"เหวง"ชี้จุดบอดนิรโทษฉบับปชช.
 


"เหวง"ชี้จุดบอดนิรโทษฉบับปชช.



วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8268 ข่าวสดรายวัน


"เหวง"ชี้จุดบอดนิรโทษฉบับปชช.


รายงานพิเศษ



หมายเหตุ : นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เผยแพร่เอกสาร ข้อคิดเห็นต่อ "ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของญาติวีรชน 53" หรือร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน



1. ญาติวีรชน 53 มีสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการเสนอ "ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของกลุ่มตน"



2. สำหรับผมเอง "ท่าทีต่อวีรชน" ยังคงเช่นเดิม และยังคงเป็นเช่นนี้ตลอดไปจนสิ้นลมหายใจ คือ "ท่านเป็นวีรชนผู้พลีชีพต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมของประเทศนี้"



3. ความเห็นต่อไปนี้เป็นความเห็นทางกฎหมาย ที่เสนอเพื่อ "ถามคำตอบ" จากนักกฎหมายที่ร่างให้กับ "กลุ่มญาติวีรชน 53"



ไม่ได้ตั้งคำถามและไม่มีความคิดเห็นที่เป็นลบต่อ "กลุ่มญาติวีรชน 53" เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้ผู้ร่าง "น่าจะเป็น" อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนบางท่าน



เนื้อหาที่สำคัญของร่างนี้อยู่ในมาตรา 4 เพราะมาตรา 3. ล้วนกล่าวถึงการนิรโทษต่อผู้ที่กระทำ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 48 พ.ร.บ.ความมั่นคง 51 (ดูในมาตรา3 (1))



พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงและในพื้นที่ประกาศดังกล่าว กำหนดนิรโทษเฉพาะ "ความผิดลหุโทษ ความผิดอันมีโทษปรับสถานเดียว ความผิดอันมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี" (ดูในมาตรา3(2))



ความผิดทั้งหมดนั้นถ้ารับโทษก็พ้นกำหนดโทษไปแล้ว แทบไม่ต้องมานิรโทษอะไรกันอีกต่อไป



ซึ่งแม้จะมีความสำคัญแต่เมื่อเทียบน้ำหนักกับมาตรา 4 แล้วถือว่าน้อยกว่าอย่างมากมาย



แม้ในมาตรา 3 (3) นิรโทษให้ผู้ที่ "ไม่ได้เข้าร่วม" แต่ "มีความเกี่ยวเนื่อง" ซึ่งเป็นการสร้างปมขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงในการตีความว่า "มีความเกี่ยวเนื่อง" มีความหมายว่าอย่างไร นิยามความเกี่ยวเนื่องอย่างไร



แม้จะบอกว่า นิรโทษให้การกระทำที่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แต่ก็มีปัญหาว่า อะไรคือ "ผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง" เช่น เพียงแค่นั่งดูทีวีถ่ายทอดอยู่กับบ้านเป็นความเกี่ยวเนื่องหรือไม่



คราวนี้ มาตรา 4 ก่อให้เกิดปัญหาและอันตรายอย่างใหญ่หลวงโดยเฉพาะ "คนเสื้อแดง และแกนนำของคนเสื้อแดง"



เพราะเจตนารมณ์ของคนร่างบ่งบอกอย่างชัดแจ้งว่า "การชุมนุม มุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ" เพราะหากเสื้อแดงไม่ได้มีการชุมนุมโดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ ในตัวกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องเขียนสิ่งนี้ไว้



และที่เขียนเช่นนี้ก็เพราะคนที่อยู่ในคุกซึ่งมีแต่เสื้อแดงเท่านั้น และหลายคนก็มีคำพิพากษาในความผิดเรื่องการประทุษร้ายคนอื่นโดยใช้อาวุธ เท่ากับ พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องการนิรโทษคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุก



ไม่เพียงแต่เท่านั้น เจตนารมณ์ของคนร่างพ.ร.บ.นี้ ยังระบุถึง "การกระทำอันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิง เผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน"



