คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ท้ารบ "เพื่อไทย" เคลียร์ใจ "พันธมิตร" "ระบอบทักษิณต้องหายไป"
 


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ท้ารบ "เพื่อไทย" เคลียร์ใจ "พันธมิตร" "ระบอบทักษิณต้องหายไป"


คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ท้ารบ

เมื่อสหายที่เคยร่วมรบในอดีตส่งสัญญาณกลับมาจับมือร่วมต้านรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ถูกประเมินว่าใกล้จะสุกงอม

ในเวลาอันใกล้อาจได้พบเห็นกลุ่มคนการเมือง "ประชาธิปัตย์" (ปชป.) และ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จับมือเคลื่อนไหวริมถนนอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ปลายทางเดียวกัน "ต้านระบอบทักษิณ"

เป็นเดิมพันที่ ปชป.อาจต้องฉีกบท "ยึดมั่นในระบอบรัฐสภา" ที่แขวนเป็นสโลแกนพรรคยาวนานกว่า 67 ปี

แต่ก่อนจะไปถึงจุดหมาย ยังมีโจทย์ใหญ่ที่พรรคต้องเร่งแก้ไข เคลียร์ใจให้สำเร็จ

โดยเฉพาะ "แผลเก่า" ที่เคยฝากไว้ให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ กับข้อกล่าวหา "ได้ดีแล้วลืมกัน" ครั้งชุมนุมกดดันรัฐบาลฝั่งเพื่อไทย กระทั่งส่ง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. หนึ่งในผู้ปรากฏตัวเข้าพบกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อหารือ รอวันหวนกลับมาร่วมรบอีกครั้ง

บทเคลียร์ใจ เงื่อนไข ข้อตกลง ระหว่าง ปชป.-พันธมิตร เป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ต่อจากนี้

 



- ที่มาก่อนตัดสินใจเข้าพบมวลชนคืออะไร

มันก็เป็นการดำเนินการเมืองตามปกติ เมื่อเราเห็นว่าเหตุการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยปกติ เราก็ทำหน้าที่ในพรรคอย่างเต็มที่ ในรัฐสภาก็ทำเต็มที่เพื่อคัดค้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่จะพาประเทศไปลงเหว คงไม่ต้องบอกว่ามีอะไรบ้าง เพราะเวลานี้เขาเรียงคิวกฎหมายหลายฉบับเข้าสู่สภา ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะนำพาไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น

กฎหมายนิรโทษกรรมก็เห็นกันแล้วว่า หากปล่อยให้ผ่านไปอย่างนี้ ต่อไปนี้ใครเป็นพวกเขาทำอะไรก็ไม่ผิด เพราะถือว่าข้าพเจ้ามีอำนาจรัฐในมือ จะช่วยทำให้คุณไม่ผิด ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้กระทั่งทำลายทรัพย์สินคนอื่นก็จะไม่ผิด

คุณทักษิณยังเคยพูดไว้สมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เขามีกำไรและมีอำนาจ เขาบอกว่ายินดีที่จะให้รางวัล แม้ลูกน้องจะทำผิดกฎหมาย แต่บริษัทได้กำไร มันสะท้อนให้เห็นแล้วว่าเขาคิดอย่างไร

- ทำไมคิดพึ่งมวลชนตอนนี้ ทั้งที่รัฐบาลถูกโจมตีจากคำว่าระบอบทักษิณตลอด 2 ปี

ก็เหตุการณ์มันประดังกันเข้ามามาก ลำพังแต่พรรคที่ทำหน้าที่ในสภามันไม่พอ พรรคตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าเราจำเป็นที่ต้องเดินเข้าหาประชาชน แน่นอนว่าเราจะเคลื่อนไหวตามกฎหมายมาตรา 63 ที่ระบุว่า การชุมนุมในที่สาธารณะเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

