เปิดผลสอบ"กสม."คดีสลายม็อบปี"53
 


เปิดผลสอบ"กสม."คดีสลายม็อบปี"53


เปิดผลสอบ
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8291 ข่าวสดรายวัน


เปิดผลสอบ"กสม."คดีสลายม็อบปี"53


คอลัมน์ รายงานพิเศษ



หมายเหตุ - เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ ?รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553? หนา 92 หน้า โดยเนื้อหาสำคัญอยู่ที่ข้อ 4. การดำเนินการตรวจสอบ และข้อ 5. บทสรุป ใจความสำคัญดังนี้



4.การดำเนินการตรวจสอบ

แบ่งออกเป็น 8 กรณี ผลปรากฏดังนี้

4.1 กรณีสถานการณ์ก่อนวันที่ 7 เม.ย.2553

ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เมื่อ 9 มี.ค.2553 และนายกฯโดยความเห็นชอบของครม. จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อ 7 เม.ย.2553 นั้น

พิจารณาแล้วเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. 12-16 มี.ค.2553 เป็นไปโดยสงบและอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อขยายพื้นที่จากเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปยังสถานที่ต่างๆ ขยายการปิดเส้นทางการจราจรจนกระทบประชาชนทั่วไป และไปเทเลือดที่หน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำเนียบฯ และบ้านพักนายกฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง

กระทั่ง 3 เม.ย.2553 ส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ ปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคมโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป

อีกทั้งยังมีแนวโน้มนำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรง ถือเป็นการชุมนุมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตรัฐธรรมนูญ

4.2 กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกฯขณะนั้น) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 และกรณีที่ ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนล (พีทีวี) และสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ต บางสื่อ

4.2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกทม.และปริมณฑล และจัดตั้ง ศอฉ.

พิจารณาแล้วจึงว่า การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจัดตั้ง ศอฉ. เมื่อ 7 เม.ย.2553 ของนายกฯ มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนส่วนรวมในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ

จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถกระทำได้

4.2.2 การสั่งระงับการออกอากาศพีทีวี และสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ตบางสื่อ

การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และเป็นการจำกัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่สถานการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบ อันมีเหตุความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถกระทำได้

ส่วนการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. และ ผู้อำนวยการ ศอฉ. มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงไอซีที รวมถึง ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และมีข้อความที่มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารนั้น

พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวของรัฐ เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนที่เกินความเหมาะสมและเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น

4.3 กรณีการชุมนุมและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553

รัฐบาลโดยการสั่งการของผอ.ศอฉ. มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ผิวการจราจรบริเวณถนนราชดำเนินกลาง จากแยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนราชดำเนินนอก จากแยกมิสกวันถึงแยก จปร. และบริเวณถนนพิษณุโลก จากสะพานชมัยมรุเชฐถึงแยกวังแดง

เบื้องต้นดำเนินการไปตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนจะมีการรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ โดยใช้การเจรจา ประกาศเตือน และ ใช้มาตรการตามที่ประกาศไว้ คือ การใช้โล่ กระบอง น้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง เป็นต้น ซึ่งการกระทำของรัฐบาลเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้

แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ชุมนุมใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ ใช้ไม้ปลายแหลม ก้อนอิฐตัวหนอน หนังสติ๊กที่ใช้นอตเป็นลูกกระสุน รวมทั้งมีพยานบุคคลยืนยันว่า ผู้ชุมนุมบางรายมีอาวุธปืนทำการต่อต้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

และยังมีกลุ่มชายชุดดำมีอาวุธที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลาปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม อันอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ทหารและประชาชนทั่วไปได้

เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องป้องกันตนเองและผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ที่รุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บได้โดยไม่สามารถใช้วิธีป้องกันอย่างอื่นได้

อย่างไรก็ตาม การรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ของรัฐบาลในวันที่ 10 เม.ย.2553 ขาดการวางแผนที่ดี ส่งผลให้มีการใช้วิธีการรุกคืบเข้าปิดล้อมพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม

เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม การรุกคืบเข้าปิดล้อมในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นวิธีการที่สุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีที่ฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวายต่อสถานการณ์ดังกล่าว จนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

การกระทำของรัฐจึงเป็นการกระทำโดยประมาทและประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

นอกจากนี้ เหตุระเบิดในที่ประชุมนายทหารในพื้นที่ โดยปรากฏข้อเท็จจริงเป็นภาพหรือถ้อยคำของพยานว่ามีการใช้แสงเลเซอร์ ชี้เป้าก่อนนั้น แสดงให้เห็นได้ว่ามีการวางแผนเพื่อฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในที่ประชุมในวันนั้น

ซึ่งเป็นผลให้พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และส.ท.ภูริวัฒน์ ประพันธ์ ถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำผิดอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งรัฐโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งสอบสวนหาที่มาของอาวุธร้ายแรงชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่น สำนักข่าวรอยเตอร์ กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษและดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมแล้ว เมื่อหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรงได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

