เงื่อนไข ลาออก ส.ส. วัดใจ "อภิสิทธิ์-ปชป." ด้วยรัก...จากพันธมิตรฯ
 


เงื่อนไข ลาออก ส.ส. วัดใจ "อภิสิทธิ์-ปชป." ด้วยรัก...จากพันธมิตรฯ


เงื่อนไข ลาออก ส.ส. วัดใจ

บทบาท กลุ่มกองทัพประชาชน เวทีสวนลุมพินีอย่างหนึ่งคือเป็น "ตัวเชื่อม" ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 

 

 

เพราะไม่ว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ หรือ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันมิตรฯ ต่างยืนยันตรงกันว่า

ทั้งสองฝ่ายพบปะเจรจาทางการเมืองกันจริงครั้งแรกที่หลังเวทีกองทัพประชาชน

นายนิพิฏฐ์ กล่าวถึงการยื่น "นิ้วก้อย" เข้าหากลุ่มพันธมิตรฯ ว่า

จุดเริ่มต้นมาจากการไปขึ้นเวทีกองทัพประชาชนที่สวนลุมพินี บังเอิญพบแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ บางคน

จึงได้พูดคุยกันหลังเวทีและนัดหารือกันรอบแรก ก่อนตามด้วยการนัดหมายรอบ 2 เมื่อคืนวันที่ 15 สิงหาคม

ซีก พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนายนิพิฏฐ์ ยังมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธาน ส.ส.พรรค นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ซีกกลุ่มพันธมิตรฯ ประกอบด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ นายประพันธ์ คูณมี

มี สัญญาณหลายอย่างบ่งชี้ว่าการเจรจาดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การรับรู้จากผู้ใหญ่สองฝ่าย ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ

อย่างไรก็ตาม การพบปะระหว่างตัวแทน 2 กลุ่มยังเสมอเป็นเพียงการเริ่มต้น ส่วนจะบรรลุผลขนาดไหนยังเป็นเรื่องน่าสงสัย

พรรคประชาธิปัตย์ยื่นนิ้วก้อยออกไป กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยื่นนิ้วก้อยออกมา ที่ต้องจับตาคือนิ้วก้อยจะเกี่ยวกันได้หรือไม่ อย่างไร

เพราะถึงนายนิพิฏฐ์ และนายปานเทพ พูดตรงกันเกี่ยวกับการพบปะเจรจาในรูปแบบ "ทวิภาคี" เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังร้อนแรง

แต่ หากมองลึกลงไปใน "เนื้อหา" การพูดคุยจะพบว่ามีบางเรื่องที่ยังจูนกันไม่ติด โดยเฉพาะเงื่อนไขคำขาดของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์

ลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อออกมานำม็อบแบบเต็มตัว



ข้อ เสนอแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจาก ส.ส. เพื่อหยุดความชอบธรรมระบบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง และ ปฏิรูปประเทศใหม่ทั้งหมด

ไม่ใช่แค่ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมหรือหวังผลให้มีการเปลี่ยนขั้วการเมือง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแทนพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

ใน ฐานะตัวแทนเจรจา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ยืนยันจะนำข้อสรุปเบื้องต้นจากหารือไปแจ้งต่อแกนนำพรรค และในระยะเวลาอันใกล้จะมีตัวแทนพรรค "ชุดใหญ่" มาเจรจากับแกนนำพันธมิตรฯ อีกครั้ง

นายนิพิฏฐ์ อ้างว่าถึง 2 กลุ่มจะมีแนวทางวิธีต่อสู้แตกต่าง แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และโค่นล้มระบอบทักษิณ

ฉะนั้น จึงสามารถร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันได้

ส่วน เงื่อนไข "วัดใจ" ที่ว่าประชาธิปัตย์ต้องลาออกจาก ส.ส. ก่อนนั้น ตรงนี้เองทำให้แกนนำพรรคลังเล เนื่องจากเป็นเกมรุกที่สุ่มเสี่ยงเกินไป

นายนิพิฏฐ์ ในฐานะทูตเจรจาเอาตัวรอดจากประเด็นนี้ โดยเลี่ยงตอบรับหรือปฏิเสธตรงๆ

เพียงแต่กล่าวว่าในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องจับมือกันต่อสู้ แต่ระยะนี้แต่ละกลุ่มยังมีเงื่อนไขของตัวเอง

แกนนำพันธมิตรฯ ติดเงื่อนไขศาลในการประกันตัว ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถลาออกจาก ส.ส. เพราะไม่เป็นผลดีในการต่อสู้

แต่ก็ไม่ปิดทางสำหรับข้อเสนอดังกล่าว

เพราะถ้าหากวันใดเกิดสถานการณ์ใกล้เคียงกับที่พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศไม่ส่งคนรับสมัครเลือกตั้ง ทุกอย่างก็อาจเป็นไปได้

เช่นเดียวกับ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ประธาน ส.ส.พรรค ที่แบ่งรับแบ่งสู้ว่าประชาธิปัตย์ไม่สามารถทำตามข้อเสนอดังกล่าวได้ตอนนี้

แต่หากในอนาคตเหตุการณ์พัฒนาไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง ถึงวันนั้นจำเป็นต้องมี ส.ส.พรรคเสียสละออกมาต่อสู้กับพี่น้องประชาชน