- เป็นการตัดสินใจส่วนตัวหรือคำสั่งพรรค

ก็ทำร่วมกันทั้งในฐานะประธาน ส.ส.ของพรรค และผู้ติดตามเหตุการณ์มาโดยตลอด ทั้งการไปร่วมเวทีในที่ต่าง ๆ เราพบแล้วว่าทุกคนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

- ทำไมถึงเริ่มต้นจับมือกับพันธมิตรฯก่อน

มันไม่ได้มีแค่นี้แน่นอน แต่องค์กรนี้ใหญ่และมีชื่อเสียง ซึ่งจะทำให้คนสนใจการเคลื่อนไหวนี้มากขึ้น แน่นอนว่าเราจะจับมือกับทุกฝ่ายเท่าที่เราพอจะจับมือกันได้

- สาระสำคัญในการหารือคืออะไร

เมื่อเราพบว่าการแก้ปัญหาของประเทศ จำเป็นต้องมีการรวมพลังกัน กลุ่มคนเหล่านี้รู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะในเมืองไทยเรามีกันอยู่แค่นี้ เราก็ปรึกษากัน และตกลงกันว่าจะไม่ครอบงำซึ่งกันและกัน คุณทำในส่วนของคุณ เราทำในส่วนของเรา และมีเป้าหมายเดียวกัน

- เป้าหมายคือล้มระบอบทักษิณให้ได้

(สวนกลับ) ใช่ค่ะ แล้วต้องทำให้ระบอบทักษิณหายไปจากประเทศ หรือไม่ก็ต้องพาประเทศก้าวข้ามมันไปให้ได้

- บทที่แบ่งกันเล่นของ 2 ฝ่ายคืออะไร

เราทำหน้าที่ในสภาให้เต็มที่ เพราะการเป็น ส.ส.มันมีประโยชน์ในแง่คัดค้าน ยับยั้งกระบวนการในสภา เราสามารถเข้าชื่อฟ้องร้ององค์กรที่เกี่ยวข้องตามเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ส่วนข้อตกลงของพันธมิตรฯมันคงพูดกันทีเดียวแล้วจบเรื่องทุกอย่างไม่ได้ คงต้องค่อย ๆ หารือกันไป

- แกนนำมวลชนหลายคนยังมีคดีติดตัวจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหรือไม่

จำนวนคนมันส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทุกอย่าง ต่อให้มากันแสนหรือสองแสนคนก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ ตอนนี้จำนวนไม่ใช่เป้าหมายหลัก ภาพการร่วมมือต่างหากที่สำคัญ

- แต่หนึ่งในข้อเสนอ คือ ส.ส.ของพรรคต้องลาออกมาร่วมต่อสู้

มันเป็นความคิดของเขา เราคิดว่าการเป็น ส.ส. ยังดีกว่าไม่มีตำแหน่ง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นคงไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้

- ประเมินเงื่อนไขของกลุ่มพันธมิตรฯว่าต้องการอะไร

ทุกคนเสนอด้วยความตั้งใจดี แต่เวลานี้ยังทำไม่ได้ เขาก็ต้องเข้าใจ และเหตุการณ์วันนี้ยังประเมินอนาคตไม่ได้ มันมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย แต่เมื่อเริ่มต้นคุยกัน มันก็เหมือนเราทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

- คิดว่าช่วงไหนที่พร้อมจะเคลื่อนไหวชุมนุม

เท่าที่เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้น รัฐบาลยังมีท่าทีในการเติมเชื้อเพลิงใส่ความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาช่วงที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นกันแล้วว่า การเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น เค้าโครงเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งจะไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้เกิดคำถามกันว่ามันอาจจะต้องนำไปสู่จุดใดจุดหนึ่งหรือไม่

- จุดสุกงอมที่ทั้ง 2 ฝ่ายมองร่วมกันคือเมื่อกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านวาระที่ 3