ส่วนกรณีการเสียชีวิตของกลุ่ม นปช. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เช่นกัน

กล่าวโดยสรุป กรณีของชายชุดดำ กรณีการเสียชีวิตของ ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้สื่อข่าว และประชาชนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทุกราย รวมถึง ผู้ได้รับบาดเจ็บ และทรัพย์สินได้รับความเสียหายด้วย

รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องใช้หลักวิชา ตามกำลังความรู้ความสามารถในการอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มที่ และไม่มีการเลือกปฏิบัติ

โดยควรสืบสวนสอบสวนและคลี่คลายให้สังคมได้รับรู้ พร้อมทั้งลงโทษผู้กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งนี้ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

4.4 กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดงเมื่อ 22 เม.ย.2553

คืนวันที่ 22 เม.ย.2553 มีพยานบุคคลที่เห็นว่า ลูกระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงมาจากบริเวณที่กลุ่ม นปช. ชุมนุม และยังมีพยานบุคคลที่ได้ยินแกนนำของกลุ่ม นปช. ประกาศผ่านทางเครื่องขยายเสียง ในทำนองว่าแกนนำของกลุ่ม นปช. รับรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว

ซึ่งภายหลังก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ติดตามจับกุมนายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ซึ่งเป็นคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม นปช.

โดยที่คดีดังกล่าวนายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ไม่ได้รับสารภาพ และปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา

นอกจากนี้ การจุดพลุ ตะไล และประทัด ย่อมทำให้เห็นได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการอำพรางหรือบิดเบือนเสียงการยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

จึงเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณแยกศาลาแดง เป็นการกระทำที่เกินกว่าสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง มีการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ และละเมิดสิทธิมนุษยชนของ บุคคลอื่น

4.5 กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553

รัฐบาลโดย ศอฉ. สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าคลี่คลายสถานการณ์ เพื่อป้องกันการเพิ่มเติมกำลังของกลุ่ม นปช. รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังติดอาวุธใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ยิงอาวุธ หรือใช้ระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานบนถนนวิภาวดีฯ นั้น



แม้ ศอฉ. จะชี้แจงว่า เป็นการกระทำที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก จนกระทั่งจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนเองและปกป้องประชาชน ผู้บริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม ผลจากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีทหารเสียชีวิต 1 นาย จากอาวุธปืน และประชาชนตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ

จึงถือได้ว่ามีการกระทำอันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต

สำหรับการเสียชีวิตของ พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ นั้น ศาลอาญาได้มีคำสั่งในคดีแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจก้าวล่วงมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้

4.6 กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณรอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2553

เป็นการใช้เสรีภาพในลักษณะก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น รัฐย่อมมีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เหตุการณ์วันที่ 29 เม.ย.2553 เวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่ม นปช. ภายใต้การนำของนายพายัพ ปั้นเกตุ และภายใต้การรับรู้ของแกนนำ นปช. อีกสองคน คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนพ.เหวง โตจิราการ ขอเข้าตรวจสอบภายในร.พ.จุฬาลงกรณ์

แต่การตรวจค้นไม่ปฏิบัติตามที่ตกลง กลุ่ม นปช.ประมาณ 100 คนร่วมกันบุกเข้าไปภายในบริเวณพื้นที่ของโรงพยาบาล โดยแกนนำไม่สามารถควบคุมได้ และเข้าไปตรวจค้นที่อาคาร สก. รวมทั้งมีการงัดทำลายประตูกระจกของอาคาร สก. จนได้รับความเสียหาย

จึงถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล และงัดทำลายประตูกระจกของอาคาร สก. จึงเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ใช้และมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงพยาบาลอีกต่อไป จนทำให้โรงพยาบาลตัดสินใจย้ายผู้ป่วยในทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลอื่น

ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ละเมิดต่อหลักมนุษยธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน

จึงควรสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป

4.7 กรณีการเกิดเหตุจลาจล ปะทะ และทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553

การปฏิบัติของรัฐบาลระหว่าง 13-19 พ.ค.2553 ปรากฏเหตุการณ์ยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบไปถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ซึ่งศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) รายงานว่าระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553 มีผู้บาดเจ็บ 404 คน เสียชีวิต 51 ราย รวมผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งหมด 455 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวแม้รัฐบาลจะดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย แม้จะยังไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ใดฝ่ายใดเป็น ผู้ยิงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บดังกล่าว และกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวในกลุ่มผู้ชุมนุมคือใครก็ตาม

แต่เมื่อปรากฏความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของบุคคลเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการนี้ ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธด้วย

รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการเยียวยาช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว รวมทั้งครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าวด้วยเหตุที่ผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นตกอยู่ในสภาพพิการจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น