กล่าวโดยสรุปในระดับตัวแทนเจรจา พรรคประชาธิปัตย์ยังยืนยันใช้เกม "ในสภา" เป็นตัวนำ เกม "นอกสภา" เป็นตัวตาม

ยังไม่พร้อมลาออกจาก ส.ส. ตามข้อเสนอกลุ่มพันธมิตรฯ

แต่ในอนาคตยังไม่แน่



ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะเห็นด้วยกับนายนิพิฏฐ์ ที่นำคณะออกผนึกกำลังกลุ่มต้านระบอบทักษิณ ไม่ว่ากับกลุ่มกองทัพประชาชน หรือกลุ่มพันธมิตรฯ

แต่กับข้อเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออก ส.ส. นายอภิสิทธิ์ยังมีท่าที "แทงกั๊ก" โดยระบุว่า

"ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการพูดคุย ถ้าเรามีเป้าหมายใหญ่ตรงกัน ก็แสวงหาจุดร่วมกันก่อน จุดต่างก็สงวนกันไว้"

ด้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรค ยังยืนกรานจุดยืนเดิมในการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย วาระ 1 ไปจนถึงวาระ 3

ตราบจนพ่ายแพ้วาระ 3 เมื่อถึงเวลานั้นสิ่งที่จะคู่ขนานไปกับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ คือการ "เป่านกหวีด" ยกระดับเคลื่อนไหวนอกสภา

ด้วยการจัดชุมนุมเวที "ผ่าความจริง" ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

นัดประชาชนหยุดงานทั้งประเทศแสดงออกถึงการปฏิเสธอำนาจรัฐ ปฏิเสธสินค้าบริษัทในเครือข่ายรัฐบาล

สำหรับข้อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เสียสละลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อมาทำหน้าที่ถือ "ธง" นำมวลชนในการปฏิวัติประเทศ

เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ออก กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่ออกด้วยเช่นกัน

เดิมพัน ดังกล่าว นายสุเทพชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป้าหมายพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใหญ่โตถึงขนาดนั้น ไม่ใหญ่โตเท่าเป้าหมายของนายสนธิหรือกลุ่มพันธมิตรฯ

"วิถีทางต่อสู้ เป็นทางเลือกของแต่ละกลุ่ม แต่ละขบวนการ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ใครจะมากะเกณฑ์ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ คงบังคับกันไม่ได้"

นายสุ เทพมองว่า นอกจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคยังจำเป็นต้องมี ส.ส. ไว้ต่อสู้ในสภาอีกหลายเรื่อง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

ส่วนยุทธวิธี "ทุบหม้อข้าว บุกตีเมืองจันท์" ตามแบบที่แกนนำพันธมิตรฯ เสนอ

นายสุเทพมองว่าสถานการณ์ยังไม่สุกงอมพอ



แผนผนึกกำลังพรรคประชาธิปัตย์เข้ากับกลุ่มพันธมิตรฯ จะดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าตามดูกันต่อไป

กล่าวถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงม็อบพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548

ก็เคยเดินทางไปยังบ้านพระอาทิตย์ให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล โอบหลังโอบไหล่

นายอภิสิทธิ์เคยโผเข้ากอด นายเนวิน ชิดชอบ ที่ประกาศนำ 30 ส.ส. ในกลุ่มแยกตัวจากพรรคพลังประชาชน เปลี่ยนขั้วย้ายข้าง

หันมาจับมือพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อ มาภายหลังจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีเหตุให้ต้องแยกทางกับกลุ่มพันธมิตรฯ เนื่องจากจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว

พรรคประชาธิปัตย์ผนึกอำนาจกับพรรคภูมิใจไทย โดยการหนุนหลังของกองทัพขณะนั้น เปลี่ยนแนวหันกลับมาเล่นการเมืองในสภา

ทิ้ง กลุ่มพันธมิตรฯ อยู่กับการเมืองบนท้องถนน และบทเรียนเจ็บปวดในฐานะอดีต "นั่งร้าน" ช่วยเพื่อนปีนป่ายเข้าสู่อำนาจ ก่อนถูกถีบทิ้งในบั้นปลายท้ายสุด

เหตุการณ์ในอดีตสะท้อนแนวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ได้ดี

ด้วย วิธีเล่นการเมืองแบบ "ไม่มีมิตรแท้" ที่เป็นมาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้าง "โดดเดี่ยว" ในปัจุบัน

โดดเดี่ยวจากกองทัพ จากกลุ่มพันธมิตรฯ จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน

แม้ว่าเวทีผ่าความจริงจะได้รับการตอบรับอย่างคึกคักจากบรรดาแฟนพันธุ์แท้

แต่จากการทดลองเป่านกหวีด นำมวลชนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระแรก จำนวนผู้เข้าร่วมขบวน 2,500 คน ก็ชวนให้ใจไปอยู่ที่ตาตุ่ม

การ "บากหน้า" ส่งตัวแทนเข้าเจรจาจับมือกลุ่มพันธมิตรฯ

ด้าน หนึ่ง เป็นการสร้างภาพว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ด้านหนึ่ง เป็นการยืนยันความพร้อมเคลื่อนไหวนอกสภาแบบจัดหนักจัดเต็ม

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนถึงอาการ "จนแต้ม" ของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

 

ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่

www.facebook.com/matichonweekly



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.