(สวนกลับ) ใช่ แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่อันนี้ไม่ทราบ ยังเดาใจรัฐบาลไม่ถูก ยังไม่รู้ว่ากฎหมายฉบับไหนจะเข้ามาเมื่อไร แต่ในสภาก็ต้องสู้กันทุกฉบับ พูดตามตรง คุณจะเดาไม่ถูกเลยว่า จุดไหนจะเป็นจุดสุกงอมที่สุด บางทีเราเอาแก๊สบ่มมะม่วงยังไม่ทันไร วันดีคืนดีลำต้นอาจจะระเบิดก่อนลูกสุกก็ได้

- จะสานสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรฯอย่างไร เมื่อที่ผ่านมาถูกตอกย้ำว่า ปชป.พอได้ดีแล้วลืมมวลชน

ความรู้สึกอย่างนั้นคงไม่ได้หายวับไปกับตา แต่ด้วยตอนนี้มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า จะมัวแต่ทะเลาะกันทำไม ตอนนี้ไม่มีอะไรที่จะร้ายแรงไปกว่าระบอบทักษิณที่เจริญงอกงามขึ้นทุกวัน เรานึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้ ประชาชนจะอยู่กันอย่างไรในประเทศไทย ดังนั้นอย่าเพิ่งกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว

จริงอยู่ว่าเรื่องนี้มันคงแก้ไขได้ แต่คงไม่ใช่วันนี้หรือพรุ่งนี้ การที่เขาจะไม่สบายใจ ดิฉันก็มองด้วยความเห็นใจ แต่คนไทยให้อภัยกันได้ ขอโทษกันได้ ขอให้เอาบ้านเมืองเป็นหลักก่อน เมื่อบ้านเมืองสงบสุข และผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว ตอนนั้นก็ไม่ช้าเกินไปที่เราจะมานั่งคุยกันว่าอะไรบ้างที่ทำให้ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ทำไมต้องรีบมาคุยกันตอนนี้

- แต่แกนนำบางคนเคยบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน ปชป.ก็ไม่เคยจริงใจ

นั่นมันความรู้สึกของเขาใช่ไหม แต่จะเหมารวมว่าเป็นความจริงทั้งหมดก็คงไม่ได้ เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนคงมีอารมณ์ แต่การหยิบยกเรื่องนี้มาพูดขณะที่บ้านเมืองเผชิญปัญหาร้ายแรงมากกว่าในอดีตหลายเท่าตัว ถ้าไม่อคติจนเกินไปก็เห็นกันอยู่ว่ามันหนักข้อขึ้นทุกวัน ถ้าไม่รีบช่วยกันแก้ไข หมายความว่าเราต้องยอมใช่ไหม แล้วลูกหลานที่เติบโตมาต้องไปอยู่ใต้อุ้งตีนเขา จะเอาอย่างนั้นใช่หรือไม่

ในอดีตเราเคยต่อสู้กับทหาร ต่อสู้กับปืน ต่อสู้กับใครมามากมาย และการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ แน่นอนว่าการกระทำบางอย่างในช่วงนี้อาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่เราจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ทำให้ประเทศยังมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ต่อไป ถึงได้พูดกันเสมอว่า ไม่ได้จะล้มรัฐบาล แต่เราต้องการให้คุณทำงานของคุณ อย่าสร้างปัญหา อย่าเติมเชื้อไฟ ก็ถอนสิ่งที่เป็นปัญหาออกไปก่อนก็จบ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดิฉันยังเคยคิดเลยว่า ไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือร้ายของประเทศ ที่เราไม่เคยปล่อยให้ความเลวนี้เดินหน้าไปถึงที่สิ้นสุด เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ตอนจบด้วยตัวเอง แต่เราต่างก็พยายามประคับประคองมาจนถึงวันนี้