นอกจากนี้ จะต้องสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป รวมทั้งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้ใดได้กระทำการที่เกินมาตรการตามกฎหมายที่รัฐบาลโดย ศอฉ. กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร

สำหรับประเด็นสิทธิในทรัพย์สินนั้น บริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์มีพยานยืนยันว่า เกิดการปะทะกันระหว่างพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างกับการ์ดนปช. และกลุ่มชายชุดดำ แล้วจึงเกิดการเผาอาคารห้าง อีกทั้งเข้าไปลักทรัพย์ในห้างด้วย

นอกจากนี้ จากพยานหลักฐานที่เป็นภาพเคลื่อนไหวปรากฏภาพเหตุการณ์ยืนยันว่า การเผาอาคารบริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงนั้น มีผู้กระทำบางคนอยู่ภายในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.

สาเหตุอาจเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นไม่พอใจแกนนำนปช. ที่เวทีราชประสงค์ได้ประกาศยุติการชุมนุม แล้วเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ซึ่งการเผาและทำลายทรัพย์สินในครั้งนี้ เป็นลักษณะการกระทำที่แกนนำของกลุ่ม นปช. ได้เคยปราศรัยยั่วยุแก่กลุ่มผู้ชุมนุมไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

พฤติการณ์ของการเผาอาคารทรัพย์สินนั้น แผ่ขยายไปถึงการเผาศาลากลางในหลายจังหวัดในเวลาต่อมา กระทั่งมีการจับกุมผู้ก่อเหตุและดำเนินคดีตามกฎหมาย

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและเผาทำลายทรัพย์สินของบุคคลอื่น รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการได้รับความเสียหายจำนวนมาก

4.8 กรณีมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553

วันที่ 19 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 06.00 น. รัฐบาลโดย ศอฉ. ได้ปฏิบัติการที่เข้มข้นขึ้น กระทั่ง 13.30 น. แกนนำกลุ่ม นปช. ประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นมีการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ต่อเนื่องไปถึงศูนย์การค้าบิ๊กซี

และเหตุการณ์การยิงปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มบุคคลติดอาวุธก็ยังมีการยิงต่อเนื่องถึงเวลา 18.30 น. โดยมีการยิงปะทะกันโดยรอบนอกบริเวณวัดปทุมวนารามฯ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้ปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์บริเวณรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามฯ ซึ่งมีกลุ่มบุคคลติดอาวุธวิ่งหลบหนีไปมาและหลบเข้าไปในวัดปทุมวนารามฯ แล้วยิงอาวุธใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องป้องกันตนเอง

ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และบาดเจ็บ 7 คนบริเวณวัดปทุมวนารามฯ แม้จะไม่มีพยานยืนยันที่ปรากฏชัดว่า ศพของผู้เสียชีวิตบางศพได้เสียชีวิตนอกวัด บางศพเสียชีวิตหน้าวัด และบางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณใด แต่ศพทั้ง 6 ศพได้ถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปในวัดภายหลังที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว โดยไม่มีการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานให้ทราบถึงลักษณะพฤติการณ์แห่งการตาย (Manner of death) ว่ามีการยิงมาจากที่ใด

คงมีเพียงหลักฐานรายงานการชันสูตรศพ ทั้ง 6 ศพ ของสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงให้ทราบเพียงสาเหตุแห่งการตาย (Cause of death) ว่า ผู้ตายเสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่อวัยวะสำคัญส่วนใดเท่านั้น ซึ่งสภาพศพต่างก็มีผลทิศทางกระสุนปืนและบาดแผลที่แตกต่างกัน คงสรุปได้ว่า ถูกยิงในระยะเกินมือเอื้อม ไม่อาจรู้ถึงระยะใดเพียงใด ดังที่พยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางนิติเวชได้ให้ความเห็นไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อกรณีเป็นการไต่สวนในชั้นศาลแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่อาจก้าวล่วงมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้

5.บทสรุป

5.1 บทเรียน

5.1.1 บทเรียนภาคประชาชน

ผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมต้องสร้างเจตจำนงร่วมกันในการชุมนุมโดยสงบและสันติ ดูแลให้มีอุดมการณ์ที่ถูกต้องในการรักษาระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ทำให้เป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ยึดแนวทางสันติวิธีและเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทุกประเภท

ตลอดจนไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั่วไป และรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมด้วย

5.1.2 บทเรียนภาครัฐ

ต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย คำนึงถึงกรอบแห่งกฎหมาย มาตรฐานสากล รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

หลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงานด้านมวลชน รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสม

5.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

อาทิ ครม.ควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

ภาครัฐและภาคสังคมจะต้องร่วมกันหาทางออกจากวิกฤต บนพื้นฐานการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและเปิดใจกว้าง ลดการเอาชนะคะคานกัน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำความผิด ฯลฯ


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.