ผู้ร่างย่อมมีแบบจำลองอยู่ในห้วงคิดคำนึงแล้วว่า คนเสื้อแดง เป็นคนก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน, วางเพลิง, เผาทรัพย์, ปล้นทรัพย์, อันเป็นของเอกชนแล้ว



จึงตราความผิดนี้ไว้แล้วระบุว่าความผิดนี้นิรโทษไม่ได้ เพราะหากไม่คิดเช่นนี้แล้วกำหนดรายละเอียดเช่นนี้ลงมาได้อย่างไร โดยมุ่งหมายให้เขาเหล่านั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย



คนที่ติดคุกอยู่ในขณะนี้มีแต่เสื้อแดง และศาลก็พิพากษาตามความผิดที่ได้ระบุไว้คือ วางเพลิง เผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ก็คือต้องติดคุกต่อไปจนครบกำหนด



และยังหว่านแหไปรวมถึง "แกนนำ" ด้วย โดยให้รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นด้วย



ท่อนแรกเป็นท่อนที่พุ่งเป้ามาที่ "คนเสื้อแดงและแกนนำของพวกเขา" ในขณะนี้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำ "ล้วนเป็นพวกที่ศาลพิพากษาว่าวางเพลิง เผาทรัพย์ เผาศาลากลาง อันก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือกระทำผิดต่อทรัพย์ทั้งสิ้น"



ดังนั้นเป็นเรื่องตลกร้าย ที่"พ.ร.บ.นิรโทษ ไม่ต้องการให้นิรโทษต่อคนที่ติดคุก แต่ให้รับโทษต่อไปตามกฎหมาย"



แต่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกลับเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับปฏิบัติการ (นี่หมายถึงทหารในภาคสนามชัดเจน) ที่ไม่ได้ฝ่าฝืน คำสั่ง การบังคับบัญชา และ/หรือ ไม่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ



(ทหารทุกคนเขายืนยันว่าเขาปฏิบัติตามคำสั่ง คำบังคับบัญชาทั้งนั้น ไม่มีใครบอกดอกว่าเขาไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำบังคับบัญชา



ทหารทุกคนเขายืนยันว่าเขาไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ เพราะเสื้อแดงมีชายชุดดำที่ติดอาวุธ M16 M79 M67 และสารพัดอาวุธสงคราม เช่นนี้แล้วทหารทุกคนรอดหมด) ให้เป็นผู้พ้นการกระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง



นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) นายสุเทพ (เทือกสุบรรณ) และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็จะรอดด้วย



เพราะการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจากการสลายการชุมนุม ไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการ หรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ



รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง



หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ



(นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และทหารทุกนายระบุชัดว่าเสื้อแดงมีชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามสังหารทหาร จึงสมควรแก่เหตุที่จะใช้ทหาร 60,000 นาย)



และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย



(นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และนายทหารทุกคน มีกฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 คุ้มครองว่าไม่ต้องรับผิดทั้งทางกฎหมายแพ่งอาญาและวินัยทางการปกครอง)



(จึงจะ) ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย



โดยสรุปก็คือ เสื้อแดงที่อยู่คุก ที่ถูกพิพากษาว่าเผาศาลากลาง มีอาวุธสงครามในครอบครอง หรือใช้ในการที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องอยู่ในคุกไปจนครบกำหนด 33 ปี หรือ 22 ปี ตามคำพิพากษา



ที่กำลังถูกดำเนินคดีก่อการร้ายก็ต้องดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด



แต่นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และทหารทุกคนทั้งนายและพล ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.นิรโทษนี้ เพราะ "กระทำการโดยสมควรแก่เหตุไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย"



พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ ต้องการช่วยนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และทหารทั้งหลายที่มีส่วนร่วมในการสลายการชุมนุม และลงโทษคนเสื้อแดงและแกนนำใช่ไหม?



จึงเรียนมาเพื่อ "กลุ่มญาติวีรชน 53" ได้โปรดทบทวนพ.ร.บ.นิรโทษของท่านด้วย และต้องสำรวจด้วยว่า "ใครเป็นคนร่าง และด้วยจุดมุ่งหมายอะไร กันแน่"


หน้า 3




// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.