วสันต์ไขก๊อก แต่"ธง"ไม่เปลี่ยน
 


วสันต์ไขก๊อก แต่"ธง"ไม่เปลี่ยน


วสันต์ไขก๊อก แต่
วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8270 ข่าวสดรายวัน


วสันต์ไขก๊อก แต่"ธง"ไม่เปลี่ยน





แวดวงการเมือง"ถอดรหัส"กันขนานใหญ่

กรณีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ยื่นหนังสือลาออกจากประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แบ่งสีแบ่งขั้วกันชัดเจน

ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา

เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยคณะตุลาการ 9 คน หลายคดีมีผลก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงโฉมหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่

อาทิ การตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2550 การตัดสินกรณี "ชิมไปบ่นไป" อันส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2551

รวมถึงการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในเดือนธันวาคม 2551 อันเป็นจุดก่อกำเนิดรัฐบาลประชาธิปัตย์

มาตรฐานในคำวินิจฉัยตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หลายครั้งหลายหนถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา จากทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ซึ่งเป็นไปตามสภาพความจริงของบ้านเมืองที่มักจะมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ฝ่ายในทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ

นอกจากนี้หลายคำตัดสินนอกจากจะไม่สามารถยุติปัญหาลงได้แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งใหม่ตามมา จนเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชนในสังคมกระทั่งปัจจุบัน

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดที่สังคมจะให้ความสนใจ และตั้งคำถามถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสูงสุดในองค์กรศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ว่าจะมีผลกระทบต่อการเมืองแง่มุมใด

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ให้เหตุผลการยื่น ลาออกว่า เนื่องจากก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อตุลาคม 2554

ได้ให้คำมั่นสัญญากับคณะตุลาการอีก 8 คนว่าจะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เกิน 2 ปี หรือจนกว่าจะเสร็จภารกิจด้านงานคดีต่างๆ

เดิมตั้งใจจะลาออกตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม แต่ระหว่างนั้นมีกลุ่มเสื้อแดงในนามกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) มาชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โจมตีการทำงานของตุลาการ

จึงไม่อยากให้เป็นประเด็นการเมือง

ต่อมานายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาแถลงขยายความเพิ่มเติมว่า

นายวสันต์ ตัดสินใจลาออกหลังจากปฏิบัติตามภารกิจที่ตั้งใจไว้ คือการพัฒนาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสำนักงาน และการเร่งรัดพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ 123 คดี จนลดลงเหลือ 30 คดี

นายพิมล ยังยืนยันการลาออกเป็นความประสงค์ส่วนตัวของนายวสันต์ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เพราะปกติศาลรัฐธรรมนูญต้องเจอแรงเสียดทานทางการเมืองอยู่แล้ว

สำหรับการพิจารณาคดีสำคัญที่ค้างอยู่ เช่น คำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68

และการพิจารณาสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สืบเนื่องจากกรณีถูกกล่าวหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

ก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่หยุดชะงัก

ส่วนคำถามที่ว่าการลาออกของนายวสันต์ จะก่อผลดีหรือร้ายกับรัฐบาลเพื่อไทย

ในเบื้องต้นหากมองอย่างผิวเผินดูเหมือนเป็นผลดี เนื่องจากเป็นไปตามข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ของกลุ่มมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล

แต่หากมองในระดับลึกลงไป อาจไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะอย่างการลงมติรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัย ตามมาตรา 68 ที่ผ่านมา จำนวน 4-5 คำร้องนั้น

นายวสันต์อยู่ฝ่ายเสียงข้างน้อยมาตลอด คือไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น

อีกทั้งตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญถึงจะเป็นตำแหน่งทรงเกียรติ แต่ในทางปฏิบัติก็มีฐานะเป็นเพียง 1 เสียงในตุลาการทั้งหมด 9 คนเท่านั้น

การลาออกจึงไม่มีผลกระทบต่อแนวทางการพิจารณาคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ อย่างใด หรือหากจะมีผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง

น่าจะออกมาในทางลบกับรัฐบาลมากกว่า

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เคยได้รับเสียงชื่นชมในความกล้าหาญ

กรณีออกมาเปิดใจยอมรับ"ข้อบกพร่อง"ของศาลรัฐธรรมนูญ ในการเขียนคำวินิจฉัยคดี "ชิมไปบ่นไป" ของ นายสมัคร สุนทรเวช

และเบื้องหลังการตัดสินยุบ 3 พรรค การเมืองเมื่อปี 2551 ที่ใช้กระแสการเมืองในขณะนั้นเป็นตัวนำ แทนที่จะใช้หลักข้อเท็จจริงทางกฎหมาย

ในซีกฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยมีการวิเคราะห์ในทิศทางว่า การลาออกของนายวสันต์ เป็นเรื่องไม่ปกติ

เพราะปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นชี้เป็นชี้ตายทาง การเมืองหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โยงใยไปถึงการถอด ถอนสมาชิกรัฐสภา ส.ส.และส.ว. 362 คน

การลาออกของนายวสันต์ จึงตีความได้ 2 แบบ คือ การตัดช่องน้อยแต่พอตัว ไม่ต้องการอยู่แบกรับสถานการณ์ความขัดแย้ง จึงโยนเผือกร้อนให้คนอื่นมา รับช่วงต่อ

หรือไม่ก็ได้ปูทางภารกิจที่ได้รับมาเรียบร้อยแล้ว จึงชิงลาออกก่อน เพื่อพาตัวเองหลุดพ้นจากปัญหาความขัดแย้ง ที่จะตามมาภายหลัง

แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด นายวสันต์จะอยู่หรือไป "ธง" ในการวินิจฉัยตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ขณะเดียวกันองค์กรอิสระอื่นๆ ที่เหลือทั้งป.ป.ช. กกต. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

โดยเฉพาะการตรวจสอบโครงการรับจำข้าว ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน งบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน

รวมถึงการไล่เช็กบิลบรรดาคนในเครือข่ายนายใหญ่

ไม่ว่าเป็น "บิ๊กแจ๊ด" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. กรณี "มีวันนี้เพราะพี่ให้"

หรือ"หมอเลี้ยบ"นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียม เอื้อประโยชน์ให้บริษัทชินคอร์ป ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่ป.ป.ช.ชี้มูลเตรียมส่งผ่านอัยการสูงสุดไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

ฉะนั้นหากมองในแง่ร้าย การลาออกของ นายวสันต์

จึงเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของขบวนการ"ยำใหญ่"รัฐบาล

ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.