 2534 การปลุกมวลชนลงท้องถนนร่วมกับ "พรรคเทพ" ในยุค "ชวน หลีกภัย" เป็นหัวหน้าพรรค ต่อยอดให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ต้องจับตาว่าในปี 2556 ยุคที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นหัวหน้าพรรค ที่มีการปลุกมวลชนลงถนนอีกครั้ง คู่ขนานกับข้อกล่าวหาว่าจงใจทำให้เกมในสภาดุเดือดจะนำไปสู่เหตุการณ์อะไรต่อไป



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.