ชาวน่าน ร่วมงานบุญประเพณีเข้าพรรษา‘วัดบุญยืน’สาน‘ตักบาตรเทียน’หนึ่งเดียวในไทย
 


ชาวน่าน ร่วมงานบุญประเพณีเข้าพรรษา‘วัดบุญยืน’สาน‘ตักบาตรเทียน’หนึ่งเดียวในไทย


ชาวน่าน ร่วมงานบุญประเพณีเข้าพรรษา‘วัดบุญยืน’สาน‘ตักบาตรเทียน’หนึ่งเดียวในไทย
วันเข้าพรรษา ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาในช่วงหน้าฝนเป็นเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ไม่จาริกไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของเมืองไทยต่างจัดเทศกาลงานบุญประเพณี รับเทศกาลเข้าพรรษากันไปตามคติความเชื่อของท้องถิ่นตน ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่มีทั้งจัดใหญ่ จัดเล็ก ตามแต่กำลังศรัทธา

ซึ่งที่จังหวัดน่าน โดยวัดบุญยืน ร่วมกับ เทศบาลเวียงสา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ ได้จัดงานประเพณี “ตักบาตรเทียน” ซึ่งเป็นประเพณีช่วงวันเข้าพรรษาอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่สืบทอดมานาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นงานประเพณีที่มีการจัดขึ้นเพียงหนึ่งเดียวในโลกนางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่

ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีสำคัญที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนชาวอำเภอเวียงสา ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2344 หลังจากเจ้าฟ้าอัตถวรปัณโญทรงสร้างวัดบุญยืนได้ 1 ปี วัดบุญยืน เป็นสถานที่จัดงานประเพณีใส่บาตรเทียนในสมัยก่อน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2343 สร้างเสร็จเมื่อปี 2344 และเริ่มมีประเพณีใส่บาตรเทียนขึ้น เนื่องจากในยุคโบราณยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรทุกรูปในอำเภอเวียงสาจึงได้กำหนดเอา วันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ) หรือหลังวันเข้าพรรษา 1 วัน จัดพิธีสูมาคารวะ หรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้นำเทียนและดอกไม้มาถวายแด่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ซึ่งสอดคล้องกับพุทธบัญญัติที่ให้ญาติโยมได้ถวายเทียนให้กับพระภิกษุ สามเณร

เดิมทีประเพณีใส่บาตรเทียน เป็นประเพณีที่ทำเฉพาะวัดบุญยืน และต่อมาได้ขยายไปทั่วอำเภอเวียงสา สืบเนื่องจากวัดบุญยืนเป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภออยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต พระภิกษุสามเณรทุกรูปในอำเภอจึงได้มาทำพิธีสูมาคารวะ (ขอขมา) เจ้าคณะอำเภอและพระเถระที่มีอายุพรรษามากที่วัดนี้ จึงเกิดการสานต่อประเพณีใส่บาตรเทียนขึ้น ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
สำหรับปีนี้ประเพณี “ตักบาตรเทียน” จัดขึ้นในวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ที่วัดบุญยืน อำเภอเวียงสา จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 09.00 น. เป็นต้นไป โดยพระสงฆ์และสามเณรในอำเภอเวียงสา รวมไปถึงคณะศรัทธาสาธุชนจะเตรียมเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบ น้ำหอม ญาติโยมเตรียมกับข้าวใส่ปิ่นโตเพื่อเตรียมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์สามเณรที่ไปร่วมพิธี ฝ่ายพระสงฆ์และสามเณรจะนำผ้าอาบน้ำฝนหรือผ้าสบงไปปูไว้บนโต๊ะที่จัดไว้ต่อกันเป็นแถวยาว และตั้งบาตรบนผ้าอาบน้ำฝนเพื่อรองรับเทียนและดอกไม้ที่คณะสงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนใส่บาตรเทียน

กระทั่งในช่วงบ่ายก็จะเริ่มพิธีใส่บาตรเทียน โดยพระสงฆ์จะเดินเรียงแถวกันนำเทียนและดอกไม้วางลงในบาตร โดยใส่เทียน 2 เล่มเพื่อบูชาพระธรรมและพระวินัย พร้อมด้วยดอกไม้ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ หลังจากพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาร่วมพิธีใส่บาตรเสร็จก็จะเป็นตอนของคณะศรัทธาสาธุชนเดินใส่บาตรเทียนไปรอบโต๊ะที่ตั้งบาตรไว้ ในส่วนของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมกันทั้งหมดนั้น จะมีการทำพิธีเคารพ “สุมาแก้ว 5 โกฐาก” ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน พระสงฆ์ ทั้งพระอริยสงฆ์
และสมมติสงฆ์ในปัจจุบัน หรือรวมเรียกว่า

พระรัตนตรัย และที่เพิ่มมาคือพระกัมมัฏฐาน และส่วนที่ห้าคือพระอาจารย์ผู้สอนพระกัมมัฏฐาน เพราะบางที่ช่วงเข้าพรรษาจะมีการนิมนต์พระที่เชี่ยวชาญด้านพระกัมมัฏฐานภาวนามาประจำที่วัดเพื่อสอนกัมมัฏฐานให้พระสงฆ์ในวัด จากนั้นก็จะทำพิธีคารวะพระเถระผู้ใหญ่เป็นอันดับ พิธีนี้จะกระทำภายในอุโบสถ โดยหลักแล้วถือว่าเป็นพิธีสำหรับสงฆ์เท่านั้น แต่หากคณะศรัทธาญาติโยมต้องการขอขมาก็สามารถร่วมได้ หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทั้งหมดพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากวัดต่าง ๆ ในอำเภอเวียงสา จะห่อเทียนและดอกไม้ด้วยผ้าสบงที่เตรียมมานำกลับวัดของตนเอง โดยเทียนที่ได้อาจนำไปจุดอ่านหนังสือเรียนท่องบทสวดมนต์ จุดบูชาพระรัตนตรัย หรือเก็บไว้เป็นของมงคล

นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่เห็นได้ชัดของประเพณีใส่บาตรเทียน คือเพื่อให้ภิกษุสามเณรได้มีเทียนไว้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการจุดบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ ศึกษาพระธรรมวินัย และประกอบพิธีกรรมอื่น ๆ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือนัยแฝงการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยครูบาอาจารย์ และการแสดงความอ่อนน้อมของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ที่คารวะกันโดยยึดถือจำนวนพรรษาหรือปีที่บวชเป็นสำคัญมากกว่าสมณศักดิ์ หรือตำแหน่งในคณะสงฆ์ รวมทั้งการเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่พุทธบริษัท

ประเพณีใส่บาตรเทียน ถือเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งอยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสามาเป็นเวลาช้านาน ถึงแม้ปัจจุบันยุคสมัยจะเปลี่ยนไป มีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้านอำเภอเวียงสาก็มิได้ละทิ้งประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน กลับช่วยกันฟื้นฟูสืบทอดให้กับลูกหลาน จนเกิดการสานต่อประเพณีใส่บาตรเทียนขึ้น ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี มาจนถึงทุกวันนี้ โดยรวมปัจจุบันจัดขึ้นยาวนาน 200 กว่าปีแล้ว จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ให้อยู่คู่กับชาวอำเภอเวียงสาต่อไป.

ระพีพร เพ็ชรเจริญ



// //

Copyright (c) 2010 munjeed.com All rights reserved.