ดุสิตโพลเผยเด็กอาชีวะเชื่อร่วมกิจกรรมทางศาสนา ลดปัญหานร.ตีกัน
 


ดุสิตโพลเผยเด็กอาชีวะเชื่อร่วมกิจกรรมทางศาสนา ลดปัญหานร.ตีกัน


ดุสิตโพลเผยเด็กอาชีวะเชื่อร่วมกิจกรรมทางศาสนา ลดปัญหานร.ตีกัน

สวนดุสิตโพล เผยนักเรียนอาชีวะ 64.53%​ เห็นว่าการเข้าร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาจะช่วยลดปัญหาเด็กตีกันได้  พร้อมเรียกร้อง ก.วัฒนธรรม-สำนักงานพระพุทธศาสนา ตรวจสอบพฤติกรรมพระอย่างเคร่งครัด...

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.56 คณะกรรมการอาชีวศึกษา ได้ร่วมกับ สวนดุสิตโพล  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จัดทำผลการสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในสังกัดอาชีวศึกษากว่า 1,000 คน ภายใต้หัวข้อ "เด็กอาชีวะกับวันสำคัญทางศาสนา"  เนื่องในวันสำคัญทางศาสนาที่จะมาถึงติดกันคือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยพบว่า นักเรียนอาชีวศึกษาส่วนใหญ่ 64.53%​  เห็นว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาจะช่วยขัดเกลาจิตใจหรือช่วยลดปัญหาเด็กตีกันได้ เพราะทำให้มีสติ ใจเย็นมากขึ้น รู้จักบาปบุณคุณโทษ ช่วยซึมซับขัดเกลาจิตใจ โดย 35.47% คิดว่าช่วยไม่ได้ เพราะวัยรุ่นในปัจจุบันไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องศาสนาเท่าที่ควร ไม่ให้ความสำคัญหรือสนใจในศาสนา อารมณ์ร้อน วู่วาม


นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กนักเรียนระดับอาชีวศึกษา  28.74% เห็นว่าพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันทะเลาะกันมากขึ้น มีจิตใจที่ตกต่ำ ไม่มีน้ำใจให้กัน เข้าวัดน้อยลง โดย 18.53% เห็นว่าพระหรือศาสนายังเป็นที่พึ่งหรือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเหมือนเดิม  สำหรับสถานศึกษาในสังกัดอาชีวะศึกษามีการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนามากถึง 91.52%​  มีเด็กสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 91.04%​ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรยึดถือปฏิบัติ  ทำแล้วได้บุญและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ  ขณะที่อีก 8.96%​ ไม่สนใจ เพราะเห็นว่ามีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก รู้สึกอึดอัด ไม่เป็นส่วนตัว

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่อยากให้มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาอย่างน้อยเดือนละครั้ง  เนื่องจากเห็นว่าทุกวันนี้ศาสนาเสื่อมถอยลงไปมาก อาจมีสาเหตุมาจากพระบางรูปมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือมีผู้ที่หาประโยชน์จากวัดจากประชาชนที่มาทำบุญ  และเพื่อควบคุมสติ อารมณ์ ลดปัญหาการทะเลาะวิวาท


อย่างไรก็ตาม นักเรียนอาชีวศึกษาที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าพระสงฆ์ในปัจจุบันมีทั้งพระที่ดีและไม่ดี เมื่อมีข่าวในทางลบหรือสร้างความเสื่อมเสียให้พุทธศาสนามักจะปรากฏในสื่ออย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคมหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรมีการติดตามตรวจสอบวัดต่างๆ หรือพระที่มีชื่อเสียงในเรื่องพฤติกรรม การปฏิบัติ การรับกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด เมื่อมีการทำผิดต้องมีการดำเนินการที่ชัดเจน เด็ดขาด  หรือควรมีการคัดเลือก หรือกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาบวชหรือเป็นพระ ขณะเดียวกันก็ควรดูแลพระสงฆ์บางรูปที่มีอายุพรรษามาก เจ็บป่วยหรือชราด้วย.



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.