- กลุ่มพันธมิตรฯมักถูกโยงกับชนชั้นนำ ชื่อของคุณหญิงเข้ามาเชื่อมโยงตั้งแต่เมื่อไร

อย่างที่บอกว่าทุกคนรู้จักกันมานานแล้ว ตั้งแต่ดิฉันเข้ามาสู่ถนนการเมือง เราก็รู้จักกับพวกเขาแล้ว จะมีก็ตอนยุบสภาปี 2548 แล้วเลือกตั้ง 2550 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ดิฉันก็เคยไปเวทีพันธมิตรฯ ไปอยู่หลังเวที แต่ไม่เคยขึ้นเวที ไปให้กำลังใจประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ ดิฉันไปให้กำลังใจเขาที่มาต่อสู้เพื่อประเทศและหลังจากนั้นก็ไม่เคยไปอีกเลย

- แต่นามสกุลโสภณพนิชก็ถูกโยงว่าอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวเสมอ

ก็เป็นความเชื่อของเขาจะจริงหรือเปล่าก็ไม่มีใครรู้ ดิฉันไม่ใช่โสภณพนิชโดยแท้ ดิฉันเป็นสะใภ้ จะมาทึกทักว่ามีเงินเยอะมันก็ไม่ใช่ แล้วกล่าวหาว่าไปสนับสนุนกลุ่มนู้นกลุ่มนี้ เอาเข้าจริงดิฉันยังไม่รู้เลยว่าผู้บริหารแต่ละคนอยู่สีไหน

- แม้จะเป็นสะใภ้แต่ก็เคยลุกขึ้นตอบโต้ในสภา เมื่อถูกพาดพิงถึงตระกูลโสภณพนิช

อันนั้นไม่เกี่ยวกัน จะมาบอกว่าพูดถึงโสภณพนิช แล้วต้องเป็นคุณหญิงกัลยา เหมารวมแบบนั้นไม่ได้ ถ้าเขาทำผิดจริง ก็ฟ้องเขาเลย เอาอย่างนี้ถ้าคนของแบงก์กรุงเทพหรือตระกูลโสภณพนิชทำผิด ก็ฟ้องกันไป ดิฉันถึงเคยบอกแล้วว่า นามสกุลโสภณพนิชแล้วมันหนักหัวใคร

เขาคิดเอาเองว่าโสภณพนิชรวย จะสนับสนุนใครก็ได้ อย่าลืมว่าแบงก์กรุงเทพอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใช้เงินซี้ซั้วได้อย่างไร เขามีผู้ถือหุ้นที่ต้องดูแล อย่าคิดว่าแบงก์มีเงิน แล้วโสภณพนิชเป็นเจ้าของแบงก์ต้องรวย ตอนนี้ลำพังแต่โสภณพนิชเหลือหุ้นอยู่ไม่มาก ไม่ใช่หุ้นส่วนใหญ่ ลองไปเช็กดูก็ได้ ว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์

- การเคลื่อนไหวครั้งนี้เสี่ยงจะทำให้อุดมการณ์พรรคเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่

เรายึดมั่นและเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาจริง จริง ๆ เราไม่ได้เปลี่ยน คนที่เป็นนักการเมือง ทำงานยึดถือรัฐสภา ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ทำงานร่วมกับประชาชน นี่เป็นเรื่องปกติ ถ้าประชาชนออกมาที่ท้องถนน เราก็ต้องออกไปดูแลคนของเรา

- แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามตีความว่า สู้ในสภาไม่ได้ ก็เลยออกมาชวนตีข้างนอก

ไม่ได้ชวนตี ในสภาสู้ไม่ได้อยู่แล้ว ให้ยกสองมือสองเท้าก็ไม่ชนะ แต่ไม่ใช่แพ้แล้วออกไปตีต่อข้างนอก ยืนยันว่าสิ่งพวกนี้เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีความหลากหลายในรูปแบบมากขึ้น เชื่อเถอะว่าต่อให้เราทำดีกว่านี้แค่ไหน เขาก็โจมตีเราอยู่ดี



ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/prachachat
หรือติดตามผ่านทวิตเตอร์ @prachachat